บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคไหลตาย ไม่มีสัญญาณเตือน ภัยเงียบที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

นพ. วิสุทธิ์ เกตุแก้ว

โรค “ไหลตาย” ทางภาคอีสานในอดีตเคยเชื่อว่า “ผีแม่หม้ายมาเอาตัวไป” เนื่องจากมักจะเกิดกับชายหนุ่มในช่วงอายุ 20-50 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่พอเข้านอนหลับไปแล้วตอนเช้าจะพบว่าเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ


ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากขึ้น และพบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากลักษณะดังกล่าว มักพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบที่เรียกว่า Brugada จึงเรียกกันว่า Brugada syndrome (บรูกาด้า ซินโดรม) พบได้บ่อยในชาวไทยที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบภาคอีสาน และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

โรคไหลตาย คืออะไร?


โรคไหลตาย (Sudden Unexplained Nocturnal Death syndrome; SUNDS) คือ กลุ่มอาการที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือโครงสร้างหัวใจผิดปกติ


ภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคไหลตาย คือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Brugada Syndrome (บรูกาดา ซินโดรม) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ (channelopathy) ส่งผลให้ระบบนำไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้คนไข้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ มักเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับและเสียชีวิตในที่สุด


โรคไหลตายพบเยอะแค่ไหนในเมืองไทย


อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตระหนกตกใจจนเกินไปว่าตนเองจะเป็นโรคนี้ หรือเกิดการไหลตายเหมือนในข่าว คนที่เป็นโรคนี้จริงๆ พบได้ประมาณ 0.004% เท่านั้น และจากสถิติในประเทศไทย พบผู้ป่วย Brugada Syndrome ประมาณ 40 คน จากจำนวนประชากร 100,000 คน ส่วนใหญ่พบในคนภาคอีสาน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเป็นผู้ชายอายุน้อยช่วงอายุ 20 – 50 ปี ดังที่กล่าวไปข้างต้น


ปัจจัยสำคัญของโรคไหลตาย


ปัจจัยสำคัญที่มักจะพบในผู้ป่วยโรคนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ


  1. มีประวัติบุคคลในครอบครัวที่อายุน้อยเสียชีวิตเฉียบพลัน
  2. เคยมีอาการหน้ามืด หรือหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุมาก่อน

อาการที่อาจพบได้ของโรคไหลตาย


แม้ว่าเรามักได้ยินข่าวว่าคนที่เป็นโรคไหลตาย เสียชีวิตไปขณะนอนหลับโดยที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆมาก่อน แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการบางอย่างมาก่อน แล้วมาพบแพทย์ และแพทย์ได้หาตรวจวินิจฉัยจนพบว่าเป็นโรคไหลตาย อาการดังกล่าวที่อาจพบได้ ได้แก่


  • ใจสั่น
  • หมดสติไปชั่วขณะ
  • วูบ เป็นลม
  • เวียนศีรษะ
  • ชัก
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • เคยตรวจพบว่ามีหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
  • กรณีที่อาการกำเริบระหว่างนอนหลับอาจมีเสียงหายใจครืดคราดคล้ายละเมอ

ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าว


การวินิจฉัยโรคไหลตาย


การวินิจฉัยโรคไหลตาย เบื้องต้นทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าเข้าได้กับลักษณะของ Brugada syndrome หรือไม่ อาจพิจารณาร่วมกับการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจว่าปกติหรือไม่ หรือแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจโดยการใส่สายเข้าไปตรวจภายในหัวใจ (EP study) ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะ Brugada syndrome หรือตรวจทางพันธุกรรม (genetic testing) เพื่อดูการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรม


เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นหากท่านมีคนในครอบครัวมีประวัติเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น นอนหลับแล้วเสียชีวิต วูบหมดสติเสียชีวิต ตั้งแต่อายุน้อย ๆ แนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคนี้


ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้เป็นโรคไหลตาย


ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไหลตายต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่


  • มีไข้สูง
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ
  • ยาบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะไหลตาย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องได้รับยาบางชนิดเช่น ยานอนหลับ หรือยาที่มีผลต่อแร่ธาตุในร่างกาย

การรักษาโรคไหลตาย


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่แพทย์จะให้การรักษาโดยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การฝังเครื่องกระตุกหัวใจหรือเครื่องซ๊อตไฟฟ้าหัวใจ (AICD), การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ, การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (RFA) ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในคนไข้แต่ละราย


สรุป


โรคไหลตายเป็นโรคที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการไหลตายคือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Brugada syndrome ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติในห้องหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบว่าคนที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตไปขณะหลับ โดยที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใด ๆ เตือนมาก่อน โรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น หากท่านใดมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว หรือมีอาการสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจเพิ่มเติมเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. วิสุทธิ์ เกตุแก้ว

นพ. วิสุทธิ์ เกตุแก้ว

สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital