ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่กำจัดของเสียออกทางปัสสาวะ ควบคุมสมดุลเกลือแร่ ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย และยังควบคุมความเป็นกรด-ด่างในเลือดอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติหลาย ๆ อย่างตามมา เช่น ภาวะน้ำเกิน น้ำท่วมปอด, เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดจาง ขาดวิตามิน หรือหากรุนแรงก็จะเกิดการคั่งของของเสียในร่างกาย
โรคไตสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาการมักค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้สังเกตความผิดปกติ ซึ่งกว่าจะรู้ตัว โรคจึงอยู่ในขั้นที่รุนแรงแล้ว ทำให้การรักษายากและซับซ้อนมากขึ้น การตรวจคัดกรองโรคไตจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรละเลย เนื่องจากหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น และรักษาการทำงานของไตไว้ได้
โรคไตอันตรายอย่างไร?
โรคไต สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายโรค เช่น กรวยไตอักเสบ เนื้อเยื่อไตอักเสบ นิ่วในไต ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง โดยโรคเกี่ยวกับไตที่พบได้บ่อย และการรักษามีความซับซ้อนและมักไม่หายขาด คือ โรคไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรังที่ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัวอื่นมาก่อน เช่น เบาหวาน, ความดันสูง และมีภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการของโรคไตในระยะแรก และจะแสดงอาการผิดปกติเมื่อโรคอยู่ในขั้นที่รุนแรงระดับหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยจึงไม่ได้สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ และเข้ารับการรักษาล่าช้า ทำให้การทำงานของไตเหลืออยู่น้อยและอาจต้องได้รับการฟอกไตในที่สุด
ปัจจุบันประชากรไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่า มีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 คนต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ยังแนะนำการตรวจคัดกรองในประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือมีผู้ที่มีความเสี่ยงได้เร็วขึ้น ทำให้เข้ารับการรักษาเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้
ใครควรตรวจคัดกรองโรคไต?
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่เป็นโรคกลุ่ม NCDs (non-communicable diseases) หรือเรียกว่ากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่
– โรคเบาหวาน
– โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
– โรคถุงลมโป่งพอง
– โรคมะเร็งต่าง ๆ
– โรคความดันสูง
– โรคอ้วนลงพุง
โดยพบว่าสาเหตุกว่า 70% ของโรคไต มาจากโรคเบาหวานและความดันสูง - ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป ชอบกินอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารรสเค็ม เป็นต้น
- กินยา อาหารเสริม สมุนไพร อย่างไม่เหมาะสม หรือชอบซื้อยากินเอง ดังนั้นหากจำเป็นต้องซื้อกินเอง ควรหลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์แก้อาการปวดเมื่อย เช่น ยากลุ่ม NSAIDs และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ที่มีโรคอื่น ๆ เช่น โรคที่ร่างกายมีภูมิต้านทานผิดปกติและไปทำลายไต ไตอักเสบจากการติดเชื้อ โรคนิ่วในไต และโรคเก๊าท์ เป็นต้น
เมื่อไหร่ที่ควรตรวจคัดกรองโรคไต?
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตมักไม่มีอาการให้เห็นในช่วงเริ่มต้น การตรวจคัดกรองโรคไตอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราทราบสุขภาพไต ทำให้สามารถป้องกัน ลดความเสี่ยง หรือช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งอาการที่อาจบ่งบอกว่ามีไตเสื่อมมีทั้งอาการของไตเสื่อมระยะเริ่มแรก และในระยะรุนแรงหรือระยะท้ายซึ่งอาการจะรุนแรงและชัดเจนมากขึ้น คือ
- อาการไตเสื่อมระยะเริ่มแรก: มีปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน บวมกดบุ๋ม ปัสสาวะเป็นฟอง/เป็นเลือดปน
- อาการไตเสื่อมระยะรุนแรง: เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ซีด เลือดจาง มีจ้ำ หรือรู้สึกคันตามตัว มีภาวะน้ำท่วมปอด ถ้าของเสียคั่งมากอาจทำให้สมองหยุดทำงานหรือมีอาการชักได้
ดังนั้นการคัดกรองโรคไตจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยและไม่ควรรอจนมีอาการผิดปกติก่อนแล้วจึงเข้ารับการตรวจ เพราะหากมีอาการชัดเจนแล้วแสดงว่าเนื้อเยื่อไตสูญเสียการทำงานไปมากแล้ว จะยิ่งทำให้ไม่สามารถรักษาหรือฟื้นฟูให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้ อีกทั้งหากอาการรุนแรงจนถึงระยะสุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา นอกจากนี้การเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนอกจากจะบอกทำงานของไตได้แล้ว ยังอาจตรวจพบโรคอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ ซึ่งช่วยให้เราสามารถดูแลรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามได้อีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม อาการของผู้ป่วยโรคไต
ตรวจคัดกรองไต ตรวจอะไรบ้าง?
ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าการตรวจคัดกรองโรคไตมีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเพราะจะช่วยคัดกรอง และป้องกันภาวะไตวายที่รุนแรงและโรคไตชนิดอื่น ๆ โดยการตรวจคัดกรองโรคไตจะประกอบไปด้วย
- การตรวจเลือด ซึ่งจะบอกถึงการทำงานของไตและความเสี่ยงโรคไตที่ซ่อนอยู่ ได้แก่
1.1 ระดับการทำงานของไต
1.2 ความผิดปกติของเม็ดเลือด
1.3 ระดับน้ำตาลในเลือด/น้ำตาลสะสมในเลือด
1.4 ระดับไขมันในเลือด - การตรวจปัสสาวะ และโปรตีนในปัสสาวะ โดยถ้ามีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในปัสสาวะ จะแสดงถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติ
- การตรวจอัลตร้าซาวน์ระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเป็นการตรวจที่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างและลักษณะของไต รวมไปถึงลักษณะหรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะได้ เช่น เนื้องอกของไต ก้อนที่ไต นิ่วที่ไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือการฉีกขาดของไตและทางเดินปัสสาวะ
การเตรียมตัวก่อนตรวจคัดกรองไต
- งดอาหารและเครื่องดื่ม 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- การตรวจอัลตร้าซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ จะต้องตรวจขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร เพื่อจะได้เห็นกระเพาะปัสสาวะได้ชัดเจน ดังนั้นอาจต้องดื่มน้ำเยอะ ๆ ก่อนตรวจเพื่อให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมาก ๆ
- หากมียาที่รับประทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดยาเหล่านั้นก่อนตรวจหรือไม่
สรุป
เนื่องจากโรตไต เป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงในระยะแรก และจะแสดงอาการเมื่อไตสูญเสียการทำงานไปมากแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรองโรคไตเป็นประจำ และหากตรวจพบความผิดปกติควรรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อรักษาการทำงานของไตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะหากประมาทและไม่สังเกตความผิดปกติของร่างกายจนเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย จะต้องได้รับการรักษาโดยบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งจะต้องรอไตที่ได้รับบริจาคเป็นเวลานาน และต้องได้รับการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย