บทความสุขภาพ

Knowledge

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

นพ. ดิษณ์กร คชไกร

ต้อหิน (Glaucoma) เป็นภัยเงียบที่คอยคุกคามดวงตาของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับอาการต้อหิน กว่าจะรู้ตัวอีกทีอาการก็รุนแรงจนยากที่จะชะลออาการสูญเสียการมองเห็น ในบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงความอันตรายของโรคต้อหิน และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลการสังเกตสภาพดวงตาของตนเอง เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีและสามารถมองเห็นไปได้อีกนาน


Key Takeaways


  • ต้อหิน คือโรคตาที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นถาวร หากไม่ได้รับการรักษาชะลออาการอย่างเหมาะสม อาจสูญเสียการมองเห็นได้ถาวร
  • ต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้เอง และการมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยภายนอกที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น การควบคุมโรคประจำตัว การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับดวงตา เป็นต้น
  • การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง มีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากหากตรวจพบโรคต้อหินแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาการมองเห็นเอาไว้ได้มากกว่า

ต้อหินคืออะไร ทำไมจึงเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล


โรคต้อหิน (Glaucoma) คือ โรคตาชนิดหนึ่ง ที่ขั้วประสาทตาถูกทำลายจนเกิดการเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียลานสายตา มีการมองเห็นแคบลง และค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะตาบอดในที่สุด ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นนั้นจะเป็นไปอย่างถาวร ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมามองเห็นได้ดีขึ้นดังเดิม ทั้งนี้ สามารถควบคุมและชะลอไม่ให้ขั้วประสาทตาเสื่อมมากขึ้น เพื่อคงการมองเห็นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด


ต้อหินเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล เนื่องจากส่วนมากไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตัวเองป่วยโรคนี้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เริ่มสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว ทำให้การรักษาเพื่อชะลออาการของโรคไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหินมีอะไรบ้าง


โรคต้อหินมีสาเหตุที่พบบ่อยคือ ‘ภาวะความดันลูกตาสูง’ ซึ่งเกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถระบายออกและสะสมอยู่ในลูกตามากเกินไป จนทำให้ความดันลูกตาสูงและไปกดทับเส้นประสาทตา ขั้วประสาทตาจึงค่อย ๆ ถูกทำลายและเสื่อมลง


และอีกหนึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือการที่ขั้วประสาทตาถูกทำลายโดยการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ความดัน โดยที่โรคต้อหินที่เกิดจากสาเหตุนี้จะไม่พบความดันลูกตาสูง


ในส่วนของปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคต้อหินมีดังต่อไปนี้


  • ตรวจพบภาวะความดันตาสูงกว่าค่าปกติ หรือมากกว่า 21 มม.ปรอท
  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่อง ทั้งชนิดทานหรือหยด
  • เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกัน เสี่ยงต่อต้อหินชนิดมุมเปิด ส่วนเชื้อชาติเอเชีย จะเสี่ยงต่อต้อหินชนิดมุมปิด
  • มีประวัติอุบัติเหตุเกี่ยวกับตา
  • มีโรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาอักเสบ
  • มีค่าสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ
  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการของโรคต้อหิน


ต้อหิน อาการ

ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคต้อหิน นั่นเป็นเพราะโรคต้อหินอาการเริ่มต้นในระยะแรกนั้นไม่มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนชัดเจน ซึ่งอาการที่พบ เช่น มองเห็นแคบลง หรืออาจมีอาการปวดศีรษะปวดตาร่วมด้วย แต่ล้วนเป็นอาการที่อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าไม่รุนแรงจึงปล่อยปละละเลยไป ไม่รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไปเป็นหลักปีหรือสิบปี กว่าจะเริ่มแสดงอาการที่ชัดเจน ได้แก่ การมองเห็นแคบลงมากจนแทบจะมองไม่เห็นแล้ว หรือปวดตาปวดศีรษะเรื้อรัง ก็มักจะตรวจพบโรคต้อหินที่ขั้วประสาทตาเสื่อมไปมากแล้ว


แต่สำหรับโรคต้อหินชนิดเฉียบพลันจะแสดงอาการที่เด่นชัดต่างจากโรคต้อหินทั่วไป เนื่องจากความดันลูกตาสูงเฉียบพลันและไปกดทับเส้นประสาทตา จนสร้างความเสียหายให้กับขั้วประสาทตา ซึ่งอาการที่พบและสังเกตได้มีดังนี้


  • ปวดศีรษะ ปวดตารุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • การมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว มองเห็นแคบลง มองไม่ชัด
  • เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
  • ตาแดง น้ำตาไหล
  • กระจกตาบวมหรือขุ่นจนสังเกตเห็นได้

โรคต้อหินมีกี่ชนิด


โรคต้อหินสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามสาเหตุการเกิดโรคหลัก ๆ ดังนี้


ต้อหินปฐมภูมิ


ต้อหินปฐมภูมิเป็นชนิดต้อที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีภาวะความดันลูกตาสูงร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ สามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบย่อย ได้แก่


ต้อหินมุมปิด


  • เกิดจากม่านตาไปปิดกั้นที่มุมตา จนเกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา
  • มีอาการปวดตาเฉียบพลัน ตาแดง ตามัว คลื่นไส้อาเจียน
  • มีโอกาสรักษาหายขาดได้ หากรักษาเร็ว

ต้อหินมุมเปิด


  • เกิดจากการอุดตันหรือการตีบของท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงตาที่อยู่ระหว่างกระจกตาดำและกระจกตาขาว
  • พบบ่อยกว่า การดำเนินโรคช้า ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสูญเสียการมองเห็นถาวร
  • เส้นประสาทตาค่อย ๆ ถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะมีลานสายตาค่อย ๆ แคบลงเรื่อย ๆ อาจมีการเดินชนสิ่งของรอบข้าง จนถึงระยะท้ายของโรค ตาจึงจะมัวทั้งหมด
  • พบได้ทั้งชนิดความดันตาสูง และความดันตาปกติ
  • ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถชะลอการเสื่อมของขั้วประสาทตาได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ต้อหินทุติยภูมิ


ต้อหินทุติยภูมิเป็นชนิดต้อที่มีปัจจัยอื่นเข้ามากระตุ้นให้เกิดอาการขั้วประสาทตาเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น


  • โรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา, โรค SLE เป็นต้น
  • โรคตาอื่น ๆ เช่น ตาอักเสบ, เนื้องอกในลูกตา, ต้อกระจก เป็นต้น
  • เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน

ต้อหินแต่กำเนิด


ต้อหินแต่กำเนิดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีตาดำที่ใหญ่กว่าปกติ หรือมีความขุ่น กลัวแสงและน้ำตาไหล


การวินิจฉัยโรคต้อหิน


การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินสามารถทำได้ด้วยการตรวจตาด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่


  • การตรวจความดันลูกตา หากพบความดันลูกตาสูงกว่าปกติก็มีโอกาสเกิดโรคต้อหินมากขึ้น
  • การตรวจขั้วประสาทตา ทำให้แพทย์เห็นลักษณะโครงสร้างของขั้วประสาทตาว่าเสื่อมหรือเสียหายหรือไม่
  • การตรวจการมองเห็น เพื่อดูว่าผู้ป่วยยังสามารถมองเห็นภาพกว้างปกติหรือไม่ สูญเสียลานสายตาไปแค่ไหน
  • การตรวจวัดมุมระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกชนิดของต้อหินได้ว่าเป็นชนิดไหน

การรักษาโรคต้อหิน


รักษาต้อหิน

โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขั้วประสาทตาที่เสียหายไปไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้สามารถชะลออาการไม่ให้ขั้วประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นได้ด้วยการรักษาแบบประคับประคอง ดังนี้


  • การรักษาด้วยยา ปัจจุบันมียาหลายชนิดและได้ผลค่อนข้างดี เป็นวิธีหลักที่จักษุแพทย์ส่วนใหญ่เลือกใช้ มีทั้งรูปแบบยาหยอดตา ยารับประทาน และยาฉีด ซึ่งแพทย์จะจ่ายให้ตามความเหมาะสม
  • การใช้เลเซอร์ สามารถใช้รักษาต้อหินบางชนิดได้ ช่วยลดความดันลูกตาลงได้ ใช้เวลาทำหัตถการไม่นาน แพทย์มักจะใช้การรักษานี้ควบคู่กับการใช้ยาเพื่อควบคุมความดันลูกตา
  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อควบคุมความดันลูกตาเท่านั้น แต่ตัวโรคไม่หายขาด จะใช้เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยยาและเลเซอร์ไม่ได้ผล

นอกจากนี้ จักษุแพทย์ยังให้คำแนะนำว่า หากมีปัจจัยเสี่ยง หรือสงสัยจะเป็นต้อหิน ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาโดยเร็ว บุคคลทั่วไป แนะนำให้ตรวจสุขภาพตาเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งการตรวจวินิจฉัยต้อหินในปัจจุบัน สามารถตรวจอย่างละเอียดโดยเครื่องสแกนวิเคราะห์ขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography) เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photography) และเครื่องตรวจลานสายตา (Visual field test) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจพบต้อหินได้เร็วยิ่งขึ้น


แนวทางการป้องกันโรคต้อหิน


การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต้อหินทุติยภูมิที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ และสำหรับโรคต้อหินที่เกิดขึ้นเองนั้น การป้องกันและดูแลตนเองให้เหมาะสมก็สามารถชะลอไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น โดยแนวทางการป้องกันโรคต้อหินสามารถทำได้ดังนี้


  • เข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • กรณีผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีโรคประจำตัว สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ หรือเคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา ให้เข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ตามคำแนะนำ
  • กรณีที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เช่น มองได้แคบลง ปวดตามาก มองเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการ
  • หากมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด ควรเข้ารับการรักษาและควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายได้
  • ปกป้องดวงตาด้วยอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อต้องทำงานหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับดวงตา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาที่ไม่ได้จ่ายโดยแพทย์

โรคต้อหินรักษาไม่หายขาด แต่ชะลอได้ เพื่อรักษาการมองเห็นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด


โรคต้อหินเป็นโรคตาที่หากเป็นแล้วจะไม่สามารถคืนการมองเห็นที่เสียไปเเล้วได้ และการประคับประคองอาการเพื่อรักษาระดับการมองเห็นเอาไว้ให้ได้มากที่สุดจำเป็นจะต้องอาศัยการดูแลของจักษุแพทย์ที่เหมาะสม ร่วมกับการดูแลตนเองของผู้ป่วย


ทั้งนี้เพื่อไม่ให้โรคต้อหินทำลายวิถีชีวิตของคุณ การเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีจึงมีความสำคัญ แพ็กเกจตรวจสุขภาพตา Eye Examination โดยจักษุแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้บริการตรวจสุขภาพตาตั้งแต่การตรวจสายตา, วัดระดับการมองเห็น, วัดความดันลูกตา, ตรวจจอประสาทตา, ตรวจขั้วประสาทตา และอื่น ๆ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้จักษุแพทย์สามารถรักษาการมองเห็นของผู้ป่วยเอาไว้ได้มากที่สุด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต้อหิน


1. ต้อหินทำให้ตาบอดจริงไหม?


ต้อหินทำให้ตาบอดได้จริง เนื่องจากขั้วประสาทตาถูกทำลายทำให้ลายสายตาแคบลง เมื่อสูญเสียลานสายตาไปทั้งหมด จึงทำให้ตาบอดสนิท


2. ความดันตาเท่าไรถึงเป็นต้อหิน?


ความดันลูกตาสูงกว่า 21 มม.ปรอทมีโอกาสที่จะเกิดโรคต้อหินได้สูง แต่ไม่อาจวินิจฉัยได้ด้วยความดันลูกตาสูงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากต้องใช้การตรวจตาเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสียหายของตาร่วมด้วย


References


Boyd, K. (2024, October 29). Understanding Glaucoma: Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment. American academy of ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-glaucoma


Glaucoma. (2024, February 26). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/glaucoma/


Mayo Clinic Staff. (n.d.). Glaucoma. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/glaucoma/symptoms-causes/syc-20372839

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ดิษณ์กร คชไกร

นพ. ดิษณ์กร คชไกร

ศูนย์จักษุ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital