บทความสุขภาพ

Knowledge

หัวใจโต สัญญาณเตือนโรคหัวใจ

โรคหัวใจถือเป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “หัวใจโต” ซึ่งถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของหัวใจ และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่รุนแรงได้ ดังนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจโตและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


หัวใจโต คืออะไร?


หัวใจโต (cardiomegaly) เป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติกับโครงสร้างหัวใจ เป็นภาวะที่ตรวจพบได้ ซึ่งอาจตรวจพบตอนทำเอกซเรย์ทรวกอก การทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือจากการตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ภาวะนี้ไม่ใช่โรค เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนาตัวขึ้น มักเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงนับได้ว่าภาวะหัวใจโตนี้เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคหัวใจ


อาการของภาวะหัวใจโต


  • หายใจถี่ โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเมื่อนอนลง
  • เหนื่อยง่าย
  • ขาบวม
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • วิงเวียน เป็นลม
  • ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง

อาการเหล่านี้อาจไม่ปรากฏเสมอไป และอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของหัวใจโต บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าอาการจะรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ


หัวใจโตเกิดจากอะไร?


ภาวะหัวใจโตเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้


  1. โรคหัวใจขาดเลือด (coronary artery disease): เกิดจากการสะสมของคราบพลัคและไขมันในหลอดเลือดหัวใจ เกิดหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง หรือเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย จนหัวใจบีบตัวน้อยลง ทำให้เลือดเหลือค้างภายในหัวใจมากขึ้น ทำให้ห้องหัวใจมีการขยายตัวจนมีภาวะหัวใจโต
  2. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart defects): ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่เกิดตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกติเหล่านี้อาจทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจโตได้
  3. โรคหัวใจล้มเหลว (heart failure): เป็นภาวะที่หัวใจทำงานแย่ลงจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ เกิดภาวะหัวใจโตได้
  4. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy): ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดและความหนาผิดปกติ
  5. โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease): การตีบและการรั่วของลิ้นหัวใจทำให้ทิศทางการไหลของเลือดในห้องหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดค้างอยู่ในห้องหัวใจ เกิดภาวะหัวใจโตได้
  6. มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardial effusion): ทำให้เมื่อเอกซเรย์ทรวงอก จะพบว่าหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น
  7. ความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension): ทำให้หัวใจห้องขวาทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะหัวใจโตได้
  8. ความดันสูง (hypertension): เมื่อความดันสูง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเอาชนะแรงดันในหลอดเลือดที่สูง เพื่อพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัว และโตขึ้น
  9. โรคไทรอยด์ (thyroid disease): ทั้งภาวะไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป (hyperthyroidism) และภาวะขาดไทรอยด์ ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้
  10. เบาหวาน (diabetes): โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมจะทำให้หลอดเลือดเสียหาย ซึ่งรวมถึงหลอดเลือดหัวใจ เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจโตตามมาได้
  11. ภาวะโลหิตจาง (anemia): ซึ่งทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่เพียงพอ หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเพื่อชดเชยออกซิเจนที่ลดลงในกระแสเลือด เกิดเป็นภาวะหัวใจโตได้
  12. โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis): เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย เป็นโรคที่มีการสะสมโปรตีนอะไมลอยด์ที่หัวใจ ทำให้ผนังห้องหัวใจหนาตัวขึ้นอย่างถาวร ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
  13. การดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและโตขึ้น
  14. การใช้ยาบางชนิด: ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ อาจทำให้หัวใจโตได้
  15. การตั้งครรภ์: (ในบางกรณี) ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ในบางกรณี หัวใจอาจขยายตัวและหนาตัวชั่วคราว
  16. การออกกำลังกาย: โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic exercise) ในนักกีฬาบางคน หัวใจอาจจะขยายใหญ่ขึ้น จากการออกกำลังกายหนักและนานเป็นประจำ โดยทั่วไปภาวะหัวใจโตแบบนี้ไม่จัดเป็นโรคหรือภาวะที่อันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา

ใครบ้างเสี่ยงต่อภาวะหัวใจโต


  • ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีโรคความดันสูง
  • ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ผู้ที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่มีไทรอยด์ผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง

การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจโต


  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
  • การเอกซเรย์ทรวงอก
  • การทำอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (cardiac MRI; CMR)
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (cardiac CT scan)

การรักษาหัวใจโต


การรักษาภาวะหัวใจโตจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ โดยทั่วไปแล้วการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวใจโตและป้องกันไม่ให้หัวใจโตแย่ลง ซึ่งมีทั้งการรักษาด้วยยา และการผ่าตัดหรือทำหัตถการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น หากภาวะหัวใจโตเกิดจากความสูง แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดความดัน หากภาวะหัวใจโตเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการขยายหลอดเลือดหัวใจหรือผ่าตัดบายพาสหัวใจ ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น


การป้องกันภาวะหัวใจโต


เพื่อป้องกันภาวะหัวใจโตทำได้โดยการลดและป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ควรงดสูบและหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ และรีบรักษาอาการใด ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจโต เช่น ความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวหรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ


สรุป


ภาวะหัวใจโตคือภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวหรือห้องหัวใจขยายตัว ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุหลาย ๆ อย่าง การตรวจสุขภาพ และหมั่นสังเกตอาการ ว่ามีอาการที่เข้าได้กับอาการของภาวะหัวใจโตหรือไม่ ก็จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่อันตรายหรือภาวะที่รุนแรงได้


การดูแลสุขภาพร่างกายก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้รวมถึงภาวะหัวใจโตด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital