บทความสุขภาพ

Knowledge

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

พญ. ปณิธิ โชลิตกุล

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นสัญญาณที่หลายคนอาจมองข้าม แต่หากเกิดบ่อยครั้งและรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของ “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก แล้วน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน กี่วันหาย บทความนี้มีคำตอบ


Key Takeaways


  • น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรง บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน และการได้ยินลดลง
  • แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของน้ำ Endolymph ที่อยู่ในหูส่วนใน ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย
  • การรักษาทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยา ปรับพฤติกรรม ไปจนถึงการผ่าตัดในรายที่มีอาการรุนแรง

น้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร?


โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ Meniere's Disease เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งมีเซลล์ประสาทที่ทําหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินอยู่ เมื่อของเหลวที่เรียกว่า Endolymph ที่อยู่ในหูส่วนในมีปริมาณมากเกินไปหรือการไหลเวียนผิดปกติ จะกระทบต่อการทำงานของทั้งสองส่วนนี้ ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ หรือแม้แต่การได้ยินลดลงชั่วคราว


โรคนี้เกิดขึ้นกับเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งมีโอกาสเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในอัตราส่วน 2:1 มักพบบ่อยในคนอายุตั้งแต่ 40-60 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นในหูข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะมีเพียง 15-20% เท่านั้น ที่เกิดความผิดปกติในหูทั้งสองข้าง


น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง


น้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากอะไร

แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร แเต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการผลิต การดูดซึม หรือการไหลเวียนของของเหลว Endolymph ในหูชั้นใน โดยปัจจัยต่าง ๆ มีดังนี้


  • ความผิดปกติของโครงสร้างหูชั้นในตั้งแต่กำเนิด
  • หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อไวรัสในหูชั้นใน ติดเชื้อซิฟิลิส อาจทำให้เกิดการอักเสบและส่งผลต่อระบบการทรงตัว
  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือหู อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของหูชั้นใน
  • โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นภูมิแพ้รุนแรง
  • โรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือโรคไทรอยด์ บางครั้งอาจมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและส่งผลกระทบต่อหูชั้นในได้
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ และการทานอาหารรสเค็มจัด ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการเป็นอย่างไร?


อาการของน้ำในหูไม่เท่ากัน มักจะเกิดเป็นช่วง ๆ และความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยหากน้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่


  • อาการเวียนศีรษะรุนแรง รู้สึกว่าบ้านหมุน โคลงเคลง หรือมีปัญหาทางด้านการทรงตัว บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
  • การได้ยินเสื่อม (Hearing Loss) ทำให้หูอื้อ ได้ยินเสียงลดลง หรือรู้สึกแน่นในหู โดยอาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป ในระยะยาวอาจเสี่ยงหูหนวกได้
  • มีเสียงดังในหู (Tinnitus) ได้ยินเสียงหวีด เสียงหึ่ง หรือเสียงอื่น ๆ ในหู โดยที่ไม่มีเสียงภายนอก

อาการเหล่านี้ อาจคงอยู่ตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง และความถี่ของการเกิดอาการก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการน้ำในหูไม่เท่ากันและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


แยกอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน กับอาการเวียนศีรษะแบบอื่น


อาการน้ําในหูไม่เท่ากัน

การแยกอาการน้ำในหูไม่เท่ากันออกจากอาการเวียนศีรษะรูปแบบอื่น ๆ จะพิจารณาจากลักษณะอาการเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยเวียนหัวรุนแรงจนไม่สามารถทรงตัวได้ดี มักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการทางหูร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น หูอื้อ แน่นหู มีเสียงดังในหู หรือการได้ยินลดลง ซึ่งอาการทางหูเหล่านี้มักจะเกิดในหูข้างเดียวกับที่เวียนศีรษะ


ในทางกลับกัน อาการเวียนศีรษะจากสาเหตุอื่น ๆ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น ประสาททรงตัวอักเสบ (Vestibular Neuritis) จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง 3-7 วัน พร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่จะไม่มีอาการหูอื้อหรือการได้ยินลดลง


ขณะที่โรคหินปูนหลุดในหูชั้นใน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo : BPPV) มักจะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางศีรษะอย่างรวดเร็ว เช่น การลุกจากเตียง หรือพลิกตัว โดยอาการมักคงอยู่เพียงไม่กี่วินาทีถึงนาที และไม่มีอาการทางหูร่วมด้วย


ส่วนอาการเวียนศีรษะที่เกี่ยวข้องกับไมเกรน ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดศีรษะไมเกรน และอาการเวียนศีรษะอาจเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังปวดศีรษะไมเกรน โดยอาจไม่มีอาการทางหูร่วม เป็นต้น


การวินิจฉัยน้ำในหูไม่เท่ากัน ต้องทำอะไรบ้าง


การวินิจฉัยน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับการเกิดอาการ ความรุนแรง ความถี่ และปัจจัยกระตุ้น รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยอื่น ๆ และยาที่ใช้อยู่ จากนั้นจะมีการตรวจร่างกายและตรวจพิเศษต่าง ๆ ได้แก่


  • การตรวจการได้ยิน เพื่อประเมินประสิทธิภาพการรับเสียง
  • การตรวจการทำงานของระบบการทรงตัว เช่น Electronystagmography (ENG) หรือ Electrocochleography (ECoG) ในบางราย
  • การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น MRI หรือ CT scan ของสมองและหูชั้นใน เพื่อแยกแยะสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน เช่น ความผิดปกติของสมอง หรือเนื้องอกเส้นประสาทการทรงตัว
  • การตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น ๆ เช่น การตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ หรือระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน

วิธีการรักษาน้ำในหูไม่เท่ากัน ลดอาการเวียนหัวให้ดีขึ้น


อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน วิธีรักษา

อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน มีวิธีรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย โดยวิธีที่ใช้ในการรักษา มีดังนี้


  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พร้อมควบคุมอาหาร สำหรับคำถามว่าผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน ห้ามกินอะไร จะเน้นไปที่การลดโซเดียม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์เป็นหลัก
  • การรักษาด้วยยา : ได้แก่ ยาบรรเทาอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน และ ยาขยายหลอดเลือด(Berahistine) ซึ่งมีส่วนช่วยปรับการไหลเวียนของเลือดในหูชั้นใน และยาขับปัสสาวะ เพื่อลดการคั้งของน้ำในหูชั้นใน
  • การฉีดยาเข้าหูชั้นกลาง : ในกรณีที่อาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณาฉีดยา เช่น สเตียรอยด์ หรือ Gentamicin เข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อลดการอักเสบหรือทำลายเซลล์ที่สร้างสัญญาณผิดปกติ
  • การผ่าตัด : เป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดระบายของเหลวในหูชั้นใน (Endolymphatic Sac Surgery) หรือการผ่าตัดเส้นประสาททรงตัว (Vestibular Neurectomy)

อาการน้ำในหูไม่เท่ากันดีขึ้นได้ เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที


น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย เป็นความผิดปกติของหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรง บ้านหมุน หูอื้อ ได้ยินลดลง และคลื่นไส้ อาเจียน แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การวินิจฉัยที่รวดเร็วกับการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการ ลดความถี่โรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ดี


หากคุณมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีปัญหาการได้ยินที่ผิดปกติ แนะนำให้เข้ารับการตรวจและรักษากับแพทย์เฉพาะทางทันที ซึ่งที่ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพระรามเก้า เรามีทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถทำการตรวจรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันอย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับน้ำในหูไม่เท่ากัน


น้ำในหูไม่เท่ากัน บรรเทาอาการด้วยตัวเองอย่างไร?


การบรรเทาอาการน้ำในหูไม่เท่ากันด้วยตัวเองเบื้องต้น ทำได้โดยการนอนพักในที่เงียบสงบและมืด ทานยาเพื่อบรรเทาอาการ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ อาหารเค็มจัด และพยายามควบคุมความเครียด หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์


น้ำในหูไม่เท่ากัน นานไหมกว่าจะหาย


ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงการปรับพฤติกรรมและการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้เป็นอย่างดี


References


Mayo Clinic Staff. (2024, January 3). Meniere's disease. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menieres-disease/symptoms-causes/syc-20374910


Ménière's disease. (2023, Apri 25). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/menieres-disease/


Ménière’s Disease. (2025, June 6). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15167-menieres-disease

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ปณิธิ โชลิตกุล

พญ. ปณิธิ โชลิตกุล

ศูนย์หู คอ จมูก

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital