ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีสำคัญต่อร่างกาย ดังนั้นโรคไตจึงถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง และคนรอบข้างที่ต้องดูแลผู้ป่วย ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต และในจำนวนนั้นก็มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องทำการรักษาโดยเร่งด่วนในปัจจุบัน การปลูกถ่ายไตนั้น ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับการที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
การผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือปลูกถ่ายไต คืออะไร ?
การผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือการปลูกถ่ายไต คือ การบำบัดทดแทนไตในการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยนำไตที่ยังทำงานดีมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายไตนั้นเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพราะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่า 80- 90% ขึ้นอยู่กับชนิดของไตที่ได้รับ และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตนั้นจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นใกล้เคียงกับคนทั่วไป ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนจากการฟอกไต และมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตไปตลอดชีวิต
ปลูกถ่ายไตแล้ว อยู่ได้นานแค่ไหน ?
ปลูกถ่ายไต อยู่ได้กี่ปี ? เป็นคำถามที่ผู้ต้องการจะผ่าตัดปลูกถ่ายไตทุกคนล้วนอยากรู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะระบุเป็นตัวเลขว่าผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้นานกี่ปีนั้น ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เพราะจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งเรื่องของความเข้ากันได้ของไตที่นำมาเปลี่ยน และโรคร่วมที่เป็นอยู่
ซึ่งถ้าเป็นไตที่มาจากญาติพี่น้องที่เนื้อเยื่อสามารถเข้ากันได้ และมาจากบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติและทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นก็มีสูงขึ้น แต่ถ้าเป็นไตที่มาจากบุคคลอื่น หรือมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว แม้โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติก็จะลดลง แต่ก็ยังคงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก
และจากข้อมูลทางสถิติโดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 พบว่าผู้ป่วยที่สามารถอยู่ได้ถึง 10 ปี หลังจากการปลูกถ่ายไตนั้นมีจำนวนมากถึง 78.2 % เลยทีเดียว นั่นหมายถึงว่าจากผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วยถึง 78 คนที่สามารถอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการผ่าตัดไตสำเร็จนั้นค่อนข้างสูงในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการประสบความสำเร็จ และการที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างยืนยาวก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
ไตที่ปลูกถ่าย รับจากใครได้บ้าง ?
เมื่อแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคไตประเมินผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่มีเกณฑ์ของร่างกายที่เหมาะสม สามารถเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้แล้วนั้น จะมีการรับบริจาคไตจากผู้บริจาค 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตอยู่
1.1 ผู้บริจาคเป็นคนในครอบครัวเดียว เช่น พ่อ แม่ ลูก หรือญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด
1.2 ผู้บริจาคเป็นคู่สมรส โดยมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรส หรืออยู่ด้วยกินกันฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายไต (กรณีมีบุตรร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องใช่ระยะเวลา 3 ปี) - ผู้บริจาคไตจากสภากาชาดที่เป็นผู้มีภาวะสมองตาย ผู้บริจาคไตและผู้ป่วยที่รับไตจะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดก่อนว่ามีกรุ๊ปเลือดเข้ากันได้ และมีเนื้อเยื่อในร่างกายที่เข้ากันได้ จึงจะอนุญาตให้ผ่าตัดเปลี่ยนไตได้
โดยการเปลี่ยนไตที่จะได้รับผลสำเร็จที่ดีที่สุดเรียงตามลำดับ คือ1. การเปลี่ยนไตระหว่างพี่น้องฝาแฝด จะมีโอกาสได้รับผลสำเร็จสูงที่สุด
2. พี่น้องท้องเดียวกันที่มีสภาพเนื้อเยื่อเหมือนกัน
3. พ่อ แม่ ลูก หรือพี่น้องท้องเดียวกันที่มีสภาพเนื้อเยื่อเหมือนกันบางส่วน
4. ผู้มีสภาวะสมองตายที่ไม่ใช่พี่น้องของผู้ป่วย ซึ่งได้รับการตรวจเลือดกรุ๊ปและเนื้อเยื่อแล้วว่าใกล้เคียงและเข้ากันได้ดีกับผู้ป่วย จะมีโอกาสสำเร็จเป็นอันดับท้ายสุด
ทั้งนี้การเปลี่ยนไตโดยการซื้อขายไตจากบุคคลอื่นที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ใช่ญาติพี่น้องของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิดกฎหมายและเป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วโลกยังไม่ให้การยอมรับ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณทางการแพทย์ และศีลธรรมรวมถึงปัญหาทางกฎหมาย เพราะอาจเกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ขโมยไตโดยผู้บริจาคไม่ยินยอม หรือเป็นการซื้อขายไตกัน
ชีวิตหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?
การดูแลตัวเองหลังจากการเปลี่ยนไตนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการดูแลตัวเองที่ดีนั้นจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยวิธีการปฏิบัติตัวหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไตแล้วมี ดังนี้
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการร่างกายปฏิเสธไต ซึ่งยากลุ่มนี้จะทำให้ภูมิต้านทานร่างกายลดลง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ สูงขึ้นกว่าคนปกติ และเมื่อติดเชื้อแล้วอาการก็จะรุนแรงมากกว่า ดังนั้นผู้ปลูกถ่ายไตต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อทุกชนิด
- ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง และต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะผิดปกติ มีปวดบวมแดงร้อนบริเวณแผลผ่าตัดวางไตใหม่ มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกจากแผลผ่าตัด ท้องเสีย เหนื่อยหอบ ปวดแผล ปวดบริเวณไตใหม่ มีแผลแบบเริม/งูสวัด ฯลฯ
- รับประทานอาหารที่สะอาดให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด และควบคุมน้ำหนัก ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรลดอาหารรสเค็ม ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรเลือกลักษณะงานที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่สะอาด อับชื้น ถ้าหากต้องสัมผัสสิ่งสกปรก ควรสวมถุงมือยาง สวมผ้าปิดปากทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จรจัด
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ คำนึงถึงความสะอาดของร่างกาย เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ระมัดระวังโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด คอยติดตามดูแลโรคประจำตัวเดิมก่อนเปลี่ยนไต เช่น SLE เบาหวาน หอบหืด
- ทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ไม่ควรออกแรงหรือทำงานหักโหมจนเกินไป และควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- การไปเที่ยวและการเดินทาง ควรเลือกสถานที่ ที่มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และควรมีโรงพยาบาลที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
หลังปลูกถ่ายไต กินอะไรได้บ้าง ?
ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไต ควรระมัดระวังด้านการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เนื่องจากไตซึ่งมีหน้าที่รักษาสมดุลของแร่ธาตุในเลือดนั้น มีประสิทธิภาพการทำงานลดลง การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจึงเป็นการไม่เพิ่มภาระให้กับไตนั่นเอง
- โปรตีน ผู้ป่วยควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอเน้นเป็นกลุ่มโปรตีนที่มีคุณภาพ (High biological value protein) เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ (เน้นไข่ขาว)
- โซเดียม ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตที่แพทย์กำหนดให้จำกัดปริมาณโซเดียม ควรเลือกบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการแปรรูป หมักดอง กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงหลีกเลี่ยงผงชูรสและน้ำจิ้มต่าง ๆ
- โพแทสเซียม ผู้ป่วยที่ยังคงมีฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซี่ยมสูงซึ่งพบในพืชผักผลไม้ที่มีสีเข้มอย่างคะน้า แครอท ผักโขม ชะอม มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ หน่อไม้ ฟักทอง ทุเรียน กล้วยหอม ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ ขนุน เป็นต้น
- ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงเช่น ไข่แดงของสัตว์ทุกชนิด ปลาที่กินทั้งก้าง เครื่องในสัตว์ แมลงทุกชนิด อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง อาหารจานด่วนต่าง ๆ นมและอาหารที่มีส่วนผสมของนม น้ำอัดลมสีเข้ม เบียร์ น้ำแร่ กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้ ยีสต์ ผงฟู เบเกอรี่ต่าง ๆ และ ถั่วต่าง ๆ
- ไขมัน ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงต้องควบคุมอาหารประเภทไขมัน หลีกเลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ อาหารที่มีคอเรสเตอรอลสูง หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารมื้อดึก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สรุป
แม้การปลูกถ่ายไตนั้นอาจจะเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน แต่ถ้าหากทำโดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อย่าง สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า เพื่อดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการปลูกถ่ายไตแล้ว การปลูกถ่ายไตนั้นก็จะมีโอกาสสำเร็จสูง มีความเสี่ยงต่ำ และหลังจากการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของไตที่ได้รับ และการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็จะทำให้ตัวผู้ป่วยเองนั้นมีอายุที่ยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้ไม่ต่างกับคนทั่วไป
อ้างอิง : http://www.transplantthai.org/knowledge.php?news_id=0