การหกล้ม หนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อเราหกล้มเรามักใช้มือในการป้องกันการกระแทกส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้น กระดูกข้อมือหัก จึงกลายเป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะในคนอายุเท่าใดก็ตาม และมือก็เป็นอวัยวะสำคัญที่เราต้องใช้เป็นประจำทุกวัน กระดูกข้อมือหักจึงส่งผลกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างมาก การดูและรักษาที่เหมาะสมเมื่อเกิดกระดูกข้อมือหักจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น เพื่อให้เราสามารถกลับมาใช้งานมือได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
การรักษากระดูกข้อมือหัก จะเป็นการใส่เฝือกหรือการผ่าตัดดามโลหะ ต้องพิจารณาร่วมกันหลายปัจจัย เช่น ลักษณะการแตกหักเข้าไปในผิวข้อหรือนอกข้อ แตกน้อยหรือแตกละเอียด การเคลื่อนผิดรูปของส่วนที่หัก สภาวะกระดูกของผู้ป่วย ข้างที่หัก อาชีพ อายุ หรือความต้องการใช้งานของผู้ป่วย เป็นต้น
การรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยทุกราย ควรใส่เฝือกดามส่วนที่หักไว้ให้มั่นคงก่อน เพื่อลดปวดให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมของเนื้อเยื่อ กระดูกที่หักโดยเฉลี่ยจะเริ่มเชื่อมติดกันใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ ดังนั้นกรณีที่รักษาโดยการใส่เฝือกจึงต้องใส่ไว้อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์เช่นกัน โดยต้องระวังไม่ให้เฝือกถูกน้ำหรือเสียหาย เพราะอาจทำให้กระดูกที่หักเคลื่อนผิดรูปมากขึ้น
กรณีผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษา การผ่าตัดรักษากระดูกข้อมือหักอาจทำภายใต้การระงับความรู้สึกของเส้นประสาทที่แขน หรือดมยาสลบ และเปิดแผลผ่าตัดขนาด 4-5 เซนติเมตร เข้าไปจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ แล้วใช้แผ่นโลหะและสกรูในการยึดตรึงกระดูกให้มั่นคงแข็งแรงใกล้เคียงก่อนแตกหักมากที่สุด ใช้เวลาผ่าตัดประมาณหนึ่งชั่วโมง หลังการผ่าตัดดามกระดูกเรียบร้อยจึงเสมือนว่ากระดูกเชื่อมติดกัน ดังนั้นผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวขยับใช้งานข้อมือและนิ้วมือเบาๆได้ทันที (บางกรณีอาจมีการใส่เฝือกอ่อนดามข้อมือไว้ชั่วคราว 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด)