บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคต้อกระจก…อาการ การรักษา และการป้องกัน

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

เรามักเคยได้ยินว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการตาฝ้าฟางหรือตาพล่ามัว ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการปกติทั่วไป เเต่เป็นความเสื่อมของเลนส์กระจกตาตามอายุที่มากขึ้นเเละเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของ “ต้อกระจก”


ต้อกระจกพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมักเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์จึงขุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนเริ่มบดบังการมองเห็นในที่สุด


ต้อกระจกคืออะไร?


ต้อกระจก (cataract) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมตามวัยหรือตามอายุที่มากขึ้น เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาทำให้เลนส์ตาขุ่นมัวจนทำให้จอประสาทตารับเเสงได้ลดลง


เนื่องจากการขุ่นของเลนส์ตาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ นานเป็นปี ทำให้ตาค่อย ๆ มัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการตาแดงหรือเจ็บปวด การมองเห็นจะลดลงเมื่ออยู่ในที่มีแสงไม่เพียงพอ เหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกที่ขุ่น ต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือเมื่อขับรถกลางคืนแล้วเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจาย ผู้ป่วยบางรายเห็นภาพซ้อนเมื่อดูด้วยตาข้างเดียว หากทิ้งไว้นานจนต้อสุก จะเห็นตาเป็นฝ้าขาวตรงกลางได้ ซึ่งในปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจตาได้ง่ายขึ้น

ต้อกระจกมีอาการอย่างไร?


อาการของต้อกระจกที่พบบ่อย ได้แก่


  • เห็นไม่ชัด หรือมัวเหมือนมองภาพผ่านกระจกฝ้าหรือผ่านหมอก
  • มีอาการตาพล่ามัวหรือมองภาพได้ไม่ชัดในที่มีเเสงแดดมากหรือที่กลางเเจ้ง
  • เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว
  • เมื่อขับรถกลางคืน จะเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจายผิดปกติ
  • สายตาสั้นมากขึ้นผิดปกติ เเละเปลี่ยนเเว่นสายตาบ่อย ๆ
  • ตาไวต่อเเสงเเละเเสงจ้า หรือตาสู้เเสงสว่างมาก ๆ ไม่ได้
  • มองเห็นสีผิดเพี้ยนไป
  • มีฝ้าขาวบริเวณตรงกลางตา

ต้อกระจกอันตรายไหม?


ต้อกระจกในระยะเเรกอาจไม่มีอันตราย เเต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ จนต้อกระจกเเข็งเเละมีอาการรุนเเรงอาจเกิดภาวะเเทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน หรือเกิดการอักเสบภายในตาทำให้เกิดอาการปวดตา ตาเเดง


การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยในการคัดกรองต้อกระจกเเละโรคต่าง ๆ ของดวงตา ทำให้ได้รับการรักษาเเละการดูเเลอย่างถูกต้อง


สาเหตุของต้อกระจก


ตากระจกมีสาเหตุหลักจากความเสื่อมตามวัย หรืออายุที่มากขึ้น โดยมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เเต่ก็สามารถพบในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยมีสาเหตุดังนี้


  1. ผลจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ทั้งแบบรับประทานและแบบหยอดตา
  2. มีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก ได้แก่ โรคเบาหวาน เเละโรคความดันสูง
  3. ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน
  4. เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บบริเวณดวงตา
  5. มีการอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณดวงตา
  6. พันธุกรรม หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อกระจก
  7. การทำงานกลางเเจ้ง หรือได้รับแสงแดดเเรง ๆ เป็นเวลานาน ๆ
  8. ภาวะเเทรกซ้อนจากโรคทางตา
  9. การสูบบุหรี่ เเละการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  10. เคยโดนฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือดวงตา

ต้อกระจกรักษาอย่างไร?


ต้อกระจกเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา เเละไม่มียาช่วยลดอาการเเละความรุนเเรงของโรค การรักษามีเพียงวิธีเดียวคือการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูงเเละมีโอกาสมองเห็นได้ดีขึ้นภายหลังการผ่าตัดมากถึง 95% ก่อนการผ่าตัดต้อกระจกทุกครั้งจักษุเเพทย์จะตรวจประเมินสายตาเเละสภาพดวงตาอย่างละเอียดเพื่อพิจารณความเหมาะสมในการรักษาเเละเลือกชนิดเลนส์เเก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย


วิธีการรักษาต้อกระจก


เเบ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็น 3 วิธี ได้แก่


  1. การผ่าตัดแผลเล็กร่วมกับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification) ในปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีมาตฐานในการรักษาต้อกระจก แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 2.2-3 มิลลิเมตร โดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จักษุเเพทย์ จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ความถี่สูงสลายต้อกระจกจนหมด เเล้วจึงใส่เลนส์เเก้วตาเทียมเข้าไปเเทนที่ ข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือแผลมีขนาดเล็กมากเเละไม่ต้องเย็บปิดเเผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย กลับมามองเห็นได้เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ ไม่ต้องฉีดยาชาเเละวางยาสลบ เพราะใช้เพียงการหยอดยาชาเฉพาะที่
  2. การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกเเบบเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้หรือการผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (extracapsular cataract extraction; ECCE) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลผ่าตัดบริเวณขอบตาดำขนาดยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ตาเก่าที่มีภาวะต้อกระจกออก จากนั้นใส่เลนส์เเก้วตาเทียมเข้าไปเเทน เเล้วจึงทำการเย็บปิดแผล วิธีการนี้จะใช้ในกรณีที่มีภาวะต้อกระจกระดับรุนเเรงจนต้อกระจกเเข็งเเละขุ่นมาก ๆ ไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่องสลายต้อ
  3. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (femtosecond laser surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการนำเลเซอร์มาช่วยในการผ่าตัดต้อกระจกในบางขั้นตอนที่สำคัญเท่านั้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเลเซอร์ควบคู่กับการใช้เครื่องสแกนจอตา (optical coherence tomography; OCT) ทำให้มีความเเม่นยำสูงเเละมีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าวิธีการผ่าตัดปกติ โดยวิธีการนี้จะใช้เลเซอร์ผ่าตัดเปิดแผลเเละถุงหุ้มเลนส์ตา จากนั้นจะตัดเลนส์ตาเก่าที่มีต้อกระจกออก เเล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน

ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม


การรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เเก้วตาเทียม สามารถเลือกเลนส์เเก้วตาเทียม (intraocular lens; IOL) ให้มีความเหมาะสมกับเเต่ละบุคคล โดยเลนส์แก้วตาเทียมมี 3 ชนิด ได้แก่


  1. เลนส์เเก้วตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (standard IOL) เป็นเลนส์แก้วตาเทียมมาตรฐานที่ช่วยในการมองภาพระยะไกลได้ดี มีกำลังการรวมแสงเดียว ช่วยโฟกัสภาพในระยะไกล ส่วนการมองใกล้อาจต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย
  2. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายระยะ (multifocal IOL) เป็นเลนส์เเก้วตาเทียมที่มีการมองเห็นในหลายระดับทั้งมองในระยะใกล้เเละไกล เป็นเลนส์แก้วตาที่มีหลายวง แต่ละวงมีกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันเพื่อโฟกัสทั้งระยะไกลและใกล้ แต่ผู้รับการรักษาต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและใกล้โดยไม่สวมแว่นอ่านหนังสือ
  3. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดสายตาเอียง (toric IOL) เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเรื่องสายตาเอียง สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงร่วมกับภาวะต้อกระจกก่อนการผ่าตัด

ต้อกระจกผ่าตัดเมื่อไหร่ดี?


ต้อกระจกในระยะเเรกยังไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด หากไม่รบกวนการมองเห็นเเละการใช้ชีวิตประจำวัน โดยในระยะเเรก หากมีปัญหาการมองเห็นภาพไม่ชัดเจน อาจเเก้ปัญหาด้วยการใส่เเว่นสายตาช่วยเรื่องการมองเห็นเเละตัดเเสงรบกวน เเต่ควรติดตามอาการกับจักษุเเพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจนต้อกระจกเเข็งเเละมีอาการรุนเเรงจะทำให้การผ่าตัดยากขึ้น หรือเกิดเป็นต้อหินได้ ซึ่งหากมีต้อหินรุนแรงและปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น


การป้องกันต้อกระจก


ต้อกระจกสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวดังนี้


  • ผู้ที่มีอายุตั้งเเต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเเละสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
  • ควรสวมเเว่นกันแดดเวลาทำกิจกรรมกลางเเจ้งหรือที่มีแดดเเรง
  • รักษาเเละรับประทานยารักษาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโรคเบาหวานเเละโรคความดันสูง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเเละหยอดยากลุ่มสเตียรอยด์จนเกินความจำเป็นหรือยังไม่ได้รับคำเเนะนำจากเเพทย์ให้ใช้ยาในกลุ่มดังกล่าว
  • งดสูบบุหรี่ เเละงดการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเเละพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพิ่มการรับประทานผักเเละผลไม้ เนื่องจากมีวิตามินเเละเเร่ธาตุเเละช่วยในการบำรุงสายตา

สรุป


“ต้อกระจก” เป็นภาวะที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ โดยพบในผู้สูงอายุตั้ง 60 ปีขึ้นไป เเต่ก็สามารถพบในผู้มีอายุน้อยได้เช่นกัน ในระยะเเรกจะมีอาการไม่รุนเเรง มีตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน เเต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนรุนเเรงจะทำให้เกิดโรคต้อหินที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ การรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือการผ่าตัด


การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีจึงช่วยคัดกรองต้อกระจกเเละโรคทางตาอื่น ๆ และหากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกของโรคก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและทำให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

ศูนย์จักษุ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital