บทความสุขภาพ

Knowledge

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

นพ. ภูมิบาล เวศย์พิริยะกุล

ถ้าพูดถึง “โรคกระดูกคอเสื่อม” คุณมักนึกถึงกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่กระดูกเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้ว อาการกระดูกคอเสื่อมสามารถพบในช่วงอายุที่น้อยลงได้เช่นกัน เนื่องมาจากมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เสี่ยงกระดูกคอได้รับบาดเจ็บ อาจทำให้คุณกังวลได้ว่าอาการนี้อันตรายไหม


เพื่อให้คุณได้รู้แนวทางในการดูแลกระดูกหลังคอให้แข็งแรง บทความนี้ขอพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคกระดูกคอเสื่อมว่า มีอาการอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และรักษาด้วยวิธีอะไร เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคนี้


Key Takeaways


  • ภาวะกระดูกคอเสื่อมไม่เพียงแค่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่มีช่วงอายุน้อยได้อีกด้วย เนื่องจากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงกระดูกคออักเสบ
  • คนที่ป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมส่วนใหญ่ มีอาการไม่รุนแรง และสามารถดูแลตัวเองให้หายเองได้ แต่ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
  • อาการป่วยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาการปวดคอและศีรษะ กลุ่มอาการกระดูกคอทับรากประสาท และกลุ่มอาการกระดูกคอทับไขสันหลัง

รู้จักกับโรคกระดูกคอเสื่อม คืออะไร?


กระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดคอ โดยมีต้นเหตุมาจากกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนต้นคอ รวมถึงกระดูกต้นคอเสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกงอก (Osteophyte) หรือหมอนรองกระดูกบริเวณนั้นยื่นออกมาจนโพรงกระดูกคอตีบแคบ ทำให้กดทับรากประสาทบริเวณคอและไขสันหลัง นำไปสู่อาการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันขึ้นในที่สุด เช่น ปวดหลังส่วนคอ ปวดคอร้าวลงแขน ใช้งานมือไม่คล่อง เดินทรงตัวลำบาก เป็นต้น


กระดูกคอเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร?


กระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท สาเหตุ

โรคกระดูกคอเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงอายุเท่าไร มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร และเคยประสบอุบัติเหตุหรือไม่ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้


1. ข้อกระดูกคอเสื่อมจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น


เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ขึ้นไป กระดูกคอจะเสื่อมสภาพลงช้า ๆ เนื่องจากมีการใช้งานกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ มาตลอดทั้งช่วงชีวิตจนสึกหรอ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น หมอนรองกระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอเคลื่อน รวมถึงมีกระดูกคองอกออกมาจนกดทับไขสันหลังและรากประสาทด้วยเช่นกัน


2. กระดูกคอเสื่อมเพราะได้รับอุบัติเหตุ


เมื่อกระดูกคอได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น โดนกระแทก หรือลื่นหกล้มหัวคะมำ อาจทำให้กระดูกต้นคอหรือหมอนรองกระดูกคอมีพยาธิสภาพ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถใช้งานกระดูกคอได้ดีเท่าเมื่อก่อน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน


3. กระดูกต้นคอเสื่อมเพราะใช้งานกระดูกคอไม่ถูกต้อง


พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงกระดูกคอเสื่อม เช่น การก้มหน้านั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือเงยหน้าทำงานที่อยู่เหนือศีรษะเป็นประจำ ก้มหน้าเล่นมือถือนาน ๆ ทุกวัน รวมถึงการเล่นกีฬาที่ต้องสะบัดคอบ่อย ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกคอมีปัญหาเร็วขึ้น แม้ว่าคุณจะยังอายุน้อยอยู่ก็ตาม


4. มีโรคประจำตัวที่ทำให้กระดูกคอเสื่อม


คนที่มีโรคประจำตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่น เป็นโรคในกลุ่มอาการคลิปเปล-ไฟล์ (Klippel-Feil Syndrome) ที่กระดูกคอเชื่อมติดกันมากกว่า 2 ข้อขึ้นไป ทำให้คอสั้น และกระดูกคอเสื่อมได้ง่าย รวมถึงคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็ง (Cervical Dystonia) ซึ่งไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอได้ อาจเสี่ยงกระดูกต้นคอเสื่อมได้เช่นกัน


กระดูกคอเสื่อมมีอาการอย่างไร? แบบไหนควรพบแพทย์?


โรคกระดูกคอเสื่อมมีอาการที่บริเวณต้นคอเป็นอาการพื้นฐาน ได้แก่ ปวดหรือตึงคอ มีก้อนหรือปมที่คอ สะบักจม กล้ามเนื้อกระตุก มีเสียงดังป๊อปเมื่อคุณขยับคอ รวมถึงรู้สึกปวดศีรษะด้วย นอกจากนี้ กระดูกต้นคอที่งอก และหมอนรองกระดูกเสื่อมที่กดทับรากประสาทและไขสันหลังทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาด้วย ได้แก่


กระดูกต้นคอเสื่อม ทำให้เกิดกลุ่มอาการกดทับรากประสาท (Radiculopathy)


  • รู้สึกปวดร้าวลงแขนและลามไปถึงนิ้วมือ
  • มีอาการชาที่แขนและนิ้วมือ
  • กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง รู้สึกแขนไม่มีแรง

กระดูกคอเสื่อม ทำให้เกิดกลุ่มอาการกดทับไขสันหลัง (Myelopathy)


  • ไม่สามารถใช้งานแขนและนิ้วมือได้อย่างเต็มที่ ทำให้ใช้มือลำบาก
  • ก้มหรือเงยแล้วรู้สึกเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต (Lhermitte sign)
  • เดินทรงตัวไม่ค่อยได้ หกล้มง่ายเพราะไม่สามารถยืนให้มั่นคงได้
  • ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักได้ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง ทำให้อั้นอุจจาระ หรือปัสสาวะไม่อยู่

อาการต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มอาการกดทับไขสันหลังเป็นอาการที่มีความรุนแรงมากที่สุด หากคุณมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อให้การรักษาไม่บานปลาย ทั้งนี้ หากอาการของกระดูกคอเสื่อมไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการมานานกว่า 3 เดือน รวมถึงอาการป่วยนั้นรุนแรงขึ้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย


กระดูกคอเสื่อมกับวิธีรักษาให้อาการดีขึ้น


กระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท สาเหตุ

คุณอาจมีความกังวลว่ากระดูกคอเสื่อมรักษาหายไหม? โรคกระดูกคอเสื่อมมีวิธีรักษาหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าอาการของคุณรุนแรงหรือไม่ อันดับแรก แพทย์เฉพาะทางจะทำการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจร่างกาย อาจมองหาก้อนหรือปมที่คอ ดูความยืดหยุ่นของคอ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ การตอบสนองของมือ แขน ขา รวมถึงการทรงตัวขณะยืนและเดิน


จากนั้น แพทย์เฉพาะทางจะทำการเอกซเรย์ที่บริเวณลำคอ และอาจจะส่งทำ MRIพื่อให้เห็นภาพรายละเอียดของช่องกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และรากประสาทได้ชัดขึ้น และเมื่อทำการวินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษากระดูกคอเสื่อมที่เหมาะสมให้กับคุณ โดยมีวิธีรักษา ดังนี้


รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้กระดูกคอเสื่อม


หากคุณมีอาการที่ไม่รุนแรง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นวิธีการรักษาแรกที่แพทย์แนะนำ โดยให้จำกัดการเคลื่อนของกระดูกคอ พร้อมกับลดการอักเสบของไขสันหลังและเส้นประสาท ทั้งการหลีกเลี่ยงการหมุนคอ การแหงนคอ การก้มหน้าบ่อย ๆ การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน รวมถึงการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงคอ (Collar) ด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกคอเสื่อมเร็ว


การใช้ยารักษากระดูกคอเสื่อม


เมื่อได้รับการรักษาจากแพทย์แล้ว การทานยาจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมได้มากขึ้น โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยารักษา ดังต่อไปนี้


  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) สำหรับบรรเทาอาการปวด และการอักเสบของกระดูกต้นคอ เช่น ไอบูโพรเฟน และนาพรอกเซนโซเดียม ฯลฯ
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยบรรเทาอาการปวดที่มีความรุนแรง
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
  • ยากลุ่ม gabapentin หรือ pregabalin เพื่อลดอาการปวดร้าวลงแขน

ในการจ่ายยารักษา แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าคุณมีอาการอะไร แพ้ยาอะไร และสภาพร่างกายสามารถรับยาตัวนี้ได้หรือไม่ ดังนั้นผู้ป่วยกระดูกคอเสื่อมอาจได้รับยารักษาที่แตกต่างกันได้


รักษาอาการด้วยกายภาพบำบัด


การทำกายภาพบำบัดช่วยบรรเทาอาการปวดกระดูกคอเสื่อม เสริมสร้างความยืดหยุ่น และความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและไหล่ รวมถึงช่วยเพิ่มพื้นที่ช่องว่างระหว่างกระดูกคอ และกระดูกสันหลังส่วนบนด้วย โดยในปัจจุบันสามารถทำกายภาพบำบัดได้หลายวิธี เช่น


  • การทำท่ากายบริหาร โดยการเกร็งกล้ามเนื้อคอ แล้วใช้มือดันศีรษะอย่างน้อย 10 ครั้ง ครั้งละ 10 วินาที
  • การประคบร้อน หรือประคบเย็นบริเวณคอ เป็นเวลา15 นาที ทำหลาย ๆ ครั้งในระหว่างวัน
  • การดึงคอ โดยดึงคอเบา ๆ ด้วยมือ หรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างช่องว่างระหว่างกระดูกคอ และบรรเทาปวดได้
  • การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ โดยส่งคลื่นความร้อนไปที่กล้ามบริเวณคอและไหล่
  • การทำ Shockwave โดยส่งคลื่นกระแทกไปที่กล้ามเนื้อคอที่ปวด เพื่อบรรเทาอาการ

การผ่าตัดรักษากระดูกคอเสื่อม


การผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาในกรณีที่อาการกดเบียดรากประสาทหรือไขสันหลัง ร่วมด้วย ซึ่งเหมาะกับคนที่มีอาการปวดร้าว รู้สึกชาไปทั่วแขน มือ นิ้ว ใช้งานมือได้ลำบาก มีอาการอ่อนแรง และการเดินที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกคอที่เคลื่อน หรือกระดูกคอที่งอกผิดรูปออก รวมถึงการเชื่อมต่อกับคอ เพื่อให้อาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ดีขึ้น


ท้ายที่สุดแล้ว กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม?


กระดูกคอเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกต้นคอ และหมอนรองกระดูกคอเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกคองอก หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวออกจนกดทับรากประสาท รวมถึงไขสันหลังบริเวณนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกปวดคอก้มเงยได้ไม่เต็มที่ ปวดร้าวลงแขน มือ นิ้วมือ มีอาการชาทั่วแขน อีกทั้งไม่สามารถทรงตัวยืนหรือเดินได้


แต่ทั้งนี้ สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทานยา การทำกายภาพบำบัด และถ้าหากมีอาการที่กระทบกับระบบประสาทอาจทำการผ่าตัด เพื่อเอากระดูกที่กดทับไขสันหลังและรากประสาทออกไป จะช่วยให้คุณฟื้นตัวจากอาการกระดูกคอเสื่อมได้ดีขึ้น


หากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม คุณสามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจอาการและรับการรักษาได้ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ สามารถแก้ไขกระดูกคอและรักษากล้ามเนื้อบริเวณคอได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังให้คำแนะนำในการดูแลคอให้ฟื้นตัวได้เร็ว เพื่อให้คุณสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง


หากสนใจเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลพระรามเก้า สามารถติดต่อเราได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกระดูกคอเสื่อม


อาการกระดูกคอเสื่อม สามารถหายเองได้ไหม?


โรคกระดูกเสื่อมเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูก หรือกระดูกแล้ว ไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนปกติได้ แต่อาการที่เกิดขึ้นจากกระดูกคอเสื่อม เช่นอาการปวดคอ สามารถหายเองได้ หรือถ้ามีอาการไม่ดีขึ้นสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา การทำกายภาพบำบัด การนวดแพทย์ไทย รวมถึงการฝังเข็ม โดยเบื้องต้นยังไม่ต้องรับการผ่าตัด


อาการกระดูกคอเสื่อมสามารถปล่อยทิ้งไว้ได้ไหม?


ถ้ามีอาการปวดคอ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงแขน ชาลงแขน อ่อนแรงแขน การใช้งานมือไม่คล่อง และมีปัญหาในการทรงตัวหรือการเดิน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากเป็นอาการที่บ่งว่า มีการกดเบียนรากประสาท หรือ ไขสันหลังร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง


คนที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อม ควรกินอะไร?


แนะนำให้กินอาหารจำพวกแคลเซียมให้เพียงพอทุกวัน เช่น นมสด, ปลาตัวเล็ก, ผักใบเขียว หรือโยเกิร์ต เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างกระดูกคอของผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมให้แข็งแรง


References


Cleveland Clinic. (2023). Cervical Spondylosis. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17685-cervical-spondylosis#symptoms-and-causes


Cleveland Clinic. (2022). Cervical Traction. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/23093-cervical-traction


Daniel T. Kuo and Prasanna Tadi. (2023). Cervical Spondylosis. National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551557/


Mayo Clinic Staff. (2023). Cervical spondylosis. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervical-spondylosis/symptoms-causes/syc-20370787

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ภูมิบาล  เวศย์พิริยะกุล

นพ. ภูมิบาล เวศย์พิริยะกุล

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital