บทความสุขภาพ

Knowledge

นอนกรนอาจเสี่ยงถึงชีวิต รีบตรวจ Sleep test และวางแผนรักษาให้หายแต่เนิ่น ๆ

นพ. ณรงค์ เชาวนะปัญจะ, พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

โดย นพ. ณรงค์ เชาวนะปัญจะ และ พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

หลายคนอาจคิดว่าปัญหาการนอนกรนเป็นแค่เรื่องของความเสียงดังน่ารำคาญ แท้จริงแล้วอาการดังกล่าวสามารถสร้างปัญหาสุขภาพมากกว่าที่คิด บางคนอาจแค่มีอาการเจ็บคอหรือคอแห้งหลังตื่นนอนทุกเช้า ในขณะที่บางคนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว


ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการนอนกรน จึงไม่ควรประมาทเด็ดขาด หากลองแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ เองแล้วไม่หาย อย่าปล่อยไว้ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งพิจารณาตรวจการนอนหลับ (Sleep test) และวางแผนหาแนวทางการรักษาต่อไป


ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากรู้ว่าควรรักษานอนกรนที่ไหนดี และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้แล้ว


นอนกรนเกิดจากอะไร?


การนอนกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่

ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอหอย โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด


OSA-Snore.jpg

นอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท


1.นอนกรนธรรมดา (snoring) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรืออาจเกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้ กรณีนี้น่าเป็นห่วงคนข้างกายที่อาจหลับไม่สนิทหรือต้องลุกขึ้นกลางดึกเพราะเสียงดังรบกวน หากหาสาเหตุหรือแก้ไขได้ก็จะเป็นเรื่องดี


2.นอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea; OSA) ร่วมด้วย กรณีนี้ น่าเป็นห่วงทั้งคนข้างกายและ

ตัวผู้นอนเองด้วย เนื่องจากร่างกายมีโอกาสที่จะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระยะสั้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเกิดความผิดปกติต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายในระยะยาวได้


โดยอาการนอนกรนบ่งบอกถึงทางเดินหายใจบางส่วนถูกอุดกั้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจะทราบได้อย่างไรว่า อาการนอนกรนของเรานั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย


อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


มีข้อสังเกตคือ หากเป็นกรณีที่นอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เสียงกรนจะมีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ โดยผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ สลับกับเสียงกรน


Wake-up-at-night.jpg

ในช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าค่าปกติ มีผลให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น

ผู้ป่วยอาจสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับและมีอาการทางสุขภาพตามมา เช่น


  • มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
  • มีอาการนอนกระสับกระส่าย (โดยได้ประวัติจากคนใกล้ชิด)
  • ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
  • มีอาการเจ็บคอ คอแห้งเมื่อตื่นนอน
  • รู้สึกเหมือนนอนไม่พอ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงกลางวัน
  • สมาธิไม่ดี หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
  • ปัสสาวะรดที่นอน (มักพบในเด็ก)

อันตรายจากการนอนกรน


ปัญหาสุขภาพที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะทนไหว และคิดว่าพยายามพักผ่อนให้มากขึ้นอาจจะดีขึ้นเอง แต่อาการเหล่านี้มักไม่หายได้เอง จนกว่าผู้ป่วยจะปรับพฤติกรรมอย่างจริงจังหรือได้รับการรักษาที่

ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งหากปล่อยไว้ บางทีอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพได้ เช่น


โรคความดันโลหิตสูง


การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้มีการขาดออกซิเจน ผู้ป่วยตื่นบ่อยๆ กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ที่เราสามารถรักษาแก้ไขได้


โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ


การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้ขาดออกซิเจน ร่างกายจะมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาเพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย สลับกับกลับมาเต้นช้าเมื่อออกซิเจนเพียงพอ เมื่อหัวใจเต้นเร็วสลับช้าแบบนี้บ่อยครั้งเวลานอนส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในที่สุด

ความต้องการทางเพศลดลง


ปัญหาการนอนกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากการนอนหลับและเกิดการขาดออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและ ส่งผลต่อการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และในเพศหญิงเกิดการทำหน้าที่ผิดปกติทางเพศสัมพันธ์


Sexual-Male.jpg

ภาวะความดันเลือดในปอดสูง


ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดในปอดสูง ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้การสูบฉีดและแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้น้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้


Heart-Attack.jpg

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากปล่อยให้การนอนกรนเป็นแค่เรื่องของเสียงดังรบกวน และไม่รีบมาตรวจหรือวางแผนการรักษา อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมายเลยทีเดียว


เช็คเบื้องต้น เราง่วงมากผิดปกติหรือไม่? ด้วยชุดคำถามนี้


โดยทั่วไป การตรวจคัดกรองโรคนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามข้อมูลจากตัวผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด เช่น สามีหรือภรรยา และจะให้ทำแบบสอบถามว่ามีอาการเผลอหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ บ้างหรือไม่ แบบสอบถามนี้เรียกว่า Epworth sleepiness scale


แต่หากเราเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และส่งผลกระทบต่อปัญหาง่วงเหงาหาวนอนมากจนดูผิดปกติ สามารถลองทำแบบสอบถามความง่วงนี้และให้คะแนนประเมินตัวเองได้เหมือนกัน โดยดูได้จากตารางนี้


โดยคะแนน 0 = ไม่เคยง่วง, 1 = ง่วงเล็กน้อย, 2 = ง่วงปานกลาง, 3 = ง่วงมาก


Edwards-Sleepiness-scale-edit-1.jpg

แบบสอบถาม Epworth sleepiness scale


หากว่าเราได้คะแนนรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 9 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าเรามีภาวะง่วงมากผิดปกติ ควรได้รับการสืบค้นหาสาเหตุเพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกที ด้วยวิธี sleep test


Sleep test หรือ การตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป


Sleep-Test.jpg

Sleep test ตรวจอะไรบ้าง


ในขณะที่ทำ Sleep test นักเทคนิคการแพทย์จะทำการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น


  • การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
  • การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
  • การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟันและกระตุกของขาขณะหลับ
  • ท่านอนและเสียงกรน
  • การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

หลังจากนั้น จะนำข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกได้ พร้อมกับผลการตรวจร่างกาย มาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป


Sleep test ที่ไหนดี?


สำหรับท่านที่สงสัยว่า จะไปตรวจ sleep test และรักษานอนกรนที่ไหนดี ปัจจุบัน เราสามารถเข้ารับการตรวจ sleep test ได้จาก 3 สถานที่หลัก ๆ คือ โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ตามคลินิกต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการตรวจที่บ้าน โดยมีเทคนิคในการเลือกสถานที่ตรวจให้เหมาะกับเราดังนี้


  • โรงพยาบาลรัฐ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีสิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ์ที่มีอยู่ ราคาตรวจจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน แต่อาจต้องรอคิวนานเป็นเดือน
  • โรงพยาบาลเอกชน และตามคลินิกต่างๆ เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน หรือผู้ที่มีสิทธิ์การรักษา เช่น สิทธิ์ในการเบิกสินไหมประกันชีวิต ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างใกล้ชิด
  • การตรวจการนอนหลับที่บ้าน เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยจริงๆ ไม่ต้องรอคิวนาน ข้อควรระวังของการตรวจที่บ้านคือ อาจจะมีการหลุดเลื่อนของสายสัญญาณสำคัญในขณะหลับและไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีเหมือนตรวจที่สถานพยาบาล ทำให้การตรวจนั้นล้มเหลวและอาจเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจใหม่

เราควรค้นหาสถานที่ตรวจ Sleep test โดยพิจารณาจากทีมแพทย์และนักเทคนิคที่เชี่ยวชาญในการแปลผล มีทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมในภาวะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคนอนกรนรุนแรง และควรสำรวจหาสถานที่ตรวจที่มีบรรยากาศห้องนอนที่ดูสงบ น่าผ่อนคลาย แยกออกจากบริเวณที่คนพลุกพล่าน เพื่อที่เราจะได้หลับสนิทอย่างเต็มที่ ผลการบันทึกจะได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


การเตรียมตัวเพื่อทำ Sleep test


มีข้อปฏิบัติโดยทั่วไป ดังนี้


  1. อาบน้ำและสระผมให้สะอาดก่อนมาตรวจ อย่าใส่น้ำมันหรือครีมใด ๆ มาด้วย
  2. งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ในวันที่จะมาตรวจ
  3. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ
  4. จดชื่อ และขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่ติดตัวมาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ)
  5. ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่าง ๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที
  6. ติดต่อสอบถาม และเช็คข้อมูลให้ละเอียด กับโรงพยาบาลที่เราตัดสินใจไปทำ Sleep test

หลังจากที่ทำ Sleep test เรียบร้อย แพทย์ก็จะนำผลมาประเมินความรุนแรงของอาการและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


7 สาเหตุที่ทำให้อาการนอนกรนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


บางท่านอาจจะคิดว่า ก็นอนกรนไปแล้ว คงไม่ต้องมาสนใจเรื่องสาเหตุกันอีก แต่ที่จริงแล้ว แม้ว่าเราจะมีอาการมาก่อนอยู่แล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหานี้จะคงที่เท่าเดิมอยู่เช่นนี้เสมอไป


7-things-Snore-1024x1024-1-1024x1024.jpg

บางคนอาจจะเริ่มจากกรนเสียงเบาในวันแรก ๆ และกรนเสียงดังมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจจะไม่เคยมีภาวะหยุดหายใจมาก่อน แต่พอเป็นมากขึ้น ก็เริ่มมีอาการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ หรือถึงขั้นหยุดหายใจไปหลายวินาที จนคนข้าง ๆ ต้องใจหายกันเลยทีเดียว


สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับของเรามีดังนี้


  1. มีน้ำหนักตัวมากขึ้นหรือเป็นโรคอ้วน ทำให้ไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจจึงแคบลง
  2. พบว่า เพศชาย มีอาการนอนกรนมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดีกว่า ดังนั้นเพศชายจึงมีโอกาสพบอาการกรนและมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจมากกว่าเพศหญิง
  3. ยิ่งมีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนก็จะยิ่งหย่อนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้นได้
  4. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และใช้ยาบางชนิด จะไปกดการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะขาดออกซิเจน และภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้กล้ามเนื้อของช่องทางเดินหายใจยุบตัวไปปิดกั้นทางเดินหายใจง่ายขึ้น
  5. การสูบบุหรี่ มักจะทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัวและมีเสมหะมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดภาวะนอนกรน
  6. โครงสร้างกระดูกใบหน้า เช่น กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและถดไปข้างหลัง
  7. โรคทางช่องจมูก เช่น ภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกบวม

แนวทางการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำการรักษาผสมผสานกันระหว่างการปรับพฤติกรรมและการใช้เทคนิคทางการแพทย์ โดยประเมินจากผล Sleep test และพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ป่วย ว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด


รักษาจากพฤติกรรม


  1. ปรับสุขภาพอนามัยการนอนหลับ โดยนอนพักผ่อนให้เป็นเวลาทุกวันจนติดเป็นนิสัย ช่วยให้เมื่อถึงเวลานอน ร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะพักผ่อน
  2. ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย เพราะการลดน้ำหนักและความอ้วน จะช่วยลดไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจ ช่องทางเดินหายใจจะกว้างขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงในท่านอนหงาย เพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะในช่องทางเดินหายใจของเรา หย่อนลงมาปิดกั้นการหายใจ
  4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ บุหรี่ และยานอนหลับ หรือยาที่กดประสาทส่วนกลาง

ใช้อุปกรณ์ช่วย


  1. ใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ (Continuous Posititve Airway Pressure : CPAP) ในกระบวนการรักษา ซึ่งเครื่องจะอัดอากาศที่เหมาะสมเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง
  2. ใช้ที่ครอบฟันแก้กรน (Oral Appliance) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางทันตกรรม ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยอุปกรณ์จะช่วยจัดตำแหน่งลิ้นหรือขากรรไกรไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะที่เราหลับ

ทั้ง 2 วิธีนี้จะเหมาะกับภาวะความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน (รวมถึงมีข้อดีข้อเสียต่างกันด้วย) จึงควรเข้ารับการตรวจ Sleep test ก่อน เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่ามีอาการรุนแรงแค่ไหน


ใช้วิธีผ่าตัด


โดยการผ่าตัดจะมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นลมหายใจ


  1. ช่องจมูกและหลังโพรงจมูก เช่น ผ่าตัดริดสีดวงจมูก ผ่าตัดผนังจมูกให้ตรง ลดขนาดของเยื่อบุจมูกบวมด้วยเครื่องซอมโนพลาสตี้ (Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction)
  2. ผ่าตัดทอนซิลและตกแต่งบริเวณลิ้นไก่เพดานอ่อน Uvulopalatopharyngoplarty (UPPP)
  3. ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น Maxillo-Mandibular Advancement (MMA)

Sleep-Well.jpg

สรุป


นอนกรน อาจเป็นอาการที่สร้างความรำคาญซึ่งดูเหมือนจะพบเห็นกันเป็นปกติ บางคนอาจคิดว่าการรักษาโรคนี้จะยุ่งยากหรือมีค่าใช้จ่ายมาก เลยพาลไม่ไปตรวจเสียตั้งแต่แรก


ข้อแนะนำสำหรับคนนอนกรนก็คือ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจ sleep test เพื่อให้รู้ว่าตัวเราเองมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ และมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนหลายชนิด จึงไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง


ขอให้กำลังใจว่า เมื่อการรักษาสำเร็จผ่านไปด้วยดี เราจะนอนเต็มอิ่มมากขึ้น สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น มีความสุขทั้งกับตัวเองและคนรอบตัว แถมยังอาจทำให้ชีวิตครอบครัวอบอุ่นหวานแหวว กันยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย





เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ณรงค์  เชาวนะปัญจะ

นพ. ณรงค์ เชาวนะปัญจะ

ศูนย์หู คอ จมูก

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

ศูนย์หู คอ จมูก

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital