บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคความดันสูงในคนอายุน้อย…โรคที่อาจซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว!

นพ. เจษฎา ลักขณาวงศ์

หลายคนอาจคิดว่าโรคความดันสูงเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี แต่โรคความดันสูงก็สามารถพบได้ในคนอายุที่น้อยกว่า 60 ปีเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต) ในคนอายุน้อย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไต เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ค่าความดันอาจสูงขึ้นได้หลังการออกกำลังกาย อยู่ในภาวะตื่นเต้น กังวล หรือมีค่าสูงเมื่อมาโรงพยาบาล


การที่จะวินิจฉัยว่า “เป็นโรคความดันสูงในอายุน้อย” จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างระมัดระวังและถูกต้อง เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม


ค่าความดันในคนปกติ


ค่าความดันคือเเรงดันของเลือดที่สูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยค่าความดันจะวัดออกมาได้เป็นตัวเลข 2 ตัว เช่น 120/80, 140/90 โดยเราสามารถวัดความดันได้จากเครื่องวัดความดัน ซึ่งค่าที่วัดได้คือ


  1. ค่าความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure) หรือ ค่าความดันเลือดที่วัดได้ขณะหัวใจบีบตัวเต็มที่เพื่อสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ โดยมีค่าปกติอยู่ในช่วงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 120-129 มิลลิเมตรปรอท
  2. ค่าความดันเลือดตัวล่าง (diastolic blood pressure) หรือ ค่าความดันเลือดที่วัดได้ขณะหัวใจคลายตัว โดยมีค่าปกติอยู่ในช่วงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 มิลลิเมตรปรอท

การวัดความดันเลือดที่ดีต้องวัดขณะนั่งพัก 5 นาทีขึ้นไปเเละวัดในที่มีความสงบไม่มีอะไรรบกวนจิตใจเช่น ที่บ้าน เพราะมักพบการวัดค่าความดันได้มากกว่าปกติ เมื่อวัดขณะมาพบเเพทย์ที่โรงพยาบาลเรียกว่ากลุ่มอาการ “white coat hypertension


หากวัดค่าความดันเลือดตัวบน (systole) มากกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอทหรือค่าความดันเลือดตัวล่าง (diastole) มากกว่าหรือเท่ากับ 80 มิลลิเมตรปรอท จัดว่าเป็นผู้มีภาวะความดันสูง (hypertension)


โรคความดันสูงในคนอายุน้อยหมายถึงอะไร?


โรคความดันสูงในคนอายุน้อย (hypertension in the young) คือภาวะที่มีความดันเลือดสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทในคนที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่งผลเสียต่อร่างกาย และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย เป็นต้น


โดยอาจแบ่งประเภทของภาวะความดันสูงออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่


  • ภาวะความดันสูงแบบปฐมภูมิ (primary or essential hypertension) เป็นภาวะความดันสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะความดันสูงชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ภาวะความดันสูงแบบทุติยภูมิ (secondary hypertension) เป็นภาวะความดันสูงที่เป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ

ความดันสูงในคนอายุน้อยเกิดจากอะไร?


ผู้ป่วยโรคความดันสูงในคนอายุน้อยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น


  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือมีน้ำตาลและไขมันสูง
  • การดำเนินชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง
  • ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ความเครียด
  • การดื่มแอลกอฮอล์

และมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง มีสาเหตุจากการรับประทานยา และโรคอื่น ๆ เช่น


  • ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
  • ยากลุ่มสเตรียรอยด์ เช่น ยาแก้หวัด (psuedoephredine) หรือยาคุมกำเนิด

ความดันสูงในคนอายุน้อยที่เกิดจากจากโรคอื่น ๆ โดยมักพบในผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ดังนั้นหากผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 มีค่าความดันเลือดสูงกว่าค่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีโรคที่ซ่อนอยู่ที่เป็นสาเหตุของความดันสูง ซึ่งโรคเหล่านั้น ได้แก่


  • โรคไต หรือโรคหลอดเลือดแดงไตตีบ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (coarctation of aorta)
  • โรคหลอดเลือดแดงอักเสบ (Takayasu arteritis)
  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือไทรอยด์ต่ำ
  • โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (obstructive sleep apnea)
  • โรคกลุ่มฮอร์โมน เช่น โรคเนื้องอกในต่อมหมวกไต โรคเนื้องอกในต่อมใต้สมอง ที่ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ ภาวะฮอร์โมนสเตียรอยด์เกิน (Cushing’s syndrome)

ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันสูงในคนอายุน้อย


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พบความดันในคนอายุน้อย ได้แก่


  • การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มเเละมีโซเดียมในปริมาณสูง
  • ภาวะน้ำหนักตัวมากผิดปกติหรือโรคอ้วน
  • การดื่มเหล้า สูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติด
  • การทานผักผลไม้น้อยเเละทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
  • การไม่ออกกำลังกาย
  • มีภาวะเครียดเรื้อรัง
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันสูง

อาการของโรคความดันสูง


ผู้ป่วยโรคความดันสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคความดัน ทำให้เข้ารับการรักษาช้าจนมีภาวะแทรกซ้อนตามมา แต่ในรายที่มีค่าความดันสูงมาก ๆ คือสูงกว่า 180/120 มิลลิเมตรปรอท อาจพบอาการต่าง ๆ ได้ เช่น


  • ปวดหัวรุนเเรง
  • เจ็บเเน่นหน้าอก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตาพร่าหรือมีอาการมองเห็นที่ผิดปกติไปจากเดิม
  • มีภาวะวิตกกังวลหรือสับสน
  • หูอื้อ
  • เลือดกำเดาไหล
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

การวินิจฉัยโรคความดันสูงในคนอายุน้อย


การวินิจฉัยโรคความดันในคนอายุน้อยทำได้เบื้องต้น ได้แก่


  • การวินิจฉัยโรคความดันสูงจะต้องเป็นการวินิจฉัยจากการวัดความดันอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นโรคความดันสูง แพทย์จะใช้ตัวเลขของความดันที่วัดที่บ้านเป็นหลักในการวินิจฉัย โดยควรมีวิธีการวัดดังนี้
    • ควรวัดความดันเลือดในท่านั่ง โดยวัดหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 5 นาที เเละถ้าวัดซ้ำ ควรวัดห่างกันอย่างน้อย 1 นาที แล้วจดบันทึกค่าความดันและเวลาที่วัดทุกครั้ง
    • ควรวัดความดันเลือดเพื่อติดตามระดับความดันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยวัดในช่วงเช้าเเละเย็น ติดต่อกันอย่างน้อย 4-7 วัน หรือ 2 สัปดาห์ จากนั้นนำค่าความดันที่จดบันทึกไปให้เเพทย์วินิจฉัย เพื่อใช้ในการประกอบการรักษาเเละกำหนดเเนวทางการรักษา
  • การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของความดันสูง ได้แก่
    • การซักประวัติเเละการตรวจร่างกาย
    • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูระดับการทำงานของไต เเร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับฮอร์โมนไทรอยด์และคอร์ติซอล ระดับไขมันในเลือด ค่ากรดยูริค การตรวจปัสสาวะเพื่อดูระดับโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ
    • การตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ (electrocardiography; ECG หรือ EKG) ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram) การทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการเดินสายพาน (exercise stress test; EST) ตรวจการนอนหลับ (sleep test) ตรวจสมองด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan)
  • การตรวจอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์

โดยสามารถจำเเนกระดับความรุนเเรงของโรคความดันสูงได้ดังนี้


hypertension-in-young-people-1.png

การรักษาโรคความดันสูงในคนอายุน้อย


การรักษาจะเเยกตามระดับความรุนเเรงของโรค โดยเเพทย์อาจจะแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เเละการรับประทานอาหาร ในรายที่ยังมีความดันสูงไม่มาก แต่หากค่าความดันสูงจนการปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยยา ซึ่งการพิจารณาแผนการรักษาแพทย์จะพิจาณาถึง


  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของความดันสูง โดยหากรักษาโรคดังกล่าวหรือควบคุมให้ไม่รุนเเรง จะสามารถรักษาระดับความดันจะสามารถลดลงได้
  • รักษาโดยการปรับพฤติกรรม
  • การรักษาด้วยยา โดยแพทย์จะวางแผนการรักษาโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
    • ค่าความดันเลือดเฉลี่ยที่วัดได้
    • ระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวหัวใจเเละหลอดเลือด
    • โรคร่วมของผู้ป่วย เช่น โรคไต โรคเบาหวาน
    • ผลกระทบของภาวะความดันสูงที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

ยารักษาโรคความดันสูง

เเบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่


  1. ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) เช่น ยาอีนาลาพริล(enalapril)
  2. ยากลุ่ม angiotensin receptor blockers (ARBs) เช่น ยาลอซาร์แทน (losartan)
  3. ยากลุ่ม beta-blockers เช่น ยาเมโทโพรลอล (metoprolol) ยาโพรพราโนลอล(proprabolol)
  4. ยากลุ่ม calcium-channel blockers (CCBs) เช่น ยาแอมโลดิปีน (amlodipine)
  5. ยากลุ่มขับปัสสาวะ เช่น ยาไทอะไซด์ (thiazides) และยาขับปัสสาวะที่ใกล้เคียงกับ thiazides ได้แก่ ยาคลอธาลิโดน (chlorthalidone) และ ยาอินดาพาไมด์ (indapamide)

โดยเเพทย์จะพยายามควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติมากที่สุด คือ ความดันที่วัดได้ขณะหัวใจบีบตัวให้อยู่ในช่วงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอท เเละความดันที่วัดได้ขณะหัวใจคลายตัวให้อยู่ในช่วงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 มิลลิเมตรปรอท


การป้องกันโรคความดันสูงในคนอายุน้อย


เราสามารถป้องกันโรคความดันสูงได้ โดยการปฏิบัติดังนี้


  • การควบคุมหรือการลดน้ำหนักผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  • ปรับรูปเเบบของการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมโดยเน้นทานผักผลไม้ที่มีปริมาณไฟเบอร์ เกลือเเร่สูงเเละหวานน้อย ทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันเเละเนื้อปลา
  • จำกัดปริมาณเกลือเเละโซเดียมในอาหาร โดยไม่บริโภคโซเดียมเกินวันละ 2 กรัมต่อวัน หรือเทียมเท่าเกลือแกง 1 ช้อนช้า น้ำปลาหรือซีอิ้วขาว 3-4 ช้อนชา เเละผงชูรส 1 ช้อนชา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจปรึกษาเเพทย์เกี่ยวกับออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม
  • งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สรุป


โรคความดันสูงในคนอายุน้อยเป็นโรคที่พบได้มากขึ้น เนื่องมาจากวิถีชีวิตที่มีความเครียดเพิ่มขึ้น การทำงานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันเลือดสูง จึงทำให้ไม่ได้มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจจะนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้


การหมั่นดูแลสุขภาพ วัดความดันเลือดหากมีโอกาส สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคความดันสูงได้


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. เจษฎา ลักขณาวงศ์

นพ. เจษฎา ลักขณาวงศ์

สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital