โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) หรือที่เรียกกันว่า โรคความจำเสื่อม หรือโรคสมองเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองฝ่อและเสียการทำงานไป ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม พบได้บ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะแสดงอาการออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
- มีความผิดปกติด้านความทรงจำและทักษะต่าง ๆ ที่เคยทำได้ เช่น ลืมชื่อ ลืมวันเวลา ลืมสถานที่ ลืมสิ่งทำไปแล้ว พูดประโยคเดิมซ้ำ ๆ ทักษะความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง เช่น ทักษะการขับรถผิดปกติ สับสนทิศทาง เป็นต้น
- มีอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติไป เช่น ขี้โมโห ก้าวร้าว มีพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความคิดผิดชอบชั่วดี มีพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ หรือมีพฤติกรรมการนอนผิดปกติไป เป็นต้น
- ไม่สามารถทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ เช่น ลืมวิธีการอาบน้ำ การแต่งตัว หรือกิจวัตรที่เคยทำได้ ซึ่งในที่สุดอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอดเวลา เป็นต้น
ในระยะที่อาการรุนแรงผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำและทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงกิจกรรมง่าย ๆ ที่คนปกติทำได้ เช่น การล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า หรือแค่การเดินไปหยิบของ
นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ ทำให้ขี้โมโห โกรธแบบไม่มีเหตุผล คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย หรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรต่าง ๆ และผลจากการเสื่อมของเซลล์สมองจะทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว จนทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีคนดูแลช่วยเหลือตลอดเวลา
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หายและผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
ดังนั้น การรับมือกับโรคทั้งของผู้ป่วยเอง และคนดูแลจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนัก ผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นหรือพฤติกรรมแปลก ๆ นั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะในการทำพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น ๆ และเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์
และเนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงเน้นไปที่การรักษาอาการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ผู้ป่วยยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ ควบคุมให้การดำเนินโรคให้เป็นไปอย่างช้าที่สุด ญาติ และผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจ พร้อมทั้งหาวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสภาพจิตใจของผู้ดูแลด้วย