ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่พบบ่อยและส่งผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก มักถูกขนานนามว่า ” ฆาตกรเงียบ ” เพราะความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากความดันสูงขั้นรุนแรงอาจแสดงอาการผิดปกติได้ การทราบว่าอาการความดันสูงเป็นอย่างไร? จะช่วยให้สามารถสังเกตสัญญาณความผิดปกติได้
สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกได้มีการกำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาการโลกตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ทำไมความดันโลหิตสูงถึงมักไม่มีอาการ?
หลาย ๆ คนมีความสงสัยว่า อาการความดันสูงเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ ซึ่งการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการนั้น เนื่องจากความดันโลหิตสูงเกิดจากแรงดันของเลือดที่ดันที่ผนังหลอดเลือดแดงสูงเกินปกติ แรงดันที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถทำลายหลอดเลือดได้หากเป็นเรื้อรัง แต่ร่างกายจะปรับตัวต่อแรงดันที่สูงนี้ได้เอง ซึ่งการปรับตัวนี้เป็นคำอธิบายว่าทำไมคนที่มีความดันโลหิตสูงจึงไม่มีอาการ
ความดันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงโรคอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การไม่มีอาการผิดปกติไม่ได้แปลว่าไม่เป็นอันตราย ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจส่งผลร้ายแรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น
โรคหัวใจ
ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคหัวใจในที่สุด
**แนะนำแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ >> แพ็กเกจเช็คหัวใจให้ชัวร์ Exclusive Heart
โรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง แรงที่กระทำต่อผนังหลอดเลือดแดงอาจทำให้เสียหาย เสี่ยงต่อการแตกหรืออุดตันได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากเกิดหลอดเลือดแดงแตกหรืออุดตันในสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมา
โรคไต
ความดันโลหิตสูงอาจทำลายระบบกรองภายในไต นำไปสู่โรคไต
หัวใจล้มเหลว
เมื่อเวลาผ่านไป แรงดันที่สูงอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อหัวใจ อาจทำให้หัวใจทำงานได้แย่ลง สูบฉีดเลือดได้ไม่ดี ภาวะนี้เรียกว่า “หัวใจล้มเหลว”
อาการความดันสูงเป็นอย่างไร?
แม้ว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่บางคนอาจแสดงอาการที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตามสัญญาณเหล่านี้มักไม่เฉพาะเจาะจง และอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ แต่หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ควรต้องไปตรวจวัดความดันโลหิต เพื่อหาว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่
1. ปวดศีรษะ
การปวดศีรษะบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในตอนเช้า อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของความดันโลหิตสูง
2. วิงเวียนหรือรู้สึกหน้ามืด
รู้สึกเหมือนหน้ามืดหรือวิงเวียนเมื่อยืนขึ้น อาจเป็นสัญญาณของความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลง
3. ตาพร่า
มีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น เช่น ตาพร่ามัวหรือมองไม่เห็นชั่วคราว อาจเป็นอาการที่พบได้น้อยแต่อาจเป็นอาการเตือนของความดันโลหิตสูง
4. อ่อนเพลีย
รู้สึกเหนื่อยง่ายหรืออ่อนเพลียผิดปกติ บางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง
5.นอนหลับยาก
การนอนหลับไม่สม่ำเสมอและนอนหลับยาก อาจเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง
6.เลือดกำเดาไหล
การมีเลือดกำเดาไหลบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็ก อาจเป็นสัญญาณเตือนของความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากคุณมีอาการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูงหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
อย่าปล่อยให้ความเงียบหลอกคุณ: การตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหัวใจสำคัญของการรักษา
เพราะภาวะความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้การรักษาและการควบคุมอาการทำได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมาก การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญดังนี้
- ป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพร้ายแรง: การตรวจพบและควบคุมความดันโลหิตสูงตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อย่างมาก
- ลดความจำเป็นในการใช้ยา: การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเพียงพอที่จะควบคุมความดันโลหิตได้ โดยอาจช่วยให้ชะลอหรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงการใช้ยาได้
- รักษาสุขภาพโดยรวม: การรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด และส่งเสริมสุขภาพโดยรวม
การควบคุมความดันโลหิต
แม้ว่าจะพบบ่อยแต่ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่สามารถควบคุมได้ โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้มีสุขภาพดี คุณก็จะสามารถลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างมาก ซึ่งทำได้โดย
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ: ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของความดันโลหิตสูง การลดน้ำหนัก ก็สามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้อย่างมาก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: เน้นการรับประทานอาหารที่สมดุล ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และของหวาน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ: ตั้งเป้าหมายออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ด้วยความหนักระดับปานกลาง 5 วันต่อสัปดาห์
- ลดความเครียด: ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลต่อความดันโลหิตสูง ลองทำกิจกรรมการจัดการความเครียด เช่น โยคะ การนั่งสมาธิ หรือการฝึกหายใจลึก ๆ
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ไม่สูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ทำลายหลอดเลือด และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ควบคุมโรคประจำตัว: หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคไต ควรพบแพทย์ตามนัดและควบคุมโรคเหล่านั้นไม่ให้รุนแรง เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงรุนแรงขึ้น
สรุป
ความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยร้ายที่คุกคามระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต และหัวใจล้มเหลว การที่ทราบว่าอาการความดันสูงเป็นอย่างไร? จะช่วยให้ทราบถึงอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย สัญญาณเตือนของความดันโลหิตสูงที่ไม่ควรปล่อยละเลย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย นอนหลับยาก และเลือดกำเดาไหล การป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถทำได้โดยการหมั่นตรวจวัดความดันเป็นประจำ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดความเครียด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ การรักษาสุขภาพและรู้เท่าทันเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง เป็นการป้องกันจากโรคร้ายและสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้กับตัวเอง
หากมีอาการที่น่าสงสัย หรือมีข้อกังวลเกี่ยวกับความดันสูง ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม