บทความสุขภาพ

Knowledge

HPV vaccine ป้องกันมะเร็งปากมดลูก พร้อมถาม-ตอบ

พญ. สมฤดี อุปลวัณณา

จากสถิติมะเร็งในสตรีไทยของ Globocan ปี 2020 พบว่า มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ และเป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิงทั่วโลก สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบ 100% เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ที่มีชื่อเต็มคือ Human papilloma virus โดยเชื้อ HPV จะเข้าไปเปลี่ยนเซลล์ปากมดลูกให้มีความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด


ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV หรือที่เรียกว่า HPV วัคซีน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงและป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก (https://www.praram9.com/cervical-cancer/)


วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) คืออะไร?


HPV vaccine เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human papilloma virus หรือ HPV ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งปากมดลูกซึ่งติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ โดยไวรัส HPV แบ่งออกเป็น สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high risk HPV) ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 45, 52, 58 และสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk HPV) ที่ก่อให้เกิดโรคหูด เช่น สายพันธุ์ 6 ,11


AW-Vaccine-มะเร็งปากมดลูก-Fig1-edit.jpg

วัคซีน HPV มีกี่ชนิด?


วัคซีนมะเร็งปากมดลูกมี 3 ชนิด ได้แก่


  • ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16 และ 18): สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
  • ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18): สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% และป้องโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้ด้วย
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58): เป็นวัคซีนตัวใหม่ล่าสุด สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90%

วัคซีน HPV ฉีดช่วงวัยไหนเหมาะสมที่สุด?


  • จะให้ผลดีที่สุดเมื่อฉีดในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
  • ฉีดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยเพศหญิงสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี และเพศชายตั้งแต่อายุ 9-26 ปี

AW-Vaccine-มะเร็งปากมดลูก-Fig2-edit.jpg

วัคซีน HPV ต้องฉีดกี่เข็ม?


  • ในช่วงอายุ 9-15 ปี ฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่สองฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือนแต่ไม่เกิน 12 เดือน
  • อายุมากกว่า 15 ปี ฉีด 3 เข็ม โดยฉีดแต่ละเข็มในเดือนที่ 0, 2 และ 6 จากการฉีดเข็มแรก

มีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่?


ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือยังมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อาจจะเคยมีการติดเชื้อ HPV บางสายพันธุ์มาแล้ว แต่แพทย์ก็ยังคงแนะนำให้ฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ยังไม่ได้มีการติดเชื้อมาก่อน และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อไปสู่คู่นอนได้อีกด้วย


หญิงตั้งครรภ์ฉีด HPV vaccine ได้หรือไม่?


ถึงแม้ว่า HPV vaccine จะถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสตรีตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่แนะนำให้ฉีดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ถ้าฉีดวัคซีน HPV 1-2 เข็มไปแล้วบังเอิญตั้งครรภ์ แนะนำให้ฉีดเข็มที่เหลือจนครบ 3 เข็มในช่วงหลังคลอด หรือช่วงให้นมบุตร อย่างไรก็ตามในงานวิจัยยังไม่พบว่าวัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารก เช่น แท้ง ทารกพิการ และการคลอดก่อนกำหนด จึงไม่มีข้อบ่งชี้ให้ยุติการตั้งครรภ์ ถ้าได้ตั้งครรภ์ในช่วงที่ฉีดวัคซีน


เคยติดเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์หรือไม่?


การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังคงมีประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะเคยติดเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว เพราะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ในสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนได้


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีน HPV vaccine


หลังจากฉีดวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงที่พบได้ ได้แก่ อาจมีอาการปวด บวม แดง คัน มีจ้ำเลือด มีตุ่มนู่นบริเวณที่ฉีด และอาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบเล็กน้อย ซึ่งพบได้หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 1-15 วัน เช่น ปวดศีรษะ, มีไข้, คลื่นไส้, เวียนศีรษะ, อ่อนเพลีย, ถ่ายเหลว, เจ็บช่องปากและคอ และมีอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบน


ฉีด HPV vaccine แล้วป้องกันได้นานแค่ไหน?


หลังฉีด HPV vaccine แล้วสามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 10 ปี และจากข้อมูลพบว่าหลังจาก 10 ปี วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ


AW-Vaccine-มะเร็งปากมดลูก-Fig4-edit1.jpg

เคยฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ มาก่อน จะยังฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?


ในกลุ่มที่ได้รับ HPV vaccine ชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ ครบ 3 เข็มมาก่อนหน้านี้ และอยากฉีด HPV vaccine ชนิด 9 สายพันธุ์สามารถทำได้ ในกรณีนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก 70% เป็น 90% และควรเริ่มต้นฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์เข็มแรกห่างจากเข็มสุดท้ายของวัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ อย่างน้อย 12 เดือน แต่หากมีข้อติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายแพทย์อาจจะไม่ได้แนะนำการฉีด HPV vaccine ชนิด 9 สายพันธุ์ซ้ำเพราะวัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ก็มีประสิทธิภาพการป้องกันได้ถึง 70%



คำแนะนำจากแพทย์


พญ.สมฤดี อุปลวัณณา สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา ได้ฝากคำแนะนำเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก และวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้อ่านทุก ๆ ท่านว่า


พญ.สมฤดี.jpg

“มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่เป็นการป้องกันขั้นเริ่มแรกโดยเป็นการป้องกันปากมดลูกไม่ให้ติดเชื้อ HPV และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการป้องกันระยะที่สอง ซึ่งคือการตรวจคัดกรองหารอยโรคเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ”


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. สมฤดี  อุปลวัณณา

พญ. สมฤดี อุปลวัณณา

ศูนย์สูตินรีเวช

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital