บทความสุขภาพ

Knowledge

รักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม เจ็บน้อย หายเร็ว อีกหนึ่งทางเลือกการรักษานอนกรน

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

การนอนกรนดูจะเป็นเรื่องที่ธรรมดา เพราะหลาย ๆ คนนอนกรนจนเป็นเรื่องปกติ และไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้วปัญหานอนกรนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน เพราะบางคนในขณะกรนอาจมีการหยุดหายใจจนทำให้ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงกลางวัน เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรืออาจจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้ และยังทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีก


ปัจจุบันมีเทคนิคการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม โดยแพทย์จะร้อยไหมที่เพดานอ่อนคล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า เป็นการรักษาที่เจ็บน้อย แผลเล็ก หายเร็ว จึงเป็นทางเลือกการรักษานอนกรนอีกวิธีหนึ่ง


นอนกรนเสียงดังเกิดจากอะไร?


เสียงกรน เกิดจากการที่ลมหายใจไหลผ่านช่องคอที่ตีบแคบ โดยเป็นเสียงของการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่ เนื้อเยื้อบริเวณเพดานอ่อน และช่องคอส่วนบน โดยการกรนนี้จะทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในคนวัยกลางคนอายุระหว่าง 30 – 60 ปี โดยมักพบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจประมาณ 4% ในผู้ชาย และ 2% ในผู้หญิง การนอนกรน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้


  • การนอนกรนธรรมดา (primary snoring) ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้าง
  • การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย (obstructive sleep apnea; OSA) ซึ่งเป็นประเภทที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้

sling-snoreplasty-1.jpg

การนอนกรนเป็นอันตรายไหม?


การนอนกรนไม่ว่าจะเป็นการนอนกรนธรรมดา หรือนอนกรนแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน และมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ก็ล้วนมีผลต่อสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนกรนแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย เสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคความดันสูง โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันในปอดสูง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคหลอดเลือดสมอง


นอกจากนี้การนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยนั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้หลังจากตื่นนอนจะรู้สึกว่าไม่สดชื่น และยังรู้สึกยังง่วงอยู่ นอกจากนี้การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะทำให้สมองและร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับสมองด้วย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง และหากต้องขับรถหรือต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย


และในกลุ่มที่นอนกรนแบบธรรมดาอาจจะยังไม่มีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนทางสุขภาพของตนเองมากนัก แต่จะมีผลต่อสุขภาพการนอนของคู่นอน หรือคนในครอบครัว เพราะจะไปรบกวนการนอนของคนรอบข้างได้


ดังนั้นหากท่านมีอาการนอนกรนทั้งแบบธรรมดา และแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและหยุดหายใจร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป


สาเหตุของการนอนกรน


การนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ


  • มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน (ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน โคนลิ้น และช่องคอส่วนบน) ขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจตีบแคบ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนมาก ๆ เพราะจะทำให้ผนังคอหนาขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เราจึงมักพบว่าคนที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนมาก ๆ จะมีอาการกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
  • มีภาวะที่ทำให้โพรงจมูกอุดตัน เช่น โรคภูมิแพ้ที่ทำให้โพรงจมูกอักเสบ โรคเนื้องอกในโพรงจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ หรือมีผนังกั้นโพรงจมูกผิดปกติ ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดการกรนได้เช่นกัน
  • มีโรคของต่อมทอนซิล เพราะต่อมทอนซิลอยู่ในลำคอ ดังนั้นหากมีการโตขึ้นของต่อมทอนซิลก็จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีการกรนได้ โดยสาเหตุนี้มักเป็นสาเหตุการกรนในเด็ก
  • มีเนื้องอกหรือซีสต์ (cyst) ทางเดินหายใจส่วนบน
  • การดื่มแอลกอฮล์ การรับประทานยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง เพราะจะทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งจะทำให้มีการตีบแคบของช่องคอมากขึ้น ทำให้กรนมากขึ้นและเสียงกรนดังขึ้น

แก้นอนกรนทำได้อย่างไรบ้าง?


โดยปัจจุบันวิธีการแก้และรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งเป็น


  • แบบไม่ผ่าตัด เช่น ใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก CPAP การลดน้ำหนัก นอนตะแคง ใช้ยา ใส่ทันตอุปกรณ์ เป็นต้น
  • แบบผ่าตัด โดยแก้ไขในส่วนของจมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่และคอหอย ทั้งนี้ส่วนที่พบว่าทำให้เกิดเสียงกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มาก คือ เพดานอ่อน ซึ่งวิธีที่ใช้ผ่าตัดมีหลายวิธี วิธีที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน คือ วิธีร้อยไหมที่เพดานอ่อน (barbed suspension pharyngoplasty) ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลเล็กและหายไว และไม่มีปมไหมให้รู้สึกรำคาญเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม

sling-snoreplasty-2.jpg

การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม


การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมที่เพดานอ่อน (barbed suspension pharyngoplasty) เป็นเทคนิคใหม่และเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาการนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ไหมทางการแพทย์เย็บตกแต่งลิ้นไก่ เพดานอ่อน และคอหอย เพื่อปรับให้โครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้น แก้ปัญหาการตีบแคบของทางเดินหายใจ


การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมเพดานอ่อนคล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า โดยไหมที่ใช้จะเป็นไหมละลายที่มีเงี่ยงตลอดเส้น เพื่อเย็บตรึงเพดานอ่อนให้ยกขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน และแพทย์จะใช้เทคนิคการซ่อนปมให้อยู่ในเพดานอ่อนทำให้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกรำคาญ อาจต้องทำร่วมกับการผ่าตัดทอนซิลออกเพื่อทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวางแผนการรักษาให้เหมาะสมเป็นราย ๆ ไป


sling-snoreplasty-3.jpg

ข้อดีของการรักษาการนอนกรนด้วยการร้อยไหม


  • ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน
  • เจ็บน้อย
  • แผลเล็กและหายไว
  • ไม่มีปมไหมให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่า

sling-snoreplasty-4.jpg

การเตรียมตัวก่อนการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม


  • ตรวจประเมินทางเดินหายใจส่วนต้นเพื่อวางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์เฉพาะทางโสตศอนาสิกก่อนผ่าตัด
  • ตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับก่อนการรักษา
  • ตรวจเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • อาจต้องหยุดยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการดมยาสลบหรือการผ่าตัด ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์
  • ก่อนการผ่าตัด ควรงดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การปฏิบัติตัวหลังการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม


หลังการร้อยไหมผู้ป่วยอาจมีอาการตึง ๆ ในลำคอ กลืนอาหารไม่ค่อยสะดวก หรืออาจจะมีเลือดออกบริเวณแผล เสียงแหบ แต่อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงแค่ในช่วงแรก และจะหายไปได้เอง หลังการรักษาแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองดังนี้


  • รับประทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ
  • ให้นอนศีรษะสูงโดยเพิ่มจำนวนหมอนที่หนุน หรือใช้เตียงแบบปรับระดับได้
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหักโหม
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปากเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรง ๆ
  • ระยะแรก ๆ หลังการรักษาควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว
  • มาพบแพทย์ตามนัด

หากหลังการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ


สรุป


การนอนกรนทั้งแบบธรรมดาและการนอนกรนที่มีการอุดกั้นและมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้อีกหลายโรค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการนอนของคู่นอนและคนรอบข้าง ดังนั้นหากมีปัญหานอนกรนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนกรนชนิดที่มีการอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป


ในปัจจุบันเทคนิคการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลเล็ก หายเร็ว มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย จึงเป็นการรักษานอนกรนอีกวิธีหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง

ศูนย์หู คอ จมูก

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital