บทความสุขภาพ

Knowledge

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

นพ. พีรพงษ์ สวัสดิพงษ์

ข้อเข่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักของร่างกาย แต่หลายคนมักเผชิญกับอาการปวดเข่า ซึ่งเกิดได้ทั้งในผู้สูงอายุและคนวัยหนุ่มสาว และอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน การอักเสบ หรือการบาดเจ็บจากกิจกรรมต่าง ๆ การมีความรู้และความเข้าใจในการป้องกันและรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ไว้


Key Takeaways


  • อาการปวดเข่าสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของข้อเข่า การบาดเจ็บ หรือการอักเสบ
  • นอกจากผู้สูงวัยแล้ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีการใช้ข้อเข่าในการทำกิจกรรมที่ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมาก เช่น การวิ่ง ก็อาจเสี่ยงต่อการปวดข้อเข่ามากขึ้นได้เช่นกัน
  • การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับข้อเข่า และป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อเข่าได้
  • การใช้รองเท้าที่รองรับน้ำหนักได้ดีสอดคล้องกับรูปเท้า หรือการรักษาท่าทางที่ถูกต้องทั้งการนั่งและยืน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บข้อเข่าลงได้

ข้อเข่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?


ข้อเข่าเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว โครงสร้างของข้อเข่าประกอบด้วยกระดูกต้นขา (Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และลูกสะบ้า (Patella) ซึ่งอวัยวะที่กล่าวมาจะทำงานร่วมกันเพื่อรองรับน้ำหนักและการเคลื่อนไหว


นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญอื่น ๆ ที่ช่วยให้ข้อเข่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่


  • น้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า ช่วยลดการเสียดสีและทำให้การเคลื่อนไหวราบรื่น
  • เอ็นรอบข้อเข่า เอ็นหัวเข่า เอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคง
  • หมอนรองกระดูกเข่า มีบทบาทสำคัญในการรองรับแรงกระแทกและกระจายน้ำหนักให้กับข้อเข่า

ปวดเข่าเกิดจากอะไร


ปวดเข่าเกิดจากอะไร

อาการปวดเข่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป ไปจนถึงโรคข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย อาการปวดอาจรู้สึกได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างของข้อเข่า รวมถึงอาจมีอาการปวดร้าวไปยังต้นขาหรือน่องก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไป อาการปวดเข่าจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคร่าว ๆ ดังนี้


การบาดเจ็บข้อหัวเข่าจากการใช้งานแบบเฉียบพลัน


เกิดจากแรงกระแทกหรือการบิดหมุนผิดท่า ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างข้อเข่า เช่น เอ็นไขว้หน้าหรือเอ็นไขว้หลังฉีกขาด หมอนรองกระดูกหรือผิวกระดูกอ่อนฉีกขาดเสียหาย ซึ่งจะทำให้อาการปวดมักรุนแรง เคลื่อนไหวลำบาก และอาจมีอาการบวมร่วมด้วย


นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันยังเกิดจากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็น เช่น อาการเจ็บด้านนอกข้อเข่า (IT Band Syndrome) ที่พบบ่อยในนักวิ่ง หรือเอ็นสะบ้าอักเสบที่เกิดจากแรงกดซ้ำ ๆ อาการปวดในกลุ่มนี้มักเป็นแบบเรื้อรัง และรบกวนการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน


การบาดเจ็บข้อหัวเข่าจากการใช้งานแบบเรื้อรัง


เช่น โรคเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวติดขัด มีเสียงดังกรอบแกรบขณะขยับข้อเข่า และอาจรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อเดินหรือขึ้นลงบันได ซึ่งอาการนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือผู้ที่ใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานานและมากต่อวัน เช่น แม่ค้าหรือพนักงานทำความสะอาด เป็นต้น


การอักเสบของข้อโดยเกิดจากการติดเชื้อ


ภาวะที่ข้อต่อเกิดการติดเชื้อ หรือ Septic Joint มักเกิดจากแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus และ Streptococcus spp. ทำให้ข้อปวดบวม แดงร้อน และขยับลำบาก หากปล่อยไว้อาจทำลายข้อต่อถาวร การรักษาจึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการระบายหนองออกจากข้อโดยเร็ว


การอักเสบของข้อโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ


อีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดอาการปวดในข้อได้คือการสะสมของสารบนหัวเข่า ซึ่งมักจะพบอยู่สองประเภท คือ


  1. เกาต์ (Gout) : เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกในข้อ ส่งผลให้ปวด บวม และอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการกินอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์และอาหารทะเล
  2. เกาต์เทียม (Pseudogout) : มีอาการคล้ายกับโรคเกาต์ แต่เกิดจากผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตที่มาสะสมในข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า อาการปวดมักเกิดขึ้นเฉียบพลันและเป็น ๆ หาย ๆ

สาเหตุของอาการปวดเข่าเกิดจากอะไร?


อาการปวดเข่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากการบาดเจ็บเฉียบพลันและความเสื่อมของโครงสร้างข้อเข่าตามอายุ โดยอวัยวะที่มักเป็นสาเหตุของอาการนี้ก็จะมี ดังนี้


  • กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพหรือฉีกขาด (Cartilage Damage) : กระดูกอ่อนเป็นโครงสร้างสำคัญที่ช่วยลดแรงเสียดสีภายในข้อเข่า ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจะทำงานร่วมกับหมอนรองกระดูกซึ่งช่วยกระจายน้ำหนักและแรงกดทับในข้อเข่า หากกระดูกอ่อนเกิดความเสียหายและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้กระดูกเสียดสีกันโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยสาเหตุหลักของอาการปวดเข่าที่เกี่ยวข้องกับกระดูกอ่อนก็จะได้แก่

      ๏  หมอนรองกระดูก (Meniscus) เสื่อมหรือฉีกขาด : มักเกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุหรืออุบัติเหตุ เช่น การบิดหมุนข้อเข่าผิดท่า ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า และ
         เพิ่มโอกาสในการเกิดข้อเข่าเสื่อม
      ๏  กระดูกอ่อน (Cartilage) สึกหรอหรือหลุดร่อน : เกิดจากการใช้งานหนัก เช่น นั่งยอง ๆ เป็นเวลานาน หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อย หากรุนแรงอาจหลุดร่อนออกมา
         เป็นชิ้นเล็ก ๆ ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้

  • เส้นเอ็น (Ligament) บาดเจ็บหรืออักเสบ : เมื่อใช้งานเข่าซ้ำ ๆ หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุก็อาจทำให้เส้นเอ็นรอบข้อเข่าได้รับความเสียหาย เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด หรือเอ็นลูกสะบ้าอักเสบ จนทำให้มีอาการปวด บวม และข้อเข่ารู้สึกไม่มั่นคง อาจมีการเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนก่อนมีอาการบาดเจ็บ ซึ่งมักพบในนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักเป็นประจำ
  • ภาวะข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the Knee) : เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยจะมีเสียงในข้อเข่า รู้สึกเข่าไม่มั่นคง อาจสังเกตเข่ามีความผิดรูปจากเดิม อาการปวดมักเริ่มจากด้านในของข้อเข่าและลุกลามไปทั่วบริเวณหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น ได้แก่ น้ำหนักตัวมาก การใช้งานข้อเข่าหนัก และอาการบาดเจ็บที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

อาการปวดเข่าขั้นไหนควรพบแพทย์?


เจ็บเข่า

อาการปวดหัวเข่าบางครั้งก็สามารถบรรเทาได้เองด้วยการพักผ่อนและการดูแลตัวเอง แต่หากอาการรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติร่วมด้วย ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อปวดต่อเนื่องหลายวันก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทันที โดยจะมีอาการเบื้องต้นดังนี้


  • ปวดแม้ไม่ได้ขยับ : หากมีอาการปวดตลอดเวลา แม้ขณะพักหรือไม่ได้ลงน้ำหนัก อาจเป็นสัญญาณของการอักเสบรุนแรง หรือภาวะข้อเข่าเสื่อมที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์
  • ลงน้ำหนักเข่าไม่ได้ : อาการปวดที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อพยายามลงน้ำหนักที่เข่า อาจเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บของเอ็น หมอนรองกระดูก หรือกระดูกอ่อนในข้อเข่า
  • ข้อเข่าผิดรูปหรือมีอาการบวม : หากสังเกตเห็นว่าข้อเข่าข้างหนึ่งบวมจนเสียรูป หรือกดแล้วรู้สึกตึงแน่น อาจเกิดจากของเหลวที่สะสมในข้อเข่า ภาวะอักเสบที่ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือมีอาการเข่างอโค้งเข้าในหรือออกด้านนอกเมื่อมองจากด้านหน้า
  • มีรอยฟกช้ำหรือเลือดออกผิดปกติรอบหัวเข่า : การมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการปวดร่วมกับเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจเป็นสัญญาณของเส้นเลือดแตก หรือเอ็นฉีกขาด
  • งอหรือเหยียดเข่าไม่ได้เต็มที่ : รู้สึกว่าหัวเข่าฝืด ไม่สามารถงอหรือเหยียดจนสุด หรือมีอาการสะดุดขณะขยับ
  • ปวดเข่าร่วมกับมีไข้ ตัวร้อน : อาการปวดข้อเข่าพร้อมกับไข้สูง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อภายในข้อเข่า ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าพบในใครได้บ้าง?


ปวดเข่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเข่าข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยจะมีกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการปวดเข่ามากเป็นพิเศษดังต่อไปนี้


  • ผู้สูงอายุ : เมื่ออายุมากขึ้น ข้อเข่าจะมีการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ กระดูกอ่อนที่ช่วยรองรับแรงกระแทกอาจบางลง ทำให้เกิดอาการปวดหรือข้อเข่าเสื่อมได้
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน : น้ำหนักตัวที่มากขึ้นส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดที่มากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้กระดูกอ่อนสึกหรอเร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิดอาการปวดได้
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้เข่าหนัก : กิจกรรมที่ต้องใช้แรงกดที่ข้อเข่ามาก เช่น การวิ่ง กระโดด หรือกีฬาที่ต้องหมุนตัวเร็ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อเข่า เช่น อาการ Runner’s Knee หรืออาการบาดเจ็บที่กระดูกลูกสะบ้า
  • ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บที่ข้อเข่า : การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ข้อเข่าพลิก เอ็นฉีกขาด หรืออาการอักเสบจากการใช้งานหนัก อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังหรือส่งผลกระทบต่อข้อเข่าในระยะยาว
  • คนที่ต้องยืน เดิน หรือนั่งในท่าที่กดทับเข่าเป็นเวลานาน : เช่น พนักงานที่ต้องยืนทำงานทั้งวัน ผู้ที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือต้องใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้ข้อเข่ารับแรงกดมากกว่าปกติและเกิดอาการปวดได้
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูก : โรคข้ออักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ สามารถทำให้เกิดอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ยาก

แนวทางการรักษาเบื้องต้นของอาการเจ็บข้อเข่า


อาการปวดข้อเข่าอาจเกิดจากการใช้งานหนัก การบาดเจ็บ หรือภาวะข้ออักเสบ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลตนเองเบื้องต้น หากอาการไม่รุนแรงสามารถใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อช่วยลดอาการปวด และป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยวิธีแก้ปวดเข่าเบื้องต้นมีดังนี้


  • พักการใช้งานข้อเข่า : ลดกิจกรรมที่ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก เช่น การยืนหรือเดินเป็นเวลานาน การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติโดยไม่ให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่ามากเกินไป
  • ยกขาสูง : เมื่อนั่งหรือนอน ควรยกขาให้สูงกว่าระดับลำตัวโดยใช้หมอนรองใต้เข่า เพื่อลดอาการบวมและช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ประคบเย็นหรือน้ำแข็งในช่วงแรก : หากมีอาการปวดและอักเสบเฉียบพลัน ควรประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณข้อเข่า 15-20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมและชะลอการอักเสบ
  • ประคบร้อนเมื่ออาการเรื้อรัง : หากอาการปวดเข่าต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการเรื้อรัง ควรประคบอุ่นเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และลดอาการตึงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
  • รับประทานยาแก้ปวดหรือลดการอักเสบ : หากมีอาการปวดมาก อาจใช้ยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

หากอาการหนักขึ้นอาจต้องใช้วิธีรักษาอื่น ๆ เช่น การทำกายภาพ หรือการผ่าตัดเข่าเสื่อม เข้ามาช่วยในการรักษาแทนวิธีเบื้องต้นเหล่านี้


วิธีป้องกันไม่ให้มีอาการปวดเข่า


เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้ ด้วยการดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม และปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้


  • ระมัดระวังการเคลื่อนไหวและการเล่นกีฬา : หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกสูง เช่น วิ่งลงเขา กระโดด หรือเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม : การออกกำลังกายช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า แต่ควรเลือกวิธีที่ไม่เพิ่มแรงกดต่อเข่ามากเกินไป เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือโยคะ และควรเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม : น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มแรงกดทับที่ข้อเข่า ทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกอ่อนเร็วกว่าปกติ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงได้
  • สวมรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกได้ดี : เลือกรองเท้าที่มีพื้นรองรับแรงกระแทกและรองรับรูปเท้าได้ดี โดยเฉพาะหากต้องเดินหรือยืนนานๆ หลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ เนื่องจากอาจเพิ่มแรงกดต่อข้อเข่า
  • รับประทานอาหารบำรุงข้อเข่า : การรับประทานอาหาร ยา หรือสารเสริมอาหารที่มีสารอาหารบำรุงข้อเข่า เช่น Glucosamine ที่ช่วยในเรื่องการซ่อมแซมข้อเข่า และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของข้อต่อ
  • สมุนไพรแก้ปวดเข่า : สมุนไพรบางชนิด เช่น ขมิ้น ขิง และแคปซิก้า สามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบที่ข้อเข่าได้ ทั้งนี้ การกินสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเนื่องจากอาจส่งผลต่อการทำงานของตับและไตได้
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ : การยืดกล้ามเนื้อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดอาการตึง และป้องกันการบาดเจ็บของหัวเข่า โดยควรทำทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
  • ปรับท่าทางการนั่งและยืนให้ถูกต้อง : หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ คุกเข่า หรือนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป รวมถึงควรยืนและเดินโดยให้แนวกระดูกสันหลังและข้อเข่าจัดอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม

รักษาอาการปวดเข่าให้หาย ทำได้ อย่ารอช้า


อาการปวดเข่าอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในช่วงแรก แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก็อาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเคลื่อนไหวในระยะยาว ปัจจุบันการรักษาข้อเข่าเสื่อมมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยให้การรักษามีความแม่นยำและฟื้นตัวเร็วขึ้นคือหุ่นยนต์ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ซึ่งช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้อ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นได้


หากกำลังมีอาการปวดเข่าเรื้อรังและต้องการคำปรึกษา ศูนย์รักษ์ข้อของโรงพยาบาลพระรามเก้ามีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษา และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการอีกครั้ง หากสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อมาทางช่องทางต่อไปนี้ได้



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการปวดหัวเข่า


หากมีอาการปวดเข่าควรบริหารกล้ามเนื้อแบบไหน?


การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่า ควรมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า เช่น การทำกายภาพบำบัดที่ช่วยให้กล้ามเนื้อสะโพกและต้นขามีความแข็งแรง จะช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าได้ดีขึ้น


ปวดใต้ข้อพับเข่า ปวดเข่าข้างเดียว เกิดจากอะไร?


อาการปวดใต้ข้อพับเข่าและปวดเข่าข้างเดียวอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บที่เอ็นข้อเข่า ถุงน้ำที่ข้อเข่า หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดจากเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบเข่าจากที่ใช้งานหนักเกินไป


References


Knee pain. (2023, October 20). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/21207-knee-pain


Knee pain. (2023, December 21). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/knee-pain/


WebMD Editorial Contributors. (2023, May 14). Knee pain overview. WebMD. https://www.webmd.com/pain-management/knee-pain/knee-pain-overview

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. พีรพงษ์ สวัสดิพงษ์

นพ. พีรพงษ์ สวัสดิพงษ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital