บทความสุขภาพ

Knowledge

มะเร็งกระเพาะอาหาร โรคอันตรายที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในคนไทย ซึ่งในรายงานของ GLOBOCAN 2022 ระบุว่ามะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่พบได้มากและมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกจากมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ป่วยมักมีอายุมากกว่า 40 ปี


ความน่ากลัวของมะเร็งกระเพาะอาหารคือเป็นโรคที่มันมักเริ่มต้นแบบเงียบ ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่มีอาการใดๆ เพราะในระยะแรกมักไม่มีอาการใด ๆ และจะแสดงอาการเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว อาการเริ่มต้นไม่เฉพาะเจาะจงเช่น อาการท้องอืด แน่นท้อง หรือปวดท้องหลังอาหาร อาจถูกมองข้ามและเข้าใจผิดว่าเป็นแค่ปัญหาทางเดินอาหารทั่วไป กว่าจะรู้ตัว โรคนี้ก็อาจกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ และทำให้การรักษายากขึ้น การเข้าใจความอันตรายของมะเร็งกระเพาะอาหาร การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้เราสามารถรับมือและป้องกันได้อย่างทันท่วงที


มะเร็งกระเพาะอาหารคืออะไร?


มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากเซลล์ในส่วนต่าง ๆ ของกระเพาะอาหาร รวมถึงเซลล์ที่ผลิตน้ำย่อยหรือเซลล์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เซลล์


  • มะเร็งกระเพาะอาหารรักษาหายไหม?
  • มะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายมีอาการอย่างไร ? มะเร็งเหล่านี้มักเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ โดยระยะแรกของมะเร็งกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยในระยะเริ่มต้นเป็นไปได้ยาก มะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายชนิด เช่น
    • Adenocarcinoma: เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดขึ้นจากเซลล์ที่อยู่ในเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร
    • Lymphoma: มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ภูมิคุ้มกันในกระเพาะอาหาร
    • Gastrointestinal stromal tumors (GISTs): เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของกระเพาะอาหาร
    • Carcinoid tumors: มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร

อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร


อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกอาจไม่ชัดเจน ทำให้มักถูกมองข้ามไป โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่


  • ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายบริเวณท้อง: อาการนี้อาจเป็นเพียงอาการปวดเล็กน้อย หรือปวดหนักขึ้นเมื่อโรครุนแรงขึ้น
  • เบื่ออาหาร: ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกไม่อยากกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่เคยชอบ
  • น้ำหนักลด: การที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนอาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง
  • ท้องอืด: มีความรู้สึกอืดแน่นในท้องหลังจากรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย
  • คลื่นไส้และอาเจียน: บางครั้งอาจพบอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือมีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นสัญญาณของการมีเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหาร
  • อาการเรอหรือมีกรดไหลย้อน: ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาทั่วไปของทางเดินอาหาร

และเนื่องจากอาการของโรคไม่ชัดเจนทำให้มักถูกมองข้าม ดังนั้นการสังเกตอาการที่ผิดปกติเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค เพราะการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะมีโอกาสหายและให้ผลการรักษาที่ดีกว่า


มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?


ถึงแม้สาเหตุของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเพิ่มโอกาสเกิดโรคได้ เช่น


  • เพศ: มะเร็งกระเพาะอาหารพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าผู้หญิงถึงสองเท่า
  • อายุ: ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมีอายุมากกว่า 75 ปี
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori): การติดเชื้อนี้ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
  • การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ยิ่งสูบบุหรี่นานและมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น
  • อาหาร: การรับประทานอาหารที่มีเกลือมาก เนื้อสัตว์หรืออาหารแปรรูป หรืออาหารรมควัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ในขณะที่การรับประทานผักและผลไม้สดไม่เพียงพอหรือน้อยเกินไปก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน
  • น้ำหนักเกิน: คนที่มีน้ำหนักหรือดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งที่รอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร (gastro-oesophageal junction หรือ GOJ)
  • สภาวะของกระเพาะอาหาร: ภาวะต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจางชนิดเพอร์นิเชียส (Pernicious anemia) หรือภาวะกระเพาะอักเสบเรื้อรัง (Atrophic gastritis) อาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเปลี่ยนแปลงและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหาร: การตัดกระเพาะบางส่วนเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ เช่น แผลในกระเพาะ อาจทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
  • ประวัติครอบครัว: ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายคนที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร และเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่อายุน้อย

การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร


การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารต้องอาศัยการตรวจหลายอย่างเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน โดยการตรวจที่มักใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่


  • การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper endoscopy): เป็นการใช้กล้องส่องภายในกระเพาะอาหารเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อต่างๆในกระเพาะอาหาร
  • การเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy): เป็นการเก็บชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารโดยผ่านการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และชิ้นเนื้อที่เก็บจากกระเพาะอาหารนี้จะถูกส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
  • การตรวจเลือด: เพื่อตรวจหาโปรตีนหรือสารที่บ่งชี้การเกิดมะเร็ง
  • การถ่ายภาพทางการแพทย์: เช่น CT scan หรือ MRI เพื่อดูการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น
  • การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านกล้องส่อง (Endoscopic Ultrasound – EUS): เป็นการใช้กล้องที่ติดเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูความลึกของเนื้องอกในผนังกระเพาะอาหาร

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร


การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาที่แพทย์ใช้ในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่


  • การผ่าตัด (Surgery): เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดสามารถแบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น การผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกบางส่วน (Partial gastrectomy) หรือการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมด (Total gastrectomy) ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก
  • การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy): เป็นการใช้ยาทำลายเซลล์มะเร็งทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว
  • การฉายแสง (Radiotherapy): โดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือยับยั้งการเจริญเติบโต
  • การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): เป็นวิธีที่อาศัยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง โดยใช้ยาเฉพาะที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

ระยะต่าง ๆ ของมะเร็งกระเพาะอาหารและการรักษา


  • ระยะแรก: มะเร็งในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการเด่นชัด ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์เนื่องจากอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือปวดท้องหลังจากการรับประทานอาหาร ซึ่งอาการเหล่านี้อาจคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร ในระยะนี้ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด หากมะเร็งยังอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร สามารถตรวจพบจากการส่องกล้องและรักษาโดยการใช้กล้องส่องทางเดินอาหาร
  • ระยะที่สอง: มะเร็งเริ่มโตขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง การรักษาหลักในระยะนี้คือการผ่าตัดเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงออก อาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
  • ระยะที่สาม: มะเร็งเริ่มลุกลามไปติดอวัยวะข้างเคียง ทำให้ไม่สามารถเลาะกระเพาะอาหารออกได้หมด หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การรักษาในระยะนี้จะทำการผ่าตัดออกทั้งหมด รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองออกด้วย การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยความร้อนมาช่วยในการผ่าตัด จะเพิ่มโอกาสการหายขาดมากขึ้น
  • ระยะสุดท้าย: มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป การรักษาในระยะนี้จะมุ่งเน้นที่การควบคุมและลดอาการของโรค โดยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการและควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็ง

มะเร็งกระเพาะอาหารรักษาหายไหม?


การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารสามารถให้ผลดีและหายได้หากตรวจพบในระยะแรกและได้รับการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งได้รับการวินิจฉัยในระยะที่ลุกลามแล้ว โอกาสในการหายก็จะจะลดลง และการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการและยืดอายุของผู้ป่วย


มะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายมีอาการอย่างไร?


ในระยะสุดท้ายของมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการมักจะรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยอาการที่พบบ่อย เช่น


  • ปวดท้องอย่างรุนแรง: อาการปวดอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในบางครั้งยาแก้ปวดอาจไม่สามารถช่วยลดอาการได้
  • น้ำหนักลดลงมากและอ่อนเพลีย: ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายจะมีการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วและสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • อาการอาเจียนอย่างต่อเนื่อง: มักเกิดขึ้นเนื่องจากกระเพาะอาหารไม่สามารถรับอาหารได้ตามปกติ
  • การแพร่กระจายของมะเร็ง: อาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด หรือต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการเพิ่มเติม เช่น อาการเหนื่อย หายใจลำบาก หรือภาวะตัวเหลือง

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารควรดูแลรักษาทางกายและรวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจด้วย โดยคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ได้แก่


  • การสื่อสารกับทีมแพทย์: ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการรักษาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
  • การดูแลเรื่องโภชนาการ: ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลจากนักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
  • การดูแลสุขภาพจิต: ครอบครัวและผู้ป่วยควรเปิดใจในการพูดคุยถึงความรู้สึกและความกังวลเพื่อสร้างความเข้าใจและช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร


  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ: ควรเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในอาหาร เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการเกิดมะเร็งได้
  • ลดการบริโภคอาหารเค็มและอาหารแปรรูป: หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือสูง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป หรืออาหารรมควัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร การลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
  • ตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori: ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H. pylori โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

สรุป


มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะ ซึ่งสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ H. pylori การรับประทานอาหารเค็มหรือแปรรูป การสูบบุหรี่ และพันธุกรรม ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารสุขภาพ ลดของเค็ม และเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital