บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคไตไม่ไกลตัว

ปัจจุบันโรคไตเป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยหลาย ๆ คนเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจนต้องเข้ารับการฟอกไต หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวนักศึกษาวิชาทหารที่ฝึกหนักจนไตวายเฉียบพลันต้องเข้าโรงพยาบาล เคยสงสัยไหมว่าแล้วโรคนี้มันคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และจริงหรือไม่ที่กินเค็มแล้วทำให้เป็นโรคไต บทความนี้มาชวนทำความรู้จักกับโรคไต เพื่อที่เราจะได้ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต


โรคไตเกิดจากอะไร?


ไตเป็นอวัยวะในท้องทางด้านหลัง มีรูปร่างคล้ายถั่ว ไตมีสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณกำมือ หน้าที่หลักของไต คือ กรองน้ำส่วนเกินและกรองของเสียในเลือดให้ออกมาเป็นปัสสาวะเพื่อกำจัดทิ้ง โดยการกรองเลือดนี้จะเกิดจากการทำงานของหน่วยไตขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากมายภายในไต


โรคไตเป็นโรคที่ไตเกิดการบาดเจ็บ หรือมีความเสียหายกับหน่วยไตซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของไตที่ทำหน้าที่กรองน้ำและของเสีย จนทำให้ไตไม่สามารถกรองเลือดได้เหมือนปกติ ซึ่งการบาดเจ็บของไตนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคไตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไตวายเฉียบพลัน และ กลุ่มไตวายเรื้อรัง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสาเหตุการเกิดโรคที่ต่างกัน


ไตวายเฉียบพลัน


ไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI) คือไตเสียหายอย่างรวดเร็วทันที ในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน โดยไตวายเฉียบพลันจะทำให้มีอาการปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะสีผิดปกติ ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ อ่อนเพลีย มึนงงสับสน คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกใจสั่น เป็นต้น


สาเหตุของไตวายเฉียบพลันมักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงไต เช่น


  • ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • มีกล้ามเนื้อสลายตัวอย่างรุนแรง
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม NSAIDS หรือยาสมุนไพรบางชนิด

ไตวายเฉียบพลันอันตรายไหม?


ไตวายเฉียบพลันอันตรายแน่นอน เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ระดับสารน้ำและของเสียในเลือดจะผิดปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด แต่ถ้าได้รับการรักษาได้ทันเวลา ก็มีโอกาสที่ไตจะหายกลับมาเป็นปกติได้


ไตวายเรื้อรัง


ไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) คือ ภาวะที่ไตค่อย ๆ เสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี โดยความน่ากลัวของโรคไตวายเรื้อรัง คือ มักจะไม่มีอาการใด ๆ ในช่วงแรก จนกว่าไตจะเหลือการทำงานแค่ 1 ใน 4 จึงจะเริ่มมีอาการผิดปกติให้ผู้ป่วยรู้ตัว โดยอาการของไตวายเรื้อรังจะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้กับหลาย ๆ ระบบของร่างกาย เช่น ขาบวม มีอาการคันตามผิวหนัง ผิวแห้ง เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย น้ำท่วมปอด ปวดหลัง เป็นตะคริว กระดูกพรุน ซีด เลือดออกง่าย เป็นต้น


สาเหตุของไตวายเรื้อรัง


ที่พบบ่อยที่สุด คือ


  • โรคเบาหวาน: ในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลที่สูงนี้จะไปทำลายเนื้อเยื่อไต ทำให้การทำงานของไตเสียไป
  • ความดันเลือดสูง: ผู้ป่วยโรคความดันสูงที่ควบคุมระดับความดันได้ไม่ดี จะมีความดันในหลอดเลือดที่สูงตลอดเวลา ความดันในหลอดเลือดที่สูงนี้จะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อของไตเสียหาย

โรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังได้ เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม, โรคไตอักเสบ (glomerular disease) และ โรคลูปัส หรือโรค SLE (systemic lupus erythematosus) หรือที่คนไทยรู้จักกันว่าโรคพุ่มพวง


โรคไตมีกี่ระยะ?


โรคไตเรื้อรังมีระยะการดำเนินของโรคตามระดับการทำงานของไตที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งประเมินได้จากค่า estimated glomerular filtration rate (eGFR) ที่ได้จากการตรวจเลือด ซึ่งเป็นค่านี้เป็นค่าที่แสดงถึงการทำงานของไต โดยมีด้วยกัน 5 ระยะ คือ


  1. eGFR >90 ml/min: ไตยังทำงานได้เกิน 90%
  2. eGFR 60-89 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 60-89%
  3. eGFR 30-59 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 30-59%
  4. eGFR 15-29 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 15-29%
  5. eGFR <15ml/min: ไตแทบไม่ทำงานแล้ว ต้องได้รับการรักษาเพื่อทดแทนการทำงานของไต เช่น การฟอกไต หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต

โรคไตกับอาการคันตามตัว


โรคไตวายเรื้อรังทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนังตามมาได้ โดยมีชื่อเรียกว่า uraemic pruritus หรือ CKD-associated pruritus สาเหตุของอาการคันมีหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือมีระดับของของเสีย (ยูเรีย) ในเลือดสูง โดยพบประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย อาการคันตามตัวนี้ไม่เกิดในผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลัน อาการคันมักเกิดที่บริเวณแผ่นหลัง แต่ก็อาจมีอาการที่แขน ศีรษะ และท้องได้ โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่ง (ประมาณ 40%) จะมีอาการคันได้ทั้งตัว และอาการคันมักเปลี่ยนแปลงตามช่วงการฟอกไต ซึ่งอาการคันนี้มักจะรบกวนการนอนของผู้ป่วย หรือหากมีการเกา อาจทำให้เกิดบาดแผลหรือมีเลือดออกที่ผิวหนังได้ ดังนั้นหากมีอาการคันควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้จ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการคัน


ปวดไตหรือปวดหลัง?


มีโรคไตบางโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาได้ เช่น นิ่วในไต กรวยไตอักเสบ เป็นต้น และด้วยความที่ไตเป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านหลังของช่องท้อง ติดกับซี่โครงด้านหลัง ทำให้อาการปวดไตกับปวดหลังมีความใกล้เคียงกัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ปวดนี่เป็นปวดหลังจากไตหรือเปล่า? จุดแตกต่างที่พอจะแยกอาการได้ คือ ปวดไตมักจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าอาการปวดหลังทั่วไปที่มักจะปวดตรงกลางของหลังส่วนล่าง แต่อาการปวดไตมักจะทำให้รู้สึกปวดลึก ตำแหน่งใต้ซี่โครง ด้านซ้ายหรือขวาของสันหลัง และอาจรู้สึกปวดท้องหรือขาหนีบร่วมด้วย


โรคไตกับการกินเค็ม


หลายท่านอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่ากินเค็มทำให้เป็นโรคไต สิ่งที่ทำให้อาหารมีรสชาติเค็มก็คือเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ในการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การรับประทานเกลือต่อวันในปริมาณที่สูงเป็นประจำจะลดความสามารถในการทำงานของไตในระยะยาว และการลดการบริโภคเกลือในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังช่วยลดการเสียโปรตีนออกมากับปัสสาวะ และช่วยชะลอความเสียหายของไตได้


นอกจากการกินเค็มแล้ว อาหารอีกกลุ่มที่มีผลต่อโรคไตก็คือ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น รวมไปถึงอาหารหมักดองอื่น ๆ ซึ่งอาหารแปรรูปเหล่านี้เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงจากการใส่สารปรุงแต่งรส และสารที่ใช้ถนอมอาหาร การรับประทานอาหารเหล่านี้จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงแม้ว่าจะไม่รู้สึกว่ามีรสชาติเค็ม การวิจัยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีพบว่า การรับประทานอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ไขมันอิ่มตัว และขนม ในปริมาณมากเป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลง


ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และควรเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต เช่น อาหารที่ปรุงสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หรืออาหารรสจัด เป็นต้น


ปัจจัยเสี่ยงของโรคไต


ปัจจัยเสี่ยงของโรคไตวายเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ โรคเบาหวานและโรคความดันเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ สูงอายุ โรคหัวใจ โรคอ้วน ประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว โรคไตแต่กำเนิด โรคที่ทำให้เกิดความเสียหายกับไต เช่น นิ่วในไต เป็นต้น


เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังในระยะแรก ๆ จะไม่แสดงอาการใด ๆ การวินิจฉัยโรคไตจึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของไต และการตรวจดูลักษณะของไตผ่านการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


การรักษาโรคไต


โรคไตวายเรื้อรังในระยะแรก ๆ ที่ไตยังมีการทำงานที่เพียงพอ จะรักษาโรคไตในระยะนี้จะเป็นการรักษาโดย


  • กาารักษาด้วยยา
  • การคุมอาหาร

เพื่อชะลอการเสียหายของไตให้เสียหายช้าลงหรือไม่ให้เนื้อเยื่อไตเสียหายเพิ่ม แต่หากโรคดำเนินไปจนเป็นไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นระยะที่ไตทำงานไม่ได้แล้ว ก็จะมีแนวทางการรักษาเพื่อทดแทนไต ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ


  • การล้างไตหรือฟอกไตผ่านทางช่องท้องด้วยน้ำยา
  • การใช้เครื่องฟอกเลือดหรือไตเทียม

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็คือ ให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ผ่านการดูแลรักษาตนเองอย่างถูกวิธี


สรุป


โรคไตเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และที่สำคัญคือโรคไตเรื้อรังมักไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกว่าไตจะเสียหายไปมากแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไต จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น ทำให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะชะลอการดำเนินของโรคได้ และสามารถรักษาเนื้อไตที่ยังไม่เสียหายไว้ได้


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง (2)

ดูทั้งหมด

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

฿ 2,790

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

฿ 4,500

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital