บทความสุขภาพ

Knowledge

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

นพ. ภูมิบาล เวศย์พิริยะกุล

ในยุคปัจจุบันที่หลายคนต้องนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยคือ การปวดสะโพกร้าวลงขา ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความไม่สบายตัวและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้


บทความนี้ โรงพยาบาลพระรามเก้าจะพาไปทำความรู้จักว่าปวดสะโพกร้าวลงขา มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันและรักษาอาการปวดเอวร้าวลงขาได้อย่างเหมาะสม


Key Takeaways


  • อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะปวดตั้งแต่สะโพกหรือเอวลามลงไปยังขาด้านหลัง ซึ่งอาจปวดร้าวไปถึงน่องและเท้าตามทางเดินของเส้นประสาท
  • อาการปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อมเคลื่อนมากดทับเส้นประสาท รวมถึงโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
  • ปวดสะโพกร้าวลงขาสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งจากการกายภาพบำบัดและการใช้ยา ถ้าไม่ได้ผลจึงจะใช้วิธีผ่าตัดเป็นขั้นตอนต่อไป

ปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นอย่างไร?


อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica Pain) คือ อาการปวดที่เริ่มจากส่วนสะโพกหรือเอว ไล่ลงไปยังขาด้านหลัง บางรายอาจปวดไปถึงน่องและเท้า สาเหตุหลักเกิดจากการกดทับที่เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในร่างกายมนุษย์ โดยมีต้นกำเนิดอยู่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว (L4-L5) และส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) ทอดยาวตั้งแต่สลักเพชร ก้น ต้นขาด้านหลัง น่อง ลงไปถึงฝ่าเท้า


เมื่อเส้นประสาทดังกล่าว ถูกรบกวนหรือถูกกดทับจากส่วนอื่น จะส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา ปวดขาข้างเดียว มีอาการชา แสบร้อน รู้สึกคล้ายโดนไฟช็อต ถ้ารุนแรงมากกล้ามเนื้อขาจะอ่อนแรงและกล้ามเนื้อขาลีบร่วมด้วย


กลุ่มอาการปวดสะโพกร้าวลงขา มาจากโรคอะไรได้บ้าง?


ปวดสะโพกร้าวลงขา สาเหตุ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทตามที่หลายคนคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการจากโรคอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) โดยตรง หรือเป็นอาการปวดคล้าย ๆ กันที่มาจากกล้ามเนื้ออักเสบหรือปวดข้อก็ได้ โดยบทความนี้ขอแบ่งโรคที่ทำให้ปวดสะโพกร้าวลงขาออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ


กลุ่มอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติบริเวณหลัง


  • โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เกิดจากกล้ามเนื้อก้นชั้นลึก Piriformis ไปกดทับเส้นประสาทไซอาติก ทำให้ผู้ป่วยปวดสะโพกลงต้นขาด้านหลัง ปวดก้นเรื้อรัง ชาและเป็นตะคริวร่วมด้วย
  • โรคข้อต่อเชิงกรานอักเสบ (SI joint arthritis) เนื่องจากเส้นเอ็นยึดข้อเชิงกรามเสื่อม ดึงรั้ง ยึดติด หรือหลวม และแนวกระดูกที่ผิดไปจากเดิม ทำให้มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาร่วมกับชาได้
  • กล้ามเนื้อแฮมสตริงตึงหรืออักเสบ จากการใช้งานกล้ามเนื้อหลังต้นขามากเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ทำให้มีอาการปวดร้าวที่ใต้ก้นลงต้นขาด้านหลัง

กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณหลัง


  • โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) จากอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนหรือมีกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท
  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อ ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลต่อช่องว่างภายในกระดูกสันหลังที่แคบลง จนกดทับเส้นประสาท ก่อให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
  • โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Palposus) เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพหรือได้รับบาดเจ็บ จนเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ ปวดสะโพกร้าวลงขา อาจมีอาการชาต้นขา น่อง หรือปลายเท้าร่วมด้วย

ใครบ้างที่เสี่ยงต่ออาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้ง่าย?


แม้อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่พบความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ดังนี้


  • ผู้ที่มีอายุมากขึ้น ทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ็บสะโพกร้าวลงขาบ่อย
  • ผู้ที่ทำงานที่ต้องนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อมีการสั่นร่วมด้วย เช่น การขับรถ หรือ การนั่งไม่ถูกท่า
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจะมีแรงกดทับที่กระดูกสันหลังสูง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสกระดูกสันหลังเสื่อมไวกว่าคนปกติ
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหรือยกของหนักไม่ถูกวิธี มีความเสี่ยงจะพบอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้ง่าย
  • ผู้ที่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณหลังส่วนล่าง หรือสะโพกได้รับบาดเจ็บโดยตรง

สาเหตุของอาการปวดสะโพกร้าวลงขามีอะไรบ้าง?


เพื่อให้สามารถรักษาและป้องกันอาการนี้ได้อย่างถูกต้อง ควรทำความเข้าใจก่อนว่า มีอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้บ้าง ดังนี้


  • ความผิดปกติบริเวณหลัง ได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โรคกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังคด และกระดูกสันหลังเคลื่อน
  • การบาดเจ็บของเส้นประสาทไซอาติก จากอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือนสะโพกโดยตรง
  • โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท จากการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการบาดเจ็บ
  • อาการปวดตึงต้นขาหลังจากกล้ามเนื้อแฮมสตริงอักเสบ
  • โรคข้อต่อเชิงกรานอักเสบ (SI joint arthritis) จนไปกดเบียดเส้นประสาทไซอาติก ทำให้ปวดสะโพกร้าวลงขา
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ปวดสะโพกร้าวลงขา เช่น ความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

การตรวจวินิจฉัยปวดสะโพกร้าวลงขา เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม


แรกเริ่มแพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย ในรายที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม แพทย์อาจใช้วิธีส่งตรวจเอกซเรย์ (X-ray) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาความผิดปกติของกระดูกสันหลังและเส้นประสาท ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาให้สูงขึ้น


แนวทางการรักษาปวดสะโพกร้าวลงขา ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง


วิธีแก้อาการปวดสะโพกร้าวลงขา

การรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยสามารถแบ่งวิธีรักษาได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้


รักษาปวดสะโพกร้าวลงขาแบบไม่ผ่าตัด


อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะใช้วิธีอนุรักษนิยมหรือการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ชัดเจน สามารถทำได้โดยทำตามข้อแนะนำต่อไปนี้


  • ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เต็มที่
  • ทำกายภาพบำบัด เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดเหยียดและมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น เช่น ออกกำลังกายแบบ Mckenzie exercise, ฝังเข็ม, ช็อกเวฟ หรือใช้เครื่องช่วยพยุงหลัง เป็นต้น
  • ยาแก้ปวดสะโพกร้าวลงขา สามารถใช้ยาแก้ปวดทั่วไปอย่าง Paracetamol, NSAIDs, Opioids หรือใช้ยากลุ่ม Gabapentin และ Pregabalin ร่วมด้วย
  • การฉีดสเตียรอยด์บริเวณช่องกระดูกสันหลัง เพื่อบรรเทาอาการปวดร้าวลงขา
  • การปรับพฤติกรรม เช่น ยกของให้ถูกท่า หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

รักษาปวดสะโพกร้าวลงขาแบบผ่าตัด


วิธีแก้อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเสื่อม หากรักษาด้วยวิธีอนุรักษนิยมแต่ไม่ดีขึ้น และมีข้อบ่งชี้ เช่น ขาอ่อนแรงชัดเจน ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ แพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด โดยใช้การผ่าตัดเเบบเปิด หรือการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง


วิธีการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีแผลเล็ก เกิดความบอบช้ำน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สามารถฟื้นฟูบาดแผลและกลับไปใช้ชีวิตได้เร็วยิ่งขึ้น


ปวดสะโพกร้าวลงขา อย่าปล่อยไว้ให้ทรมาน รีบรักษาก่อนอาการรุนแรง


อาการปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดได้จากหลายปัจจัย อาจมาจากเส้นประสาทไซอาติกถูกกดทับ หรือมีอาการบาดเจ็บอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อแฮมสตริงอักเสบ หากอาการมีความรุนแรง เรื้อรัง จะส่งผลให้ขาอ่อนแรง เดินลำบาก หรือกล้ามเนื้อลีบได้


สำหรับผู้ที่กำลังมองหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขาให้หายดี ขอแนะนำศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้าเอาไว้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะที่นี่เรามีแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ คอยให้คำปรึกษาพร้อมดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด มีอุปกรณ์ทันสมัย ครบครัน ช่วยให้วินิจฉัยอาการและรักษาได้อย่างแม่นยำ ผู้ป่วยจึงสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ในเร็ววัน


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปวดสะโพกร้าวลงขา


ปวดสะโพกร้าวลงขาหายเองได้ไหม?


ปวดสะโพกร้าวลงขาหายเองได้ไหม? โดยส่วนใหญ่อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่มีสาเหตุไม่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ สามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ทันที


ปวดสะโพกลงขาแบบฉับพลันแก้ปัญหาอย่างไร?


หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ อาจประคบร้อนเพื่อลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม


References


Sciatica. (2023, May 21). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12792-sciatica


Sciatica. (2024, December 3).NHS. https://www.nhs.uk/conditions/sciatica/


Sciatica Treatment. (2024, January 14). WebMD. https://www.webmd.com/back-pain/treatment-for-sciatica

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ภูมิบาล  เวศย์พิริยะกุล

นพ. ภูมิบาล เวศย์พิริยะกุล

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital