เชื่อหรือไม่ว่า ตลอดช่วงชีวิตคนเราต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 10 คนที่มีอาการปวดส้นเท้า เรียกได้ว่าสำหรับแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) แล้ว ต้องมีคนไข้มาด้วยอาการแบบนี้ทุกวัน ถ้าคุณเป็นคนที่มีอาการเหล่านี้ แล้วอยากทราบว่าใช่ ”รองช้ำ” หรือไม่ และจะรักษาอย่างไร บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคุณ
ก่อนอื่น เราต้องแยกก่อนว่า อาการปวดนี้อยู่ใต้ส้นเท้า หรือหลังส้นเท้า คำว่า รองช้ำ จริงๆเป็นภาษาชาวบ้าน แต่ขึ้นต้นว่ารอง น่าจะหมายถึง อาการปวดใต้ส้นเท้ามากกว่า เพราะฉะนั้นบทความนี้จะเน้นไปที่กลุ่มอาการปวดใต้ส้นเท้า
กลุ่มอาการเจ็บใต้ส้นเท้า ประกอบด้วยหลายโรคครับ ได้ตั้งแต่ เอ็นใต้ฝ่าเท้าเสื่อม หรือที่ชอบถูกแปลกันอย่างตรงตัวว่า “พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis)” เอ็นใต้ฝ่าเท้าขาด เนื้องอกของเอ็นใต้ฝ่าเท้า ไขมันใต้ฝ่าเท้าฝ่อ ไขมันใต้ฝ่าเท้าเคลื่อน การกดทับเส้นประสาทที่ข้อเท้า เส้นประสาทอักเสบ การกดทับเส้นประสาทที่หลัง ถุงน้ำอักเสบ กระดูกส้นเท้าหัก การอักเสบของเยื่อเจริญของกระดูกส้นเท้า การอักเสบติดเชื้อ เนื้องอก เป็นต้น ที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะมีคนไข้หลายคนได้รับการวินิจฉัยว่ารองช้ำ แต่ไม่ได้รับการตรวจให้ละเอียดเพียงพอ ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
สาเหตุของรองช้ำคืออะไร?
ที่ใต้เท้าของคนเรา มีพังผืด (fascia) อยู่ครับ เกาะจากบริเวณส้นเท้า ไปที่นิ้วเท้าทุกนิ้ว แต่หมอชอบเรียกว่า “เอ็นใต้ฝ่าเท้า” มากกว่า เพราะคำว่าพังผืด คนไทยจะคิดถึงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่และฟังดูไม่ใช่ของดี แต่ผิดแล้วครับ โดยปกติเรามีเอ็นใต้ฝ่าเท้าซึ่งทำหน้าที่ขึงช่วยสร้างสมดุลและความแข็งแรงควบคู่ไปกับกระดูกเท้า ปัญหาคือ เมื่อใช้งานมากๆ อาจทำให้มีการอักเสบ หรือเสื่อมได้ ทำให้คนไข้มีอาการปวด ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คือ คนไข้ที่ต้องยืนทำงานนานๆ คนไข้ที่เอ็นร้อยหวายหดสั้น คนไข้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัม/ตร.เมตร หรือมีโรคแพ้ภูมิตัวเองต่างๆ
อาการของโรครองช้ำ
อาการที่ชัดที่สุดคือ คนไข้มักจะบ่นว่า ปวดตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบพื้นตอนเช้า พอเดินไปสักพัก อาการปวดก็ดีขึ้น แต่พอนั่งนานๆ เริ่มลุกเดินก็กลับมาปวดใหม่ แต่ในคนไข้ที่ทิ้งไว้ไม่รักษานานๆ จะเริ่มบ่นว่าเดินเยอะก็ปวด จนถึงขึ้นปวดตลอดเวลาครับ อาการปวดอาจจะตื้อๆ บางคนเจ็บจี๊ด บางคนมีแสบร้อน โดยเฉพาะคนที่มีการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย จะมีอาการชา คนไข้จะมีจุดกดเจ็บอยู่บริเวณใต้ส้นเท้า โดยทั่วไปจะไม่ได้มีอาการอ่อนแรง ไม่ค่อยบวม ไม่แดงหรือร้อน
การรักษา
การรักษาเบื้องต้น หมออาจจะพิจารณาให้ทานยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ทายาลดการอักเสบ หรือใช้แผ่นรองเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยควรลดการใช้งาน รวมถึงลดน้ำหนักในคนที่น้ำหนักตัวมาก การรักษาหลัก คือ การทำการบริหารด้วยตนเอง ซึ่งเรียกว่า การบริหารยืดเอ็นใต้ฝ่าเท้า และการบริหารยืดเอ็นร้อยหวาย หากอาการยังไม่ดีขึ้น การทำกายภาพด้วยคลื่นกระแทก (extracorporeal shock wave therapy) สามารถช่วยให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้ ด้วยการบริหารและทำคลื่นกระแทก โอกาสหายของคนไข้อาจจะมากถึง 90 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว
สิ่งที่หมอค่อนข้างกังวล คือ การฉีดสเตียรอยด์ แพทย์หลายท่านได้แนะนำและทำการฉีดสเตียรอยด์ให้คนไข้ หมอเห็นด้วยว่าการฉีดสเตียรอยด์สามารถบรรเทาอาการได้ แต่ฤทธิ์อาจเป็นเพียงชั่วคราว คนไข้จะกลับมาปวดใหม่ แต่ไขมันใต้ฝ่าเท้าได้ฝ่อตัวบางลง เวลาเดินแล้วไม่มีไขมันมาลดการกระแทก นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่เอ็นใต้ฝ่าเท้าจะขาด ระหว่างเดินหรือวิ่งคนไข้อาจได้ยินเสียงเส้นเอ็นขาด ปวดบวมบริเวณส้นเท้ามากกว่าเดิม ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หากคนไข้ทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น อีกตัวเลือกหนึ่งที่มีคือการฉีดเกร็ดเลือดเข้มข้น (platelet rich plasma) สามารถลดอาการปวดได้เช่นกัน ได้ผลนานกว่าและผลข้างเคียงต่ำ
การผ่าตัด
หากรักษาเบื้องต้นแล้ว อาการไม่บรรเทา คนไข้มีตัวเลือกในการรับการผ่าตัด หมอจำเป็นต้องทำการตรวจร่างกาย พิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น เอ็กซเรย์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจการนำกระแสประสาท หรือเจาะตรวจเลือด ตามความเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจในสาเหตุที่จะทำการรักษา การผ่าตัดรักษารองช้ำ สามารถทำได้ตั้งแต่การเปิดแผลเข้าไปตัดเอ็นใต้ฝ่าเท้าออก การเอากระดูกงอกใต้ฝ่าเท้าออก และการเลาะคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง โดยมีเพียง2แผลเล็กๆได้ ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้ไว
สรุป
รองช้ำ หรือ เอ็นใต้ฝ่าเท้าเสื่อม สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ สำหรับคนที่มีอาการให้รีบทำการรักษา โอกาสหายจะสูงมาก หากปล่อยไว้นานจะรักษายากขึ้น หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นรองช้ำหรือไม่ แนะนำให้แวะมาพบหมอนะครับ