บทความสุขภาพ

Knowledge

ทำเลสิค ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องรู้ข้อมูลใดบ้าง ?

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ, พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

การแก้ปัญหาค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สามารถทำได้ด้วยการใช้ แว่นสายตา ใช้คอนแทคเลนส์ หรือใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีเลเซอร์ ที่หลายคนนิยมเรียกว่า “การทำเลสิค (LASIK)”


การทำเลสิคมีข้อดี คือ ไม่ต้องวุ่นวายกับการสวมใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ทำให้มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น สะดวกในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบางชนิด และยังเหมาะกับคนที่จำเป็นต้องทำงานบางประเภท ที่มีข้อกำหนดห้ามใส่แว่นสายตา


นอกจากนี้ การทำเลสิคสำหรับบางคนที่เคยใช้แว่นสายตามาก่อน ถือเป็นการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้อีกด้วย ใครสนใจ วันนี้เราจะมาอธิบายการทำเลสิคอย่างละเอียดกัน!


เลสิค คืออะไร


การทำเลสิค (Lasik) คือ ชื่อเรียกโดยรวมของการปรับค่าสายตาด้วยการยิงเลเซอร์ที่กระจกตา คำว่า LASIK ย่อมาจาก Laser In Situ Keratomileusis เปรียบได้กับการเจียระไนกระจกตาให้ได้ความโค้งที่ต้องการเพื่อปรับให้ภาพคมชัด สามารถแก้ไขสายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงโดยกำเนิด โดยมุ่งเน้นการแก้ไขที่กระจกตาเป็นหลัก


เลสิค รักษาสายตาผิดปกติใดได้บ้าง


คนไข้ที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการทำเลสิคได้ เป็นผู้ที่มีปัญหาทางสายตา ดังนี้


  1. สายตาสั้น (Myopia) คนไข้ที่มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัด แต่จะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระจกตาที่โค้งมากเกินไป หรือกระบอกตายาวเกินไป
  2. สายตายาว (Hyperopia) คนไข้จะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัด ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระจกตาโค้งน้อยกว่าปกติ (แบน) หรือกระบอกตาสั้นเกินไป หรือหากเป็นสายตายาวตามวัย มักจะมาจากสาเหตุของกล้ามเนื้อตาที่เสื่อมสภาพลงตามวัย
  3. สายตาเอียง (Astigmatism) คนไข้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน เพราะมีการหักเหของแสงที่ตกกระทบโฟกัสที่จอประสาทตาไม่สม่ำเสมอในระนาบเดียวกัน
  4. สายตาสั้นด้วย และมีสายตายาวตามวัยด้วย อาการนี้เกิดจากกระบวนการสายตาสั้นตามปกติ ซึ่งเกิดจากกระจกตาโค้งเกินไปหรือกระบอกตายาวเกินไป ทำให้มองไกลได้ไม่ชัด แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่ใช้หักเหแสงของกระจกตาเริ่มเสื่อมลง จึงไม่มีกำลังมากพอที่จะบีบกระจกตาให้โป่งออกเป็นเลนส์นูนได้เหมือนเดิม ทำให้มองใกล้ได้ไม่ชัด กรณีเช่นนี้ สามารถรักษาด้วยการทำเลสิคได้เช่นกัน

ทำเลสิค มีกี่แบบ แบบไหนดี?


2.Lasik-4-1.jpg

1. PRK (Photorefractive Keratectomy)


PRK (Photorefractive Keratectomy) คือ เป็นวิธีแก้ไขสายตารุ่นแรกสุด แต่ยังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ขั้นตอนการรักษาจะไม่แยกชั้นกระจกตา แต่จะลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุด (Epithelium) ออกก่อน แล้วใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ปรับความโค้งของกระจกตาอีกที ก่อนจะปิดกระจกตาด้วยคอนแทคเลนส์นาน 5-7 วันเพื่อลดอาการระคายเคืองตา ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 15-20 นาที


ค่าใช้จ่ายประมาณ : 30,000-50,000 บาท


จุดเด่น


  • รักษาค่าสายตาผิดปกติ ได้ทั้งกรณีสายตาสั้นไม่เกิน -600 สายตายาวไม่เกิน -500 และสายตาเอียงไม่เกิน -600
  • ไม่ต้องฉีดยาชา ใช้แค่ยาชาแบบหยอดตา
  • ไม่ต้องมีการเย็บแผล
  • ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีกระจกตาบาง ซึ่งไม่สามารถใช้การรักษาแบบแยกชั้นกระจกตาได้
  • เกิดตาแห้งน้อยกว่าวิธีเลสิค

ข้อจำกัด


  • มีโอกาสเกิดฝ้าที่กระจกตาได้ หากออกแดดบ่อย
  • อาจมีอาการระคายเคืองมากกว่าวิธีอื่น
  • ใช้เวลาฟื้นตัวช้ากว่าการทำเลสิค

ใครควรทำเลสิคประเภทนี้


  • ผู้ที่มีสายตาสั้นและเอียงไม่มาก
  • ผู้ที่มีอาการตาแห้งเรื้อรัง
  • ผู้ที่ถูกกำหนดให้ทำการรักษาด้วยวิธี PRK เท่านั้น เช่น การเตรียมตัวเข้าสอบบางอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น สอบนักบิน สอบเตรียมทหาร
  • ต้องทำกิจกรรมและกีฬาบางประเภทที่มีความเสี่ยง เช่น นักมวย
  • ผู้ที่มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยเทคนิคการแยกชั้นกระจกตา
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของกระจกตา ได้แก่ กระจกตาบางหรือผิดรูป มีประวัติกระจกตาถลอกง่าย มีประวัติกระจกตาดำมีการลอกหลุด มีประวัติเป็นแผลที่กระจกตา

2. เลสิคใบมีด (Lasik)


เลสิคใบมีด (Microkeratome LASIK, Blade LASIK, หรือ LASIK) คือ เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมสูง โดยใช้ใบมีดที่มีขนาดเล็กเปิดฝากระจกตาขึ้น ก่อนใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้ได้ค่าสายตาที่ต้องการ แล้วปิดกระจกตากลับเข้าที่เดิม ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 15-20 นาที


ค่าใช้จ่ายประมาณ : 30,000-50,000 บาท


จุดเด่น


  • รักษาค่าสายตาผิดปกติ ได้ทั้งกรณีสายตาสั้นไม่เกิน -1000 สายตายาวไม่เกิน -500 และสายตาเอียงไม่เกิน -600
  • ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อย
  • สามารถกลับมามองเห็นได้เต็มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว
  • อ่อนโยนต่อสภาพตา ระคายเคืองน้อย ทั้งในช่วงระหว่างผ่าตัดและหลังการผ่าตัด

ข้อจำกัด


  • ไม่สามารถใช้เทคนิคนี้กับผู้ที่มีภาวะกระจกตาบางหรือไม่สม่ำเสมอ
  • อาจเกิดรอยแผลบนผิวกระจกตา จากการแยกชั้นกระจกตา (แต่จะหายได้เอง)
  • มีโอกาสเกิดภาวะตาแห้งมากกว่าวิธีการทำเลสิคแบบอื่น และไม่เหมาะกับผู้ป่วยตาแห้งเรื้อรัง

ใครควรทำเลสิคประเภทนี้

ผู้ที่มีสายตาสั้นและเอียงไม่มาก มีสายตาสั้นและเอียงไม่เกิน 600


3.เฟมโตเลสิค (FemtoLASIK)


เฟมโตเลสิค (FemtoLASIK) คือ วิธีการรักษาที่ใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ในขั้นตอนการเปิดฝา กระจกตา จากนั้นจะปรับแต่งความโค้งของกระจกด้วยเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) เรียกได้ว่าใช้เลเซอร์เป็นหลักตลอดการรักษา โดยไม่ต้องใช้ใบมีดเปิดฝากระจกตา (Bladeless LASIK) จึงให้ความแม่นยำและความปลอดภัยที่ดีกว่าการทำเลสิคแบบใช้ใบมีด ระยะเวลาในการผ่าตัด 30 นาที


ค่าใช้จ่ายประมาณ : 70,000-100,000 บาท


จุดเด่น


  • รักษาค่าสายตาผิดปกติ ได้ทั้งกรณีสายตาสั้นไม่เกิน -1000 สายตายาวไม่เกิน -500 และสายตาเอียงไม่เกิน -600
  • ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • อ่อนโยน และก่อความระคายเคืองน้อย
  • ไม่ต้องฉีดยาชา ใช้แค่ยาชาแบบหยอดตา
  • ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะไม่ต้องผ่าตัด
  • สามารถกลับมามองเห็นได้เต็มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว
  • มีความแม่นยำในการแยกชั้นกระจกตาสูง

ข้อจำกัด


  • อาจเกิดรอยแผลบริเวณกระจกตา
  • หากมีอุบัติเหตุกระทบกระเทือนตาอย่างรุนแรงมีโอกาสฝากระจกตาเคลื่อนที่
  • ทำให้เกิดตาแห้งได้มากกว่าวิธี ReLEx Smile

ใครควรทำเลสิคประเภทนี้

ผู้ที่มีภาวะกระจกตาบาง , ตาเล็กเปิดตาได้ไม่มาก


4.เลสิคแบบไร้ใบมีด (ReLEx Smile)


เลสิคแบบไร้ใบมีด (ReLEx Smile) หรือ Refractive lenticule extraction – Small incision lenticule extraction คือ เทคโนโลยีล่าสุดในการแก้ไขสายตาโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ซึ่งมีความแม่นยำสูง


เทคนิคดังกล่าว ไม่ต้องเปิดฝากระจกตาเพื่อแยกชั้นเหมือนวิธีเลสิคใบมีด แต่จะใช้เลเซอร์ตัดเนื้อกระจกตาเป็นชิ้นเลนส์ แล้วดึงออกผ่านแผลซึ่งมีขนาดเล็กเพียงประมาณ 2-4 มม. จึงเป็นเทคนิคที่รบกวนกระจกตาน้อยมาก ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 15-20 นาที


ค่าใช้จ่ายประมาณ : 90,000-120,000


จุดเด่น


  • ไม่มีการแยกชั้นกระจกตาให้เกิดบาดแผล
  • ระคายเคืองหรือปวดตาน้อยมาก (หรือแทบไม่มีเลย)
  • โอกาสเกิดภาวะตาแห้งน้อยมาก
  • รักษาโครงสร้างทางกายภาพและความแข็งแรงของเนื้อกระจกตาได้ดี
  • ลดภาวะแสงฟุ้งกระจายตอนกลางคืน
  • ใช้เวลาผ่าตัดสั้น

ข้อจำกัด


  • ใช้ทักษะความชำนาญของแพทย์เป็นกรณีพิเศษ
  • มีระยะการฟื้นตัวใกล้เคียงหรืออาจช้ากว่าการทำเลสิคใบมีด
  • รักษาได้เฉพาะผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ -50 ถึง -1000 และสายตาเอียงไม่เกิน -600

แต่ยังใช้รักษาภาวะสายตายาวไม่ได้


ใครควรทำเลสิคประเภทนี้


  • ผู้ที่ต้องการรักษาสายตาสั้นและสายตาเอียง
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงกระทบกระแทกบริเวณตา หรือ เล่นกีฬาเป็นประจำ
  • ผู้ที่ตาแห้ง

สรุปการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ


หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ควรเลือกการทำเลสิคด้วยใบมีด (Lasik) หรือ การรักษาแบบ PRK


หากทำอาชีพ เล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่เสี่ยงกับการกระทบกระเทือน

ควรเลือกการรักษาแบบ PRK หรือ ReLEx Smile


การฟื้นตัว


  • ฟื้นเร็วที่สุด: การรักษาแบบ FemtoLASIK
  • ฟื้นตัวเร็วปานกลาง: เลสิคใบมีด และ ReLEx Smile
  • ฟื้นตัวช้าที่สุด: การรักษาแบบ PRK

โอกาสเกิดการระคายเคือง :


  • โอกาสระคายเคืองน้อยที่สุด: การรักษาแบบ ReLEx Smile (รอยแผล 2-4 มม.)
  • โอกาสระคายเคืองน้อยรองลงมา: การรักษาแบบ FemtoLASIK (รอยแผล 20 มม.)
  • โอกาสระคายเคืองปานกลาง: เลสิคใบมีด (รอยแผล 20 มม.)
  • โอกาสระคายเคืองสูง: การรักษาแบบ PRK (รอยแผลประมาณ 30 ตร. มม.)

ข้อแนะนำ: ไม่มีเทคนิคการทำเลสิคประเภทไหนที่ดีที่สุดโดยสมบูรณ์ แต่ละเทคนิคจะมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป และยังเหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน


คนไข้แต่ละคนต้องมาตรวจสภาพตาอย่างละเอียดก่อนเลือกประเภทของการปรับค่าสายตา บางคนสภาพตาดีมากสามารถเลือกทำได้ทุกวิธี แต่บางคนทำได้แค่บางวิธีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการตรวจประเมินสภาพตา จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก คนไข้ควรปรึกษาและวางแผนการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ที่สุด ทั้งนี้ แพทย์จะให้ข้อมูลว่าคนไข้ทำวิธีไหนได้บ้าง และให้คนไข้เป็นผู้ตัดสินใจเลือก


ตารางเปรียบเทียบ การทำเลสิคประเภทต่าง ๆ


New-Lasik-suitable-for-2.jpg

วิธีตัดสินใจ “ควรเลือกทำเลสิคที่ไหนดี?”


เพราะดวงตาของเรามีเพียงคู่เดียว การผ่าตัดแก้ไขสายตาหรือการทำเลสิคก็มักจะทำเพียงครั้งเดียวในชีวิต การจะตัดสินใจทำที่ไหนจึงมีความสำคัญมาก ควรพิจารณาถึงเกณฑ์ต่าง ๆ ในการเลือก ดังนี้


  1. สถานที่ให้บริการ ควรสะอาดและได้รับการรับรองตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย
  2. แพทย์ที่ทำเลสิค ควรเป็นจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ และมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย
  3. เทคโนโลยีเครื่องมือที่ใช้ ควรได้มาตรฐานและเป็นรุ่นที่ทันสมัย เนื่องจากจะสามารถแก้ไขค่าสายตาได้แม่นยำและมีความปลอดภัย โดยมีผลข้างเคียงที่ต่ำ
  4. ควรมีทางเลือกหลากหลายให้ผู้ป่วยในการตัดสินใจ หากมีการรักษาครบทุกรูปแบบ ทั้ง PRK, LASIK, FemtoLASIK, ReLEx Smile และการผ่าตัดเลนส์เสริม (ICL) จะทำให้แพทย์สามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยได้
  5. หากเป็นศูนย์เลสิคที่ตั้งอยู่ในสถานพยาบาล จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร เช่น หากผู้ป่วยมีตัวโรคเกี่ยวกับตา เช่น ตาแดง ตาแห้งรุนแรง หรือมีต้อกระจก ต้อหินร่วมด้วย ก็สามารถรักษาต่อเนื่องได้เลย
  6. นอกจากแพทย์แล้ว ทีมเจ้าหน้าที่ก็มีความสำคัญเช่นกัน หากมีประสบการณ์ในด้านการดูแลผู้ป่วยเลสิค จะสามารถให้คำแนะนำปรึกษาได้อย่างละเอียดและครบถ้วน
  7. ระดับราคาที่ยอมรับได้ เนื่องจากเลสิคแต่ละประเภท มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและความซับซ้อนของเทคนิคการผ่าตัด และสถานที่ทำเลสิคแต่ละแห่งก็มีอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันไป ผู้สนใจควรศึกษาและเปรียบเทียบให้แน่ใจก่อนว่า ระดับราคากลางของเทคนิคการทำเลสิคแต่ละประเภทคือเท่าไหร่? และความคาดหวังในรูปแบบการรับบริการของตนเป็นแบบไหน?

เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ต่อไป


จะเลือกรักษาด้วยเลสิคที่ไหนให้เหมาะกับดวงตาคู่สำคัญของเราก็ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ


ใครทำเลสิคได้บ้าง


ทำไมบางคนทำเลสิคได้ บางคนทำไม่ได้?


Can-you-do-1-1.jpg

คุณสมบัติทั่วไป ที่สามารถเข้ารับการทำเลสิคได้


  • อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • มีสายตาคงที่ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 50 (0.5D) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสสายตากลับมาสั้นหรือเอียงเพิ่มได้
  • ไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ให้รอประจำเดือนกลับมาแล้วอย่างน้อย 2 รอบ
  • ต้องไม่มีโรคของกระจกตาและโรคตาอย่างอื่นที่รุนแรง เช่น จอประสาทตาเสื่อม ตาแห้งอย่างรุนแรง หรือโรคทางร่างกายที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรคเบาหวาน SLE เป็นต้น ซึ่งควรแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษาด้วยเลสิค

ปัจจัยด้านลักษณะกระจกตาคนไข้ มีผลต่อการพิจารณาทำเลสิค


ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดว่าคนไข้จะเข้ารับการรักษาด้วยเลสิคได้หรือไม่ คือ ความหนาและความแข็งแรงของกระจกตาคนไข้ เนื่องจากการทำเลสิคทุกชนิด จะเป็นการยิงเลเซอร์ไปที่กระจกตา ส่งผลให้กระจกตาบางลง


หมอจะไม่แนะนำให้ทำเลสิคหากคนไข้กระจกตาหนาหรือแข็งแรงไม่เพียงพอ แต่จะแนะนำให้ปรับค่าสายตาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระจกตาแทน เช่น การใส่เลนส์ปรับค่าสายตาเข้าในดวงตา หรือที่เรียกว่า ICL


แม้อายุถึงเกณฑ์แล้ว ถ้าค่าสายตายังไม่นิ่ง ก็ยังทำเลสิคไม่ได้


ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการรักษา มักจะแนะนำให้ทำเลสิคได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพราะเป็นอายุที่ค่าสายตาคงที่แล้ว แต่อายุก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาการรักษา สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความนิ่งของค่าสายตา ผู้ที่จะทำเลสิคได้นั้น ควรมีค่าสายตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วอย่างน้อย 1 ปี


เตรียมตัวก่อนมาทำเลสิค


ปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนแนวทางการรักษา


การปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้น ว่าสามารถรักษาด้วยเลสิคได้หรือไม่? และควรใช้เทคนิคการเลสิคแบบไหน? แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ในสถาบันที่รองรับการทำเลสิคได้หลากหลาย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเลือกวิธีรักษาของตัวเราเอง เพราะถ้ามีทางเลือกน้อย อาจได้เทคนิคการรักษาที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับเรา


ในขั้นตอนนี้ เราต้องเดินทางเข้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอย่างละเอียดด้วย สามารถโทรสอบถามจากโรงพยาบาลหรือศูนย์เลสิค


โดยเบื้องต้นมีขั้นตอนเตรียมตัว ดังนี้


  1. กรณีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองมาด้วย
  2. หากใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อน อย่างน้อย 3 วัน หากเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ให้ถอดอย่างน้อย 7 วัน เพราะจะช่วยให้แพทย์ตรวจวัดค่าสายตาได้อย่างแม่นยำขึ้น และทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. งดใช้ยารักษาสิว อย่างน้อย 1 เดือน (ทั้งก่อนตรวจสภาพตา และก่อนผ่าตัด) เพราะเป็นยาที่ส่งผลต่อเยื่อบุและผิวกระจกตา อาจทำให้การวัดประเมินดวงตามีความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ถ้าใช้ยาประจำอยู่ ต้องแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ
  4. วันที่มาตรวจประเมินสายตา อาจต้องมีการหยอดยาเพื่อขยายม่านตาด้วย ซึ่งจะทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ และเกิดอาการพร่ามัวชั่วคราว จึงควรเตรียมแว่นกันแดดไว้ และพาเพื่อนหรือญาติมาด้วยเพื่อคอยดูแล

วันตรวจประเมิน จักษุแพทย์จะใช้ยาหยอดขยายม่านตาเพื่อวัดสายตาโดยละเอียด ได้แก่ ตรวจวัดการมองเห็น วัดความดันลูกตา ตรวจสภาพจอประสาทตา ตรวจวัดความโค้งกระจกตาส่วนหน้าและส่วนหลัง ตรวจวัดความหนาของกระจกตา


จักษุแพทย์จะประเมินจากคุณสมบัติต่าง ๆ ของคนไข้ว่า มีค่าสายตาสั้น ยาว หรือเอียงเท่าไหร่? สายตาคงที่แล้วหรือยัง? นอกจากนี้ จะประเมินอายุ โรคประจำตัว ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับดวงตา ยาที่ใช้ประจำ (หรือใช้อยู่ในปัจจุบัน) ลักษณะการดำเนินชีวิต เพื่อพิจารณาความจำเป็นด้านระยะเวลาพักฟื้น เป็นต้น


หลังจากนั้นจะประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้เพื่อสรุปผลแล้วให้คำแนะนำ พร้อมแผนการรักษากับคนไข้อีกครั้งหนึ่ง


2 ขั้นตอนการทำเลสิค


การทำเลสิคประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้แก่


ขั้นตอนที่ 1 : การเปิดฝากระจกตา


แบ่งเป็น 2 วิธี คือ


  1. เปิดฝากระจกตาด้วยใบมีด (Microkeratome) เป็นเทคนิคดั้งเดิมแต่ก็ยังเป็นที่นิยม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเปิดฝากระจกตาด้วยเลเซอร์
  2. เปิดฝากระจกตาด้วยเลเซอร์ (Femtosecond laser) ซึ่งจะให้ความแม่นยำมากกว่า

ขั้นตอนที่ 2 : การยิงเลเซอร์เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา


โดยใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความจำเพาะกับเนื้อเยื่อกระจกตา ไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง และสามารถปรับความโค้งของกระจกตาตามค่าสายตาของคนไข้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จากนั้นแพทย์จะปิดฝากระจกตากลับสู่ที่เดิม


การดูแลตัวเอง หลังการทำเลสิค


เพื่อป้องกันดวงตาจากการติดเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งอาจมีผลให้การทำเลสิคไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้


วันแรก หลังการทำเลสิค


สวมฝาครอบตา : คนไข้ต้องสวมฝาครอบตาตลอดเวลา ห้ามแกะฝาครอบเด็กขาด โดยสามารถมองผ่านรูเล็ก ๆ ของฝาครอบตาได้เท่านั้น


ซับน้ำตารอบ ๆ ฝาครอบตา: ในช่วงนี้ คนไข้อาจมีอาการเคืองตา คล้ายมีเศษผงอยู่ในตา บางคนอาจน้ำตาไหลออกมา ให้ซับออกได้เฉพาะน้ำตานอกฝาครอบตาเท่านั้น ห้ามแยงนิ้วเข้าไปซับน้ำตาในที่ครอบตา


นอนพักสั้น ๆ หลังการผ่าตัด : ควรนอนหลับสั้น ๆ (กรณีรักษาช่วงกลางวัน) หรือนอนหลับแต่หัวค่ำ (กรณีรักษาช่วงเย็น) ช่วงวันแรก ๆ ควรพักสายตาให้มากที่สุด


หากมีอาการปวดตา: สามารถกินยาแก้ปวดได้ ซึ่งถ้าเป็นมาก ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบในวันนัดติดตามผล


ทำกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น : คนไข้ควรงดกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น แต่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยความระมัดระวัง ห้ามน้ำเข้าตาเด็ดขาด แต่สามารถอาบน้ำและแปรงฟันได้


ข้อปฏิบัติทั่วไป หลังทำเลสิค


เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด คนไข้ควรปฏิบัติดังนี้


  1. เข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง และตรวจเช็คอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ปกติแล้วจักษุแพทย์จะแจ้งเวลานัดให้กับคนไข้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว โดยจะแบ่งเป็นการนัดระยะสั้น เช่น หลังผ่าตัด 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ไปจนถึงการนัดระยะยาว เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน
  2. หยอดยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ป้องกันการติดเชื้อ และสามารถหยอดน้ำตาเทียมได้บ่อยตามต้องการ
  3. ห้ามให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากต้องการทำความสะอาดใบหน้าให้ใช้ผ้าหมาด ๆ เช็ดหน้าแทน ส่วนการสระผม ควรให้ผู้อื่นสระให้
  4. ห้ามขยี้ตา การขยี้ยาเป็นเรื่องที่พลั้งเผลอกันง่ายมาก จึงไม่ควรเปิดฝาครอบตาออกหากไม่จำเป็น และต้องใส่ไว้ตลอดแม้แต่ตอนนอน เพราะจะช่วยป้องกันการเผลอขยี้ตาได้
  5. งดการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ลดโอกาสระคายเคืองต่อดวงตา
  6. สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดและลมเข้าตาเมื่ออยู่ในที่มีแสงจ้า ลดความไม่สบายตา หรืออาการตาแห้งได้
  7. ใช้สายตาได้บ้าง แต่ควรหยุดพักสายตาบ่อย ๆ เนื่องจากช่วงนี้สายตายังปรับตัวได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยตาหรือล้าตาได้ง่าย
  8. งดกิจกรรมทุกชนิดที่ทำให้เหงื่อออก เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำงานบ้าน เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  9. งดกิจกรรมทางน้ำ ได้แก่ งดว่ายน้ำ 1 เดือน และงดกิจกรรมดำน้ำ 3 เดือน นับจากวันผ่าตัด

การทำเลสิค มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง


ผลข้างเคียงระยะสั้นของการทำเลสิค ซึ่งเมื่อกระจกตาเริ่มปรับสภาพได้ อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้น ได้แก่


  • เคืองตา คนไข้เลสิค มักมีอาการนี้ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ช่วงนี้ให้พักสายตามาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีน้ำตาไหล ให้ซับน้ำตาที่ล้นออกมานอกฝาครอบตา (ห้ามแยงนิ้วเข้าไปซับน้ำตา) เมื่อผ่านวันแรกไปแล้ว อาการจะดีขึ้นเอง
  • สายตาไม่ชัด หรือมีอาการตาพร่า มักจะเป็นกันในสัปดาห์แรก อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากแผลหลังการทำเลสิค เมื่อแผลหายดีแล้ว อาการเหล่านี้จะดีขึ้น
  • การมองเห็นแสงไฟแตกกระจายในตอนกลางคืน อาจเป็นรูปแบบของแสงกระจาย (Glare) หรือ แสงรัศมีรอบดวงไฟ (Halo) ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 เดือน มากน้อยแล้วแต่คน บางคนเป็นมากอาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ตอนกลางคืนได้ ควรงดขับขี่ยานพาหนะชั่วคราว
  • อาการตาแห้ง ซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบน้ำตาลดลงชั่วคราว โดยจะเป็นอยู่ประมาณ 3-6 เดือน

นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ (Infection) ซึ่งปกติจักษุแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อใช้หยอดตาหลังจากทำเลสิคอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที


การทำเลสิคจะทำให้กระจกตาบางลง และการวัดความดันลูกตาจะได้ค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ไม่ส่งผลเสียกับคนไข้ ยกเว้นว่ามีการตรวจวัดความดันลูกตา เช่น ตรวจสุขภาพตาประจำปี หรือตรวจหาโรคต้อหิน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน ว่าทำเลสิคมาเพื่อคำนวณหาค่าความดันลูกตาที่แท้จริงของคนไข้ได้


การทำเลสิคซ้ำ ต้องดูความหนากระจกตา


QA-LasikAgain-2.jpg

โดยมากผู้ที่สายตากลับมาสั้นอีกหลังจากเคยทำเลสิคไปแล้ว จะใช้ระยะเวลานาน 5-10 ปีขึ้นไป และมักจะสั้นไม่มาก (ไม่เกิน 100-150) ซึ่งค่าสายตาระดับนี้ ไม่กระทบการมองมากนัก อาจพิจารณาใส่แว่นเสริมได้


อย่างไรก็ดี หากต้องการทำเลสิคซ้ำอีกครั้ง ต้องประเมินความหนาของกระจกตา ถ้าเหลือความหนาเพียงพอ สามารถทำซ้ำได้ แนะนำให้ติดต่อที่ศูนย์เลสิคเดิมที่เคยทำ จะได้มีข้อมูลกระจกตาของคนไข้ครบถ้วน


ศูนย์เลสิคพระรามเก้า


14442711828674-2.jpg

ศูนย์เลสิคพระรามเก้า จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด รวมถึงสายตาเอียง


โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเยอรมนีมาใช้ในการรักษา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่รักษาสายตาได้ครบทุกมิติ ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา


เทคโนโลยีการรักษา ศูนย์เลสิคพระรามเก้า


ศูนย์เลสิคพระรามเก้า ให้บริการการทำเลสิค 4 รูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการรักษาของคนไข้ให้ครอบคลุมที่สุด


  1. LASIK การแก้ไขสายตาโดยเปิดฝากระจกตา
  2. PRK การปรับแก้ไขสายตาโดยไม่เปิดฝากระจกตา
  3. Femto LASIK การปรับแก้ไขสายตาโดยเปิดฝากระจกตา ด้วย Femtosecond Laser
  4. ReLEx SMILE การปรับแก้สายตาโดยเปิดแผลเล็ก

สรุป


การทำเลสิค เป็นการรักษาความผิดปกติของค่าสายตาที่เป็นที่นิยม เนื่องจากช่วยลดความยุ่งยากในชีวิตประจำวันจากการใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมบุคลิกภาพได้ โดยเฉพาะบางคนที่ต้องสวมแว่นสายตาที่หนามาก เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ควรศึกษาและทำความเข้าใจการทำเลสิคโดยละเอียดก่อน โดยเฉพาะความแตกต่างของการรักษาแต่ละวิธี เพื่อความคาดหวังที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อตัวคนไข้เอง ที่จะพิจารณาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.praram9.com/medical_centers/ศูนย์เลสิค/


ศูนย์เลสิคพระรามเก้า เปิดบริการทุกวัน 08.00-16.00 น.

ที่อาคาร B ชั้น 9 โรงพยาบาลพระรามเก้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 1270

หรือแอดไลน์ Praram9Lasik:

อ้างอิง

  1. https://www.fda.gov/medical-devices/lasik/what-lasik
  2. https://providenceeye.com/blog/the-evolution-of-lasik-technology-a-rock-icon
  3. http://pr.md.chula.ac.th/spotlight/year7/07-11.pdf
  4. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/lasik-eye-surgery/about/pac-20384774

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

พญ. ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ

ศูนย์จักษุ

พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

ศูนย์จักษุ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital