บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เป็นอย่างไร?

รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี

ปัจจุบันปัญหาโรคภูมิแพ้ในเด็กพบมากขึ้นทุกวัน นำมาซึ่งความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก เพราะภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการที่ร่างกายมีความไวต่อสารกระตุ้นบางอย่างมากกว่าปกติ ซึ่งก็คือสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกาย


สาเหตุของโรคภูมิแพ้ในเด็กคืออะไร?


โรคภูมิแพ้ในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้ค่ะ


  1. กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเด็กปกติที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคหืด ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เช่นกันประมาณ 25% แต่หากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงถึง 50% หรือ หากพี่แพ้อาหารก็จะมีโอกาสสูงที่น้องจะแพ้อาหารเช่นเดียวกัน เป็นต้น
  2. สิ่งแวดล้อม ได้แก่สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กซึ่งบางครั้งอาจสัมผัสตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สุนัข แมว ละอองเกสร หรือสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี อาหารทะเล หรือสารระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป มลภาวะต่างๆ นอกจากนี้การติดเชื้อในระบบทางดินหายใจของเด็กเอง เช่น RSV, rhinovirus ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นสาเหตุร่วมกันในการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้

อาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กเป็นอย่างไร?


อาการต่างๆของโรคภูมิแพ้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ อาจแบ่งเป็นอาการผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งหากมีลูกมีอาการเหล่านี้หลายอาการพร้อมๆกัน ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ


ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหรือเช้ามืด หรือได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน หลังจากวิ่งเล่น ออกกำลังกาย


ระบบผิวหนัง ได้แก่ มีผื่นคันเรื้อรังเป็นๆหายๆโดยเฉพาะที่บริเวณแก้มใบหน้าและแขนขาด้านนอกในเด็กทารก หรือบริเวณข้อพับต่างๆในเด็กโต หรือมีผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวมเป็นๆหายๆ


ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน ท้องอืด อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีอาการแหวะนมบ่อยในทารก


ระบบหัวใจและหลอดเลือด มีความดันต่ำ ช็อก หมดสติ เป็นลมเฉียบพลันทันที ในภาวะแพ้อย่างรุนแรง


โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในเด็กคืออะไร?


ตัวอย่างโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่


  1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้: เป็นโรคภูมิแพ้ที่มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูก ได้แก่ คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหลและอาจมีอาการร่วมของอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่จมูกแต่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น คันตา คันในคอ หูอื้อ ร่วมด้วยได้
  2. โรคหืด: เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ตั้งแต่เด็กวัยทารก ผู้ป่วยจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หลอดลม โดยมีอาการหายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ไอเรื้อรังช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย ซึ่งเกิดจากการที่มีหลอดลมตีบ
  3. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ: ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ผิวแห้ง ผื่นแดง มีขุย อาจมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีการกระจายของผื่นที่จำเพาะในวัยต่าง ๆ คือ ทารก ผื่นมักเป็นบริเวณแก้ม คอ ใบหน้า ด้านนอกของแขนขา ส่วนเด็กโต ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา หลัง ข้อมือ ข้อเท้า
  4. โรคแพ้อาหาร: เด็กที่แพ้อาหารมักมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ตั้งแต่วัยทารกหรือเด็กเล็ก หลังจากเริ่มทานอาหารที่แพ้บ่อย เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลีและอาหารทะเล โดยอาจมีอาการผิดปกติในระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบร่วมกัน ได้แก่ อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นแดงคันทั่วตัว ปากบวม ตาบวม อาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจหอบเหนื่อย มีเสียงหายใจดังผิดปกติ มีน้ำมูกเหมือนเป็นหวัดเรื้อรัง อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด อาเจียนและท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น

หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้จะสามารถทำการทดสอบได้อย่างไร?


หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยมารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากคุณหมอภูมิแพ้ เพื่อจะได้รับการซักประวัติอาการอย่างละเอียด ตรวจร่างกายและทำทดสอบภูมิแพ้ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้


  • การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) คือการนำน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่าแพ้สารใด ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที ผู้ป่วยสามารถเห็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยตาของตนเอง มีขั้นตอน คือ การหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของผู้ป่วย ใช้เครื่องมือทดสอบ สะกิดที่ผิวหนังของผู้ป่วย (ท้องแขน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต หรือที่หลัง สำหรับเด็กเล็กที่ไม่ค่อยร่วมมือ) อ่านผลหลังทำ 15-20 นาทีหากผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฎิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดง คัน ในตำแหน่งที่ตรงกับทดสอบสารก่อภูมิแพ้นั้น
  • การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการตรวจเลือด (Serum specific IgE) เป็นการทดสอบเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาปริมาณอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum specific IgE) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการทำในผู้ป่วยที่ เป็นโรคผิวหนังหรือมีปฏิกริยาทางผิวหนังง่ายผิดปกติ ไม่ได้งดยาแก้แพ้มาก่อนตรวจ เด็กเล็ก และผู้มีโอกาสเกิดปฏิกริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบด้วย skin prick test ได้ มีขั้นตอนเพียงการเจาะเลือดส่งตรวจ โดยเจาะเพียงครั้งเดียวก็สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทดสอบ skin prick test และต้องรอผลประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์
  • การทดสอบการแพ้อาหารด้วยการรับประทานอาหารทีละน้อย (Oral food challenge test) หากสงสัยว่าลูกแพ้อาหาร สามารถทำได้โดยทำการทดสอบภูมิแพ้ เช่น การทดสอบทางผิวหนัง หรือการตรวจเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่หากทำทดสอบภูมิแพ้เหล่านี้แล้วได้ผลเป็นลบ คุณหมออาจพิจารณาทำทดสอบปฏิกิริยาการแพ้อาหาร โดยการทานอาหารนั้นทีละน้อย (Oral food challenge test) และค่อยๆ เพิ่มปริมาณอีกเท่าตัวทุก 15-30 นาที จนกระทั่งถึงปริมาณอาหารมาตรฐานสากลที่ไม่แพ้ ระหว่างการทดสอบ จะมีการบันทึกสัญญาณชีพเป็นระยะๆ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากมีการแพ้รุนแรงเกิดขึ้น ก็จะได้รับการฉีดยารักษาเพื่อระงับการแพ้ทันที ซึ่งการทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบขั้นสุดท้าย ที่พิจารณาทำในผู้ป่วยบางราย สำหรับผู้ป่วยเด็กเพื่อความปลอดภัยอาจใช้ในกรณีที่ทำทดสอบ skin test หรือตรวจเลือดแล้วได้ผลบวก แต่สงสัยว่าผู้ป่วยไม่ได้แพ้จริง หรือ ติดตามว่าหายจากการแพ้แน่นอนแล้วหรือยัง

ซึ่งการทดสอบเหล่านี้สามารถทำได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของคุณหมอภูมิแพ้ค่ะ

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

รศ.พญ. รวีรัตน์  สิชฌรังษี

รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี

ศูนย์กุมารเวชกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital