บทความสุขภาพ

Knowledge

ไข้เลือดออก…ภัยร้ายที่มากับหน้าฝน

เมื่อพูดถึง “ฝน” ทุกคนก็จะนึกถึงผลกระทบที่ตามมาอีกหลายอย่าง น้ำท่วมขัง เป็นแหล่งกำเนิดชั้นดีที่ก่อให้เกิด ยุง เพราะยุงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานาน สามารถทำให้เกิดโรคได้ในทุกเพศทุกวัยและพบได้บ่อยในเด็ก


โรคไข้เลือดออก มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยในปี พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยเกือบ 40,000 ราย โดยพบในวัยทำงานมากที่สุด คือช่วงอายุ 25-34 ปี ซึ่งอาการเเรกเริ่มคล้ายกับโรคโควิด 19 เเละไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นบางครั้งทำให้เกิดสับสนว่าอาการเป็นไข้นั้นใช่อาการของโรคไข้เลือดออกหรือไม่ และในปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการเเละหากมีอาการรุนเเรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้



โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever)


โรคไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยชื่อของโรคมาจากอาการหลังมีการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้สูง และทำให้ร่างกายมีภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ทำให้เลือดออกได้ง่ายทั้งในอวัยวะภายใน ตามผิวหนัง ตามเหงือกและไรฟัน ซึ่งหากอาการรุนแรงจนมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้



สาเหตุของไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่มีพาหะนำโรคคือ “ยุงลาย” นำเชื้อไวรัสจากคนไปสู่คน โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน โดยไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งหากเคยได้รับการติดเชื้อในครั้งแรกแล้ว ร่างกายจะมีการจดจำเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่เคยเป็นเอาไว้ เเละหากได้รับเชื้อคนละสายพันธุ์กับการเป็นไข้เลือดออกในครั้งที่สอง ร่างกายจะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ทำให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น



อาการของไข้เลือดออก


โดยทั่วไปไข้เลือดออกจะมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย โดยจะพบอาการเบื้องต้นดังนี้


  • มีไข้สูง อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะเเละปวดรอบดวงตา
  • ปวดตามข้อต่อเเละกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอาการปวดรุนเเรงมากคล้ายกระดูกหัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีผื่นแดง เเละอาจมีอาการคัน

แต่ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงอาจพบอาการ เช่น


  • ปวดท้องรุนเเรง
  • หายใจ หอบเหนื่อย
  • มีอาการอาเจียนต่อเนื่องรุนเเรง
  • อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด
  • อ่อนเเรง มีอาการซีด มือเท้าเย็น
  • มีอาการกระหายน้ำอย่างมาก
  • ชีพจรเบาลง หรือมีอาการช็อก

หากมีอาการดังกล่าวควรรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน



ไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวกี่วัน


เชื้อไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เเล้วหลังจากนั้นเมื่อยุงไปกัดคน เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสดง 4-10 วันภายหลังการรับเชื้อ หรืออาจเริ่มมีอาการรุนเเรงในช่วง 2-7 วันหลังไข้ลดลง ซึ่งในระยะอาการรุนแรงหลังจากที่ไข้ลดลงนี้ ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการ และหลีกเลี่ยงปัจจัยความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย และหากอาการรุนแรงต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที



ไข้เลือดออกติดต่อได้หรือไม่?


ไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยมียุงเป็นพาหะ คือ เมื่อยุงกัดผู้ที่มีเชื้อไข้เลือดออกก็จะรับเชื้อไข้เลือดออกมา เเล้วก็จะสามารถเเพร่เชื้อให้คนที่ยุงกัดต่อ ๆ ไปได้



โรคไข้เลือดออกวินิจฉัยอย่างไร?


  • ไข้เลือดออกสามารถตรวจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย เเละอาการแสดงโดยเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะเลือด เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เเละเกล็ดเลือด ในกรณีที่ได้รับเชื้อไข้เลือดออกจะมีปริมาณเกล็ดเลือดลดต่ำลง
  • การวินิจฉัยโดยตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก (NS-1 antigen) หรือการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้เลือดออก(dDengue IgM)


โรคไข้เลือดออก มีเกล็ดเลือดเท่าไหร่ที่อยู่ในภาวะอันตราย


ไข้เลือดออกจะทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว หากลดลงต่ำกว่า 100,000 ตัว/ลบ.มม. ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน เเละอาจมีอาการรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้



ไข้เลือดออกรักษาอย่างไร?


ไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ โดยทั่วไปจะรักษาตามอาการร่วมกับการให้ยาลดไข้เเละอาการปวด โดยใช้ยา พาราเซตามอล เเละหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เเละ ยาเเอสไพริน (aspirin) เนื่องจากสามารถทำให้มีความเสี่ยงให้เลือดออกมากขึ้น เเละทำให้อาการแย่ลง ในเด็กเล็กผู้ปกครองควรเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย เพื่อป้องกันการชักในเด็ก


หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบพบเเพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เเละวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเเพทย์จะเจาะเลือดเพื่อติดตามดูปริมาณเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 โดยติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งเเรก อาการจะรุนเเรงเเละเกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเลือดออกบริเวณอวัยวะภายใน และอาจรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้



เป็นไข้เลือดออกกี่วันหาย?


ไข้เลือดออกสามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน ในกรณีที่ไม่มีอาการรุนเเรงเเละเป็นการติดเชื้อครั้งเเรก


เเต่จำเป็นต้องสังเกตอาการอย่างละเอียดภายหลังไข้ลดลง เพราะอาจพบอาการรุนเเรงขึ้นได้



การป้องกันโรคไข้เลือดออก


  • การป้องกันที่ดีที่สุด คือป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยต้องกำจัดพาหะนำโรคด้วยการคว่ำภาชนะหรือปิดฝาภาชนะต่าง ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่เเละเเพร่พันธุ์ได้
  • ป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ควรใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด นอนกางมุ้ง หรือใช้ยาทากันยุง
  • การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาเเล้ว เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เเละช่วยลดอาการไม่ให้รุนเเรงหากติดเชื้อในครั้งที่สอง โดยสามารถฉีดได้ในผู้ที่อายุ 9-45 ปี ซึ่งในเข้าการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของวัคซีน


สรุป


ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มักพบการเเพร่ระบาดในฤดูฝน โดยปกติผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนเเรง เเต่จะมีอาการรุนเเรงในกรณีติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งเเรก


การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด เเละการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยวัคซีนจะช่วยลดการติดเชื้อซ้ำเเละลดอาการรุนเเรง


หากมีอาการที่เข้าได้ หรือสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกควรรีบพบเเพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด เนื่องจากอาจมีอาการรุนเเรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้



ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital