บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ต้นเหตุ อัมพฤกษ์ อัมพาต !

พญ. รับพร ทักษิณวราจาร

เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า Stroke บางท่านอาจรู้จักโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็น โรคอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ และมองว่าเป็นโรคหนึ่งที่น่ากลัว แต่หลาย ๆ คนก็อาจยังเพิกเฉยไม่ดูแลตัวเอง


รู้หรือไม่ โรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด !


โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่นั่งทำงานอยู่ดี ๆ เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ขึ้นมากะทันหัน ทั้งที่ก่อนหน้าอาการก็ยังดี ๆ อยู่ ในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน กลับพบในคนอายุน้อยและคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้น


โรคหลอดเลือดสมองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง…


โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร ?


โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด


โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีกี่ประเภท ?


โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ


  1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดเลือด โดยอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และ หลอดเลือดสมองอุดตันจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองเสียไป เกิดสมองขาดเลือดหรือเนื้อเยื่อสมองตาย ตามมาได้
  2. หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด (Hemorrhagic stroke) เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองตามมา

สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA) เป็นอย่างไร ?


สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA) คือ การที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันที และสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดภาวะเนื้อสมองตายจากการขาดเลือด อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบ แต่จะหายได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มักจะมีอาการเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 5 -10 นาที ส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยมาตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มักจะไม่พบความผิดปกติ


โดยทั่วไปประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะกลายไปเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) ภายใน 7 วัน ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น



สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST


อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้


สามารถสังเกตอาการตามหลัก FAST ได้แก่


F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?


A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ


S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น


T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง


ปัจจุบัน หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือด เข้ารับการรักษาทันเวลาภายใน “4 ชั่วโมงครึ่ง” ซึ่งเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “Stroke Golden Hour” แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดและช่วยให้สมองบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานอย่างปกติ


เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ต้องทำอย่างไร ?


โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติเองได้ แพทย์จำเป็นที่จะต้องทราบเวลา ที่ญาติพบเห็นผู้ป่วยยังเป็นปกติครั้งสุดท้าย


หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้ดำเนินการดังนี้


  1. โทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งอาการที่ผู้ป่วยเป็น เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ โดยทางโรงพยาบาลจะจัดส่งรถโรงพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันที โรงพยาบาลพระรามเก้า ติดต่อ 1270
  2. นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการ ไม่ควรรอหรือให้ผู้ป่วยนอนพักสังเกตอาการเอง
  3. หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องมียาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น เบาหวานหรือลดความดันเลือด ควรนำยามาโรงพยาบาลด้วย และไม่ควรให้ยาผู้ป่วยรับประทานก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล เช่น ยาเบาหวาน และยาลดความดัน เพราะยาลดความดันจะทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดที่ต่ำลง และอาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
  4. หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเองก่อนถึงโรงพยาบาล ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจจะเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในทันที และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นอีกแพทย์จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอะไรบ้าง ?


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่


  • โรคความดันสูง เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ง่าย และทำให้เส้นเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้น
  • โรคไขมันในเลือดสูง โดยไขมันจะเป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว และมักจะเกาะตัวกันเป็นตะกอนในหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดในสมองตีบได้
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไต
  • มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation) จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ และอาจจะลอยไปอุดเส้นเลือดในสมองได้
  • การสูบบุหรี่ บุหรี่เป็นปัจจัยเร่งสำคัญ ที่ทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะ และเกิดตะกอนได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัด และได้รับควันบุหรี่ตลอดเวลาด้วย
  • ดื่มสุรา เป็นประจำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดในสมองแตก ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • การใช้สารเสพติด บางชนิด เช่น แอมเฟตามีน หรือโคเคน เนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ จะไปทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งเป็นส่วนน้อย ได้แก่


  • ปัจจัยด้านอายุ โดยปกติ โรคหลอดเลือดสมอง มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก แต่อย่างไรก็ดี ประมาณ 15% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 50 ปี
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • เคยมีโรคหลอดเลือดอุดตันเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ที่หัวใจ ขา หรือที่ตา เป็นต้น

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ป้องกันได้หรือไม่ ?


โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ ดังนี้


  • ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
  • เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
  • ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยการออกกำลังกายควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดและค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่

สรุป


ในอดีต โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน เราพบว่าแม้แต่คนอายุน้อย หรือคนในวัยทำงานก็มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นทันทีทันใด ดังนั้น หากเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังช่วยเพิ่มโอกาสรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย


อีกทั้ง โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ และควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรค


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. รับพร  ทักษิณวราจาร

พญ. รับพร ทักษิณวราจาร

ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital