บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคหัวใจในเด็กรับมือได้ไม่ยาก หากสังเกตอาการไวรักษาได้ทัน

นพ. วิโรจน์ โตควณิชย์

อาจดูไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวได้ การสังเกตอาการและเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นกุญแจสำคัญในการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างแข็งแรง บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคหัวใจในเด็กให้มากขึ้น รวมถึงแนวทางการรับมือและรักษาที่ถูกต้องด้วย


Key Takeaways


  • โรคหัวใจในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติแต่กำเนิดและปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ หรือกรรมพันธ์ุจากคนในครอบครัว
  • อาการของโรคหัวใจในเด็กมีหลายรูปแบบ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ตัวเล็กผิดปกติ หัวใจเต้นแรง หรือมีอาการเขียวที่ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้า
  • การวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และอัลตราซาวด์หัวใจ
  • แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ตั้งแต่การใช้ยา การสวนหัวใจ การทำหัตถการเฉพาะทาง หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ

โรคหัวใจในเด็กชนิดไหนที่มักพบได้บ่อย


โรคหัวใจในเด็กสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามช่วงเวลาที่ความผิดปกติเริ่มเกิดขึ้น ดังนี้


โรคหัวใจพิการโดยกำเนิด


โรคหัวใจพิการโดยกำเนิดเป็นภาวะที่หัวใจหรือหลอดเลือดมีความผิดปกติตั้งแต่ก่อนคลอด บางรายตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางรายอาจสังเกตเห็นภายหลังคลอดหรือเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความผิดปกติของโครโมโซม การติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ สารพิษจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตัวอย่างโรคที่พบบ่อย ได้แก่


  • ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ทั้งบริเวณผนังห้องบน (ASD) และผนังห้องล่าง (VSD)
  • ความผิดปกติของเส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่กับเส้นเลือดปอด (PDA)
  • ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่ว เช่น PS, AS, TR, MR เป็นต้น
  • โรคหัวใจพิการโดยกำเนิดชนิดเขียว เช่น Tetralogy of Fallot (TOF)

โรคหัวใจพิการโดยกำเนิด บางกรณีอาการอาจไม่รุนแรงและสามารถติดตามอาการโดยไม่ต้องรักษาทันที แต่ในบางรายอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต หรือเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด


โรคหัวใจที่เกิดภายหลัง


โรคหัวใจประเภทนี้เกิดขึ้นหลังจากเด็กคลอดออกมา โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่


  • โรคคาวาซากิ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางทั่วร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้
  • โรคไข้รูมาติก เกิดหลังการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณคอ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ และอาจนำไปสู่ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบในระยะยาว
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดจากไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโควิด กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (entero virus) อาการอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว จนถึงขนาดเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจวายได้
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เด็กที่มีภาวะนี้อาจรู้สึกใจสั่น เหนื่อยง่าย หรือมีอาการอ่อนเพลีย เป็นลม แม้ไม่ได้ออกแรงมาก ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจในเด็ก


โรคหัวใจในเด็ก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งล้วนส่งผลต่อพัฒนาการของหัวใจทารกตั้งแต่ในครรภ์ มาดูสาเหตุสำคัญที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจในเด็กได้มากขึ้น


  • ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ : หากคุณแม่ติดเชื้อไวรัสบางชนิด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน (Rubella) อาจรบกวนการสร้างและพัฒนาหัวใจทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากขณะตั้งครรภ์ : การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ กลุ่มอาการทารกได้รับแอลกอฮอล์ในครรภ์ (Fetal Alcohol Syndrome) ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหัวใจ สมอง และพัฒนาการโดยรวมของทารก
  • การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ : ยาบางประเภทอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาของหัวใจ เช่น ยาทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ที่เคยใช้รักษาอาการแพ้ท้องในอดีต แต่ถูกยกเลิกการใช้งานแล้ว เนื่องจากพบว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ในทารก
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมและโครโมโซม : หากครอบครัวมีประวัติเด็กเคยเป็นโรคหัวใจโดยกำเนิด หรือมีภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากขึ้น
  • อายุของแม่ขณะตั้งครรภ์ : จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุน้อยกว่า 24 ปี หรือมากกว่า 35 ปี อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการให้กำเนิดทารกที่มีความผิดปกติของหัวใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 24 ปี ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่กำเนิดที่รุนแรงอาจสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่น

อาการและสัญญาณของโรคหัวใจในเด็ก


หัวใจเด็กเต้นเร็ว

โรคหัวใจในเด็กอาจแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือพัฒนาเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันไปตามชนิดและความรุนแรงของโรค หากคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้ได้ตั้งแต่ระยะแรก ก็จะช่วยให้เด็กได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่


  • เหนื่อยง่ายขณะดูดนม : เด็กทารกที่มีโรคหัวใจมักดูดนมใช้เวลานานกว่าปกติ หรือหยุดพักบ่อยขณะกินนม เพราะหัวใจทำงานหนัก
  • หายใจเร็วกว่าปกติ : ภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วทำให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ มีน้ำท่วมปอด เด็กจึงมีอัตราการหายใจเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ในขณะพัก
  • น้ำหนักขึ้นช้า โตไม่ทันวัย : เพราะร่างกายใช้พลังงานมากไปกับการทำงานของหัวใจ จึงเหลือพลังงานไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต เด็กจึงอาจน้ำหนักตัวเพิ่มช้าหรือโตช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ย
  • เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ซีด : เด็กบางรายอาจมีเหงื่อออกมากแม้ไม่ได้อยู่ในสภาพอากาศร้อน ร่วมกับตัวเย็นและซีด ซึ่งเป็นสัญญาณของการไหลเวียนเลือดที่ไม่สมบูรณ์และระบบเผาผลาญที่ทำงานหนักกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นแรงหรือเร็วผิดปกติ : คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการสัมผัสหน้าอกหรือจับชีพจรของลูก หากรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงหรือเร็วผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • ริมฝีปาก นิ้วมือ นิ้วเท้าเขียว : อาการเขียวบริเวณปลายมือ ปลายเท้า หรือริมฝีปาก มักเกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจากภาวะเลือดไปปอดน้อยและมีการไหลลัดวงจรของเลือดจากขวาไปซ้าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญของโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดเขียว

การใส่ใจในสัญญาณเล็กๆ เหล่านี้ อาจช่วยให้ลูกได้รับโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงที และเติบโตได้อย่างแข็งแรงในระยะยาว หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบนำบุตรหลานไปปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์โรคหัวใจเด็กโดยเร็ว


วิธีตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก


เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น ลูกหายใจเร็ว เหนื่อยง่าย หรือลูกหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ การพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเด็กเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง


แพทย์จะประเมินทั้งโครงสร้างและการทำงานของหัวใจอย่างละเอียด โดยใช้หลากหลายวิธี ดังนี้


  1. ซักประวัติ : แพทย์จะสอบถามอาการของเด็กที่มี เช่น หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ตัวเขียว หรือหมดสติ ซึ่งอาจรวมถึงการสอบถามพัฒนาการและประวัติสุขภาพของครอบครัว โดยเฉพาะโรคหัวใจแต่กำเนิดเพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการตรวจเพิ่มเติมในขั้นตอนต่อไป
  2. ตรวจร่างกายและฟังเสียงหัวใจ : แพทย์จะใช้หูฟังเสียงหัวใจ (Stethoscope) ตรวจดูเสียงหัวใจว่าเต้นปกติหรือไม่ หากมีเสียงฟู่ (Heart murmur) หรือจังหวะเต้นผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติภายในหัวใจ
  3. วัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) : การวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้าทั้งสองข้าง เป็นวิธีที่ใช้คัดกรองเบื้องต้น หากค่าที่ได้ต่ำกว่าปกติ อาจบ่งชี้ว่าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด
  4. เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) : ช่วยประเมินขนาดและรูปร่างของหัวใจรวมถึงลักษณะของเส้นเลือดในปอด หากหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติ หลอดเลือดในปอดมีขนาดหรือการเรียงตัวที่ผิดปกติ หรือการมีน้ำคั่งในปอดก็อาจบ่งชี้ถึงภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งที่อายุน้อยได้
  5. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - ECG/EKG) : เป็นการตรวจจังหวะและการทำงานของหัวใจผ่านสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งสามารถระบุความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจรวมถึงปัญหาที่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ
  6. อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) : เป็นเครื่องมือหลักในการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็ก โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวของหัวใจแบบเรียลไทม์ ช่วยให้เห็นถึงโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ

การตรวจเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในการช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาได้ตรงจุด ยิ่งตรวจพบเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสช่วยให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว


การรักษาโรคหัวใจในเด็กทำได้อย่างไรบ้าง?


โรคหัวใจเด็ก

โรคหัวใจในเด็กมีหลายระดับความรุนแรง และแนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อาการของเด็ก และความเหมาะสมในแต่ละราย โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดีที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจประกอบด้วยทางเลือกดังต่อไปนี้


1. รักษาโดยการใช้ยา : ในบางกรณีที่เด็กมีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อควบคุมอาการและช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น เช่น


  • ยาขับปัสสาวะ : เพื่อช่วยลดปริมาณของเหลวในร่างกายและลดภาระการทำงานของหัวใจ
  • ยาลดความดันโลหิต : ช่วยให้การสูบฉีดของหัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ : สำหรับเด็กที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ยารักษาภาวะอื่นที่มีผลต่อหัวใจ : เช่น ยาธาตุเหล็กในเด็กที่มีภาวะโลหิตจาง หรือยาปรับระดับฮอร์โมนในผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจนส่งผลต่อหัวใจ

2. การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) : เป็นการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กใส่เข้าไปผ่านหลอดเลือด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของหัวใจ เช่น


  • การขยายลิ้นหัวใจที่ตีบด้วยบอลลูน (Balloon Valvuloplasty)
  • การปิดรูรั่วของผนังหัวใจด้วยอุปกรณ์เฉพาะ

3. การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (Ablation Therapy) : ในกรณีที่เด็กมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรง แพทย์อาจใช้เทคนิคนี้ทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่ผิดปกติ เพื่อลดอาการและปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ


4. การผ่าตัด : หากโรคหัวใจในเด็กมีความรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ ก็อาจต้องใช้การผ่าตัดหัวใจในรูปแบบต่างๆ เช่น การผ่าตัดปิดรูรั่วของหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจ และผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างหัวใจผิดปกติในกรณีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด


5. ติดตามและเฝ้าระวัง : สำหรับเด็กที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจยังไม่เริ่มการรักษาในทันที แต่จะนัดติดตามอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำแนะนำผู้ปกครองในการสังเกตอาการ หากพบความเปลี่ยนแปลง แพทย์จะพิจารณาเริ่มการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม


การรักษาโรคหัวใจในเด็กไม่ได้มีวิธีเดียวที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ต้องอาศัยการวินิจฉัยที่แม่นยำ ร่วมกับการวางแผนการดูแลแบบเฉพาะราย โดยมีเป้าหมายคือให้เด็กสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปมากที่สุด


โรคหัวใจในเด็ก สัญญาณภัยที่ต้องคอยหมั่นสังเกต


โรคหัวใจในเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพในระยะยาวหรืออาจอันตรายถึงชีวิตได้ การเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ตัวเล็กผิดปกติ หรือตัวเขียว จะช่วยให้การวินิจฉัยทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ


เพื่อที่จะทำให้ลูกได้รับการรักษาที่เหมาะสมและช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรงพยาบาลพระราม 9 ก็จะมีสถาบันหัวใจและหลอดเลือด ทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคหัวใจในเด็กอย่างครบวงจร เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อยและอนาคตที่สดใสห่างไกลโรคหัวใจ


หากมีคำถามหรือข้อสงสัยก็สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านล่างนี้



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก


โรคหัวใจในเด็กเป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและแนวทางการดูแลจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพของเด็กได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคำถามที่พบบ่อยพร้อมคำตอบก็จะมี ดังนี้


1. ควรดูแลลูกที่เป็นโรคหัวใจในเด็กอย่างไร?


วิธีการดูแลเด็กที่มีภาวะโรคหัวใจก็จะขึ้นอยู่กับชนิดเเละความรุนแรงของโรคแต่โดยทั่วไปก็ควรดูแลให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ควบคุมการออกกำลังกายให้เหมาะสม และเข้ารับการตรวจติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาการเขียว ก็ควรรีบพบแพทย์ทันที


References


Congenital Heart Disease. (2024, February 26). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21674-congenital-heart-disease


Congenital heart disease. (2021, September 7). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/congenital-heart-disease/


Story, C. M. (2023, June 20). Types of heart disease in children and teens. Healthline. https://www.healthline.com/health/heart-disease/in-children

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. วิโรจน์ โตควณิชย์

นพ. วิโรจน์ โตควณิชย์

สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital