โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้กระดูกเปราะบาง หักง่าย มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยอื่นด้วยเช่นกัน และด้วยโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันกระดูกพรุนโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแล และป้องกันโรคกระดูกพรุน
บทความนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะกระดูกพรุน ครอบคลุมสาเหตุ อาการ กลุ่มเสี่ยง การวินิจฉัย แนวทางรักษา และการป้องกัน รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
เข้าใจโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) คือ ภาวะที่ความหนาแน่นและมวลกระดูกลดน้อยลง ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง กระดูกเปราะ และผิดรูป ระยะดำเนินของโรคใช้เวลายาวนานหลายปี พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ จึงไม่สามารถสังเกตหรือรู้สึกได้จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก หรือเกิดการค่อมโค้งผิดรูปของกระดูกสันหลังเนื่องจากกระดูกทรุดและตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน
สาเหตุโรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- เพศ: เพศหญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย เพราะผู้หญิงมีความหนาแน่นและมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย และมีโอกาสที่จะสูญเสียแคลเซียมในกระดูกมากกว่าเพศชาย อย่างไรก็ตามผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนเช่นเดียวกัน
- อายุ: โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจาก กระบวนการสร้างเนื้อกระดูกทำได้ช้าลง แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการสลายกระดูกกลับเร็วขึ้น จึงส่งผลให้เสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายเนื้อกระดูก
- น้ำหนักน้อยหรือผอม: ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยหรือมีภาวะผอมจะมีกระดูกเล็กและบาง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
- เชื้อชาติ: ผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงชนชาติผิวขาวมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้หญิงอัฟริกา อเมริกา และเม็กซิกัน เนื่องจากกระดูกมีความแข็งแรงน้อยกว่า
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน: ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทำให้เสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายเนื้อกระดูก
- ยา: การใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกและทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ยากลุ่มฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ ซึ่งใช้รักษาโรคหอบและโรครูมาตอยด์ กลุ่มยากันชัก ยารักษาโรคมะเร็ง ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (proton pump inhibitor)
- อาหาร: การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีต่ำ หรือรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงมากหรือต่ำมากเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ขาดการออกกำลังกาย: การไม่เคลื่อนไหวหรือไม่ออกกำลังกายเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียมวลกระดูก
- ดื่มแอลกอฮอลล์: การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนเนื่องจากไปลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย ทำให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น
- การสูบบุหรี่: มีงานวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่ชี้ชัดว่ามีภาวะกระดูกพรุน จนกว่าจะเกิดกระดูกหักซึ่งอาจเกิดแบบไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากการยืด เหยียดผิดท่า มีการพลัดตกหกล้ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นดังนี้
- ส่วนสูงลดลงทำให้ตัวเตี้ยลง
- หลังค่อม หลังคด
- ปวดเอว ปวดหลัง ปวดกระดูกเรื้อรัง
- กระดูกหักง่าย
ถ้าพบอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการตรวจมวลกระดูก และตรวจวินิจฉัย โดยเร็วที่สุด
การรักษาโรคกระดูกพรุน
การรักษาโรคกระดูกพรุนจะเน้นการปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โดยกระตุ้นและส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ควบคู่ไปกับการรับประทานวิตามินดี เพื่อช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายเป็นประจำ งดการดื่มแอลกอฮอลล์ และสูบบุหรี่
กรณีที่ตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนอาจต้องรักษาโดยการใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรม เพื่อป้องกันกระดูกหัก ยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนได้แก่
- กลุ่มยาที่ยับยั้งการสลายกระดูก เช่น estrogen agonist, calcitonin, bisphosphonates และ denosumab
- กลุ่มยาส่งเสริมการสร้างกระดูก เช่น teriparatide, abaloparatide และ romosozumab
โรคกระดูกพรุน ออกกำลังกายอย่างไร?
เมื่อพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็สามารถออกกำลังกายได้เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมให้ร่างกายมีความสมดุล ลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก และบรรเทาอาการปวดเมื่อย แต่ต้องมั่นใจว่ารูปแบบการออกกำลังกายนั้นเหมาะสม และปลอดภัย
ก่อนออกกำลังกายอาจต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อทำการทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone density) และการประเมินสมรรถภาพของร่างกาย (fitness) จากนั้นจึงเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม ดังนี้
- การออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านในการบริหารกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น (strength training exercise) เช่น ใช้ยางยืดออกกำลังกาย (resistant band) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลังส่วนบนทำให้มีการจัดระเบียบร่างกายที่เหมาะสม และช่วยรักษามวลกระดูก
- การออกกำลังกายโดยใช้เท้าและขา หรือมือและแขน ในการรับน้ำหนักของตัวเอง (weight-bearing aerobic activities) เช่น การเดิน การวิ่ง และการเต้นแอโรบิกชนิดที่ไม่หนักเกินไป ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลให้กระดูกขา กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลังช่วงเอวแข็งแรง นอกจากนั้นยังเป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย
- การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (flexibility exercise) คือการออกกำลังกายที่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยควรยืดเหยียดแบบช้า ๆ ช่วยลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกายและช่วยส่งเสริมการเคลื่อนที่ของข้อต่อต่าง ๆ
- การออกกำลังเสริมกายด้วยการทรงตัว (ฺbalance exercises) เช่น การรำไทเก๊ก เป็นการฝึกการประสานงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ และช่วยในเรื่องการทรงตัว
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ มีโปรตีน และแคลเซียมเพียงพอ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีควบคู่กับอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น
- รับแดดในช่วงเช้าประมาณ 15 นาที เพื่อกระตุ้นการสร้างวิตามินดี และรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมันสูง (ปลาแซลมอน) นม ไข่ เห็ด เมล็ดธัญพืชและน้ำผลไม้
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงมาตรฐาน โดยค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) ควรอยู่ในช่วง 18.5 – 22.90
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์
สรุป
โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน แต่จะพบสัญญาณเตือนก็ต่อเมื่อมีภาวะกระดูกพรุนแล้ว สัญญาณเตือนดังกล่าว เช่น กระดูกหัก หลังค่อม ส่วนสูงลดลง ดังนั้นเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคกระดูกพรุนและรักษาไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนที่คุณรัก ควรส่งเสริมให้มีการปรับพฤติกรรมให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน