บทความสุขภาพ

Knowledge

เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) รู้ทันอาการปวดหัว แบบไหนเสี่ยงเป็นเนื้องอก

นพ. สิทธิ เพชรรัชตะชาติ

สมอง อวัยวะสำคัญที่ควบคุมทุกการทำงานของระบบภายในร่างกาย การเกิดเนื้องอกในสมอง แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตเสมอไป เนื้องอกในสมองมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นเนื้อร้ายและไม่ใช่เนื้อร้าย หากสังเกตว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการที่อาจเป็นความเสี่ยงที่จะมีเนื้องอกในสมอง ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม


Key Takeaways


  • เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) คือภาวะที่ก้อนเนื้อในสมองเจริญเติบโตผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง
  • เนื้องอกที่พบในสมองไม่ได้เป็นมะเร็งเสมอไป
  • อาการเสี่ยงของโรคเนื้องอกในสมอง ได้แก่ ปวดหัวเรื้อรัง อาเจียน ตาพร่ามัว หรือแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
  • การรักษาโรคเนื้องอกสมองมีได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การฉายแสง และการรับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของเนื้องอก
  • เนื้องอกในสมองหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ

เนื้องอกในสมองคืออะไร?


เนื้องอกในสมอง-1024x1024.webp

เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) คือ ภาวะที่ก้อนเนื้อในสมองเจริญเติบโตผิดปกติ จนทำให้เนื้อเยื่อที่โตไปเบียดเนื้อสมองและเส้นประสาท ส่งผลให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น ปวดหัวแบบไม่มีสาเหตุ ตาพร่ามัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น


โดยส่วนใหญ่เนื้องอกในสมองมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นมะเร็งสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เสมอไป เพราะเนื้องอกในสมองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่


เนื้องอกในสมองที่เกิดจากเซลล์ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย


เนื้องอกภายในสมองที่เกิดจากเซลล์ในระบบประสาทแบ่งตัวผิดปกติที่ไม่ใช่เนื้อร้าย(Benign tumor) เป็นเนื้องอกที่เติบโตช้า ไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น และมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษา แต่การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อส่วนนี้หากปล่อยไว้อาจกดทับเนื้อสมองโดยรอบและก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายได้ ซึ่งเนื้องอกประเภทนี้สามารถเกิดได้หลายตำแหน่งในสมอง ได้แก่ เยื่อหุ้มสมอง เส้นประสาทสมอง หรือต่อมใต้สมอง เป็นต้น


เนื้องอกในสมองที่เกิดจากเซลล์มะเร็ง


เนื้องอกภายในสมองที่เกิดจากเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกชนิดร้ายแรง (Malignant tumor) เป็นเนื้องอกที่เติบโตเร็ว ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อสมองส่วนอื่น และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหลังการรักษา โดยมะเร็งสมองอาจเริ่มต้นในสมองเอง (Primary brain tumor) หรือแพร่กระจายมาจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น (Metastatic brain tumor) ได้เช่นกัน


ซึ่งเนื้องอกภายในสมองที่เกิดจากเซลล์มะเร็งหากตรวจพบช้าจะรักษาหายได้ยาก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


ระดับความรุนแรงของเนื้องอกในสมอง


นอกจากประเภทของเนื้องอกในสมองแล้ว ยังสามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้อีกด้วย โดยพิจารณาจากลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก และโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษา (WHO Classification of CNS Tumors) ซึ่งแต่ละระดับมีความแตกต่างกันดังนี้


  • ระดับที่ 1 : เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง โดยเซลล์เนื้องอกมีการเจริญเติบโตช้า ไม่แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อสมองส่วนอื่น สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นซ้ำ
  • ระดับที่ 2 : เป็นเนื้องอกชนิดก้ำกึ่งระหว่างไม่ร้ายแรงและร้ายแรง มีการเจริญเติบโตช้ากว่าระดับ 3 และ 4 แต่ก็มีโอกาสแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อสมองส่วนอื่นได้ การรักษาสามารถทำได้แต่ไม่หายขาด และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ระดับที่ 3 : เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง เซลล์เนื้องอกมีการเจริญเติบโตเร็วและแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อสมองส่วนอื่นได้ การรักษามุ่งเน้นไปที่การควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้องอกและบรรเทาอาการ ช่วยยืดอายุของผู้ที่เป็นโรคเนื้องอกในสมองได้อีกหลายปี
  • ระดับที่ 4 : เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงมาก เซลล์เนื้องอกมีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษายากและมีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

เนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร?


causes-of-brain-tumor.webp

ในตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร แต่ในทางการแพทย์พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกได้ ดังนี้


  • อายุ : มะเร็งสมองพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบในผู้สูงวัยมากกว่า โดยเฉพาะอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม : ความผิดปกติทางพันธุกรรมส่งผลต่อการเกิดเนื้องอก
  • การได้รับรังสี : การได้รับรังสีบริเวณศีรษะโดยตรง อาจเพิ่มความเสี่ยงในอนาคต
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง : ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วย HIV/AIDS หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้น
  • การสัมผัสสารเคมี : การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม อาจเพิ่มความเสี่ยง (ยังไม่ยืนยันและต้องการการศึกษาเพิ่มเติม)
  • ประวัติครอบครัว : หากมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งสมอง อาจเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย

อาการที่มักพบในกลุ่มผู้เสี่ยงเป็นโรคเนื้องอกในสมอง


กลุ่มผู้เสี่ยงเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ความผิดปกติที่พบได้บ่อย มีดังนี้


  • มีอาการปวดหัวเรื้อรังรักษาไม่หาย ไม่ทราบสาเหตุ และปวดหัวติดตามกันยาวนานหลายเดือน โดยไม่มีช่วงที่หายปวดสนิท
  • ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน คลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว
  • แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก พูดไม่ชัด หรือกลืนลำบาก
  • บุคลิกเปลี่ยน อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย พูดไม่เป็นคำหรือพูดฟังเข้าใจยาก
  • มีอาการซึม ไม่สดใสโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการชักเกร็ง หรือเป็นเหน็บชาครึ่งซีกร่างกายหรือใบหน้าเป็นๆหายๆ

กลุ่มอาการดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคเนื้องอก ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจและได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ควรเข้ารับการวินิจฉัยโรคโดยประสาทแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด และพิจารณาตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กเพื่อหาสาเหตุของอาการอย่างละเอียด ในกรณีที่พบว่ามีก้อนเนื้อในสมอง อาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อไปวิเคราะห์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น


แนวทางการรักษาของโรคเนื้องอกในสมอง


brain-tumor-treatment.webp

แนวทางการรักษาของโรคเนื้องอกในสมองมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ ประเภทของเนื้องอก และระดับความรุนแรงของโรคในขณะนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วแนวทางการรักษาของโรคเนื้องอก มี 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้


1. ผ่าตัด


การผ่าตัดเหมาะสำหรับการรักษาเนื้องอกสมองที่อยู่ในจุดที่สามารถผ่าตัดได้ง่าย และไม่เสี่ยงจะเกิดอันตรายกับเนื้อสมองส่วนสำคัญและเส้นประสาท โดยการผ่าตัดเนื้องอกในสมองจะมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้


  • การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออกทั้งหมด
  • การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกให้ได้มากที่สุด (แต่อาจจะไม่ทั้งหมด)
  • การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกบางส่วนมาตรวจสอบ

2. ฉายแสง


การฉายแสงเป็นวิธีการรักษาเนื้องอกที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องฉายรังสีเข้ามาช่วยกำจัดเซลล์เนื้องอกที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยวิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของเซลล์สมองในบริเวณรอบเนื้องอกจากการกดเบียด รวมไปถึงยังสามารถกำหนดความเข้มข้นของพลังงานเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น


3. ใช้ยาต้านเนื้องอก


ยาต้านหรือเคมีบำบัด เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาเนื้องอกในกรณีที่หลังผ่าตัดหรือฉายแสงแล้วไม่สามารถกำจัดเนื้องอกภายในสมองได้หมด โดยแพทย์มักจะพิจารณาให้ใช้ยาต้านเนื้องอกร่วมกับการผ่าตัดหรือฉายแสงเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากโรคเนื้องอกในสมอง


โรคเนื้องอกในสมอง-1024x1024.webp

นอกจากอาการทั่วไปที่พบได้ในผู้มีเนื้องอกสมองแล้ว ยังมีอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้


  • ประสาทการรับรู้เสื่อมถอย พูดไม่ชัด ได้รับกลิ่นน้อยลง หูไม่ค่อยได้ยิน และตามองไม่ค่อยเห็น
  • แขนขาอ่อนแรงจนเกิดอาการอัมพาตครึ่งซีก
  • สูญเสียความทรงจำ เริ่มจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ได้
  • การปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายและการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระเพาะปัสสาวะหรือปอดอักเสบร่วมด้วย

เนื้องอกในสมอง รู้ตัวเร็วรักษาหายได้ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า


เนื้องอกในสมองเป็นโรคที่มีความอันตราย แม้ว่าจะไม่ใช่มะเร็งเสมอไป แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตในระยะยาวได้ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และการรีบปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการที่ต้องสงสัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ได้รับการรักษาโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยลดความพิการและภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้


หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเนื้องอกในสมอง แนะนำเข้ารับการวินิจฉัยโรคได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งมีทีมประสาทแพทย์และประสาทศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเนื้องอกในสมอง อีกทั้งมีความพร้อมของเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย ทั้งการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) รวมไปถึงเครื่องมือในการผ่าตัดที่ทันสมัย ทำให้การรักษาโรคเนื้องอกในสมองเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากและปลอดภัย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเนื้องอกในสมอง


1. อาการใดบ้างที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน?


หากพบว่ามีอาการปวดศีรษะรุนแรงจนทนไม่ไหวหรือปวดเรื้องรังเป็นระยะเวลานานไม่หาย แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง พูดไม่ชัดปากเริ่มเบี้ยว แนะนำให้เข้าพบแพทย์โดยด่วนเพื่อได้รับวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาโรคที่ถูกต้องต่อไป


2. เนื้องอกในสมองรักษาหายไหม?


การรักษาเนื้องอกในสมองจะหายขาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประเภทของเนื้องอก ความรุนแรงของอาการในขณะนั้น ตำแหน่ง ขนาด และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไปนั้นหากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดออกได้หมดนั้นมีโอกาสหายขาดสูง และมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่หากเป็นเนื้องอกชนิดรุนแรงหรือมะเร็ง แม้ว่าจะผ่าตัดนำเนื้องอกออกแล้วก็ตามอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้มีอายุยืนยาวต่อไปได้


References


Brain tumours. (2023, June 12). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/brain-tumours/


Brain Tumors and Brain Cancer. (n.d.). Johns Hopkins Medicine. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/brain-tumor


Brain tumour symptoms. (2023, January 19). Cancer Research UK. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/brain-tumours/symptoms

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. สิทธิ เพชรรัชตะชาติ

นพ. สิทธิ เพชรรัชตะชาติ

ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital