บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

ผู้สูงอายุหลายท่านคงสังเกตร่างกายของตัวเองแล้วพบว่าอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การรับประทานอาหารของเราเปลี่ยนไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาระบบทางเดินอาหารมากกว่าเมื่อเทียบกับสมัยหนุ่มสาว อาหารที่เคยรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อยในอดีต มาวัยนี้การรับประทานอาหารประเภทเดียวกันอาจทำให้ต้องเจอกับอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดจนปวดท้อง ทั้งหมดนี้เกิดจากเมื่ออายุมากขึ้นแล้วระบบทางเดินอาหารมีการเปลี่ยนแปลง


ทำให้โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากโรคที่พบในหนุ่มสาว บางโรคเป็นปัญหาของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ บางโรคทั้ง ๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน แต่อาการในผู้สูงอายุกลับแตกต่างจากอาการในวัยหนุ่มสาวอย่างมาก บทความนี้เราจะมาเรียนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ และข้อแนะนำเพื่อดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของระบบทางเดินอาหารและโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ


การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ


ระบบทางเดินอาหาร คือระบบของอวัยวะที่เป็นทางผ่านของอาหาร ตั้งแต่ปากไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก ดังนั้นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารจึงประกอบด้วย ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อวัยวะเหล่านี้จะบีบตัวนำพาอาหารไปผ่านกระบวนการย่อยให้กลายเป็นสารอาหารที่จะสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วกำจัดกากใยส่วนที่เหลือ และของเสียออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ


เมื่อเที่ยบกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ระบบทางเดินอาหารจัดว่าได้รับผลกระทบจากอายุที่มากขึ้นน้อยกว่าอวัยวะในระบบอื่น ๆ โดยทั่วไปจะพบการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารได้ชัดเจนเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป


การเปลี่ยนแปลงของส่วนต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารของผู้สูงอายุ มีดังต่อไปนี้


  • ปาก มีปริมาณน้ำลายลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกรามลดลง ทำให้แรงในการเคี้ยวลดลง และหากมีปัญหาการสูญเสียฟัน ฟันผุ หรือมีโรคเหงือกที่ทำให้ฟันโยก ก็จะยิ่งทำให้การเคี้ยวอาหารแย่ลงไปอีก
  • หลอดอาหาร มักพบว่าแรงบีบตัวของหลอดอาหารลดลง และมีการบีบตัวผิดปกติมากขึ้น ทั้งในส่วนของหลอดอาหาร และกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร
  • กระเพาะอาหาร เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้ขยายตัวเพื่อบรรจุอาหารได้น้อยลง และเกิดแผลเลือดออกได้ง่ายขึ้น
  • ลำไส้เล็ก ในผู้สูงอายุมักพบว่ามีเอนไซม์แลคเตส (lactase) ที่ใช้ย่อยน้ำตาลในนมลดลง ทำให้ย่อยผลิตภัณฑ์จากนมได้ยากขึ้น และมักทำให้มีอาการแพ้นม (lactose intolerance) เช่นมีอาการท้องเสีย นอกจากนี้ มักพบปัญหาของสมดุลแบคทีเรียที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และแคลเซียม
  • ลำไส้ใหญ่ บีบตัวไล่กากใยได้ช้าลง
  • ไส้ตรง ขยายใหญ่ขึ้นและบีบตัวได้ลดลง ทำให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้น
  • ระบบประสาทควบคุมทางเดินอาหาร สั่งการได้ช้าลง ทำให้การประสานงานแย่ลงและเกิดการบีบตัวผิดปกติของทางเดินอาหารได้มากขึ้น

โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย


จากการเปลี่ยนแปลงตามอายุของทางเดินอาหารดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารมากขึ้น เช่น


  • กลืนลำบาก
  • ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ปัญหาโรคมะเร็ง
  • ปัญหาการบีบตัวได้ไม่ดีของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่
  • ปัญหาการย่อยและการดูดซึมอาหาร เพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดสารอาหาร
  • ปัญหาการกลั้นอุจจาระไม่ได้
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จากระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหารที่แย่ลง

การกลืนลำบาก


หากเคยดื่มชาร้อน กาแฟ หรือน้ำร้อนจัด จะมีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารจะทำให้กลืนลำบากได้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ


การกลืนลำบากในผู้สูงอายุเกิดจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลอดอาหารที่ลดลง ทำให้มีแรงบีบตัวลดลง รวมไปถึงเส้นประสาทสั่งการก็เสื่อมลงไปตามวัย ทำให้การบีบตัวผิดปกติ ไม่ประสานกันในบางจังหวะ


โดยอาการที่เกิดขึ้นและพบได้บ่อย ได้แก่ กลืนแล้วติดแน่น ๆ ในอก อาจจะรู้สึกเจ็บ หากเป็นมากอาจทำให้สำลัก หรืออาเจียนได้ ผู้ป่วยกลืนลำบากจึงมักไม่มีความสุขในการรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารได้น้อยลง จนทำให้น้ำหนักลดหรือขาดสารอาหารได้ ปัญหาการกลืนลำบากยังพบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคสมองอื่น ๆ โรคต่อมไทรอยด์ และโรคเบาหวาน


ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลืนลำบากที่เกิดจากอายุมักมีอาการไม่รุนแรง สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้พบปัญหาการกลืนลำบากได้ เช่น หลอดอาหารตีบหรือหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งของหลอดอาหาร หรือมะเร็งในช่องทรวงอกที่โตจนมาเบียดกดทับหลอดอาหาร


อย่างที่กล่าวไปข้างต้นปัญหาการกลืนลำบากเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนั้นหากมีอาการกลืนลำบากจึงควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง โดยการตรวจวินิจฉัย แพทย์อาจจะพิจารณาการตรวจส่องกล้องตรวจหลอดอาหารและทางเดินอาหารส่วนต้น (esophagogastroduodenoscope; EGD หรือ upper endoscopy) ซึ่งจะให้ภาพที่ชัดเจนและแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้เลยในคราวเดียว


หากพบว่าสาเหตุของการกลืนลำบากมาจากความเสื่อมตามวัย ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยการเคี้ยวให้ละเอียด เลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำมากเพื่อชดเชยน้ำลายที่ลดลง รักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้ดี หากมีฟันหักหรือฝันผุควรใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม เพื่อให้การเคี้ยวอาหารดีขึ้น


ท้องผูกในผู้สูงอายุ


ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมักไม่พบปัญหาท้องผูกมากนัก แต่พบได้บ่อยมากในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ๆ หรือเป็นโรคที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ไม่มีแรงเบ่งอุจจาระ (เช่น โรคถุงลมโป่งพอง) หรืออาจท้องผูกจากผลข้างเคียงของยาที่ได้รับ เช่น ยาเสริมธาตุเหล็ก ยาลดกรดที่มีอัลลูมินั่มอย่างเดียว ยาระงับปวดในกลุ่มโอปิออยด์ เป็นต้น


อาการท้องผูกที่เป็นมานานมักจะไม่มีสาเหตุร้ายแรง กรณีท้องผูกผิดไปจากเดิมจะเป็นอาการเตือนของมะเร็งลำไส้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงของปัญหาทางเดินอาหารรุนแรง คือ ท้องผูกที่เพิ่งเป็นใหม่ ๆ หรือเป็นมานานแล้วแต่จู่ ๆ มีอาการเปลี่ยนไป เช่น มีอุจจาระเล็ดหรือเล็กลง มีเลือดปน ท้องผูกสลับท้องเสีย อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคชนิดอื่น จึงควรเข้ารับการตรวจเพื่อวินิจฉัย


ปัจจุบันวิธีตรวจวินิจฉัยอาการท้องผูกที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีจะเป็นการส่องกล้องที่ลำไส้ใหญ่ (total colonoscope) เพราะเป็นการตรวจที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีและคุ้มค่า (cost-effective) มากกว่าการตรวจ sigmoidoscope และ X-ray ส่วนการสวนแป้งแบเรียม (barium enema) และการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ (stool occult blood) เป็นวิธีการตรวจค้นหามะเร็งที่ประหยัด แต่มีความไวในการตรวจพบโรคน้อย เนื่องจากเลือดแฝงในอุจจาระที่อาจมาจากมะเร็งอาจตรวจไม่พบ เพราะมะเร็งอาจไม่ได้มีเลือดออกอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งตรวจไม่พบ


ผู้สูงอายุที่ท้องผูกมานาน แต่สุขภาพโดยทั่วไปปกติดี ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้วไม่พบความผิดปกติ สามารถบรรเทาอาการท้องผูกได้โดยการดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกากใยในทางเดินอาหาร ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา โดยช่วงเวลาที่แนะนำคือหลังอาหารเช้า เพราะจะมีแรงเสริมในการขับถ่ายจาก gastrocolic reflex ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ แต่อย่านั่งนานเกิน 15 นาทีหรือนั่งเบ่งแรง ๆ นาน ๆ เพราะไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับยาระบายที่ปลอดภัย หรือใช้การสวนอุจจาระเป็นครั้งคราว


ท้องเสียในผู้สูงอายุ


อาการท้องเสีย เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุประมาณ 7-14% เกิดจากมีการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเร็วเกินไป ทำให้มีการขับกากอาหารออกเร็วเกินไป โดยเฉพาะในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเวลาในการดึงน้ำออกจากกากอาหารน้อยลง อุจจาระจึงมีน้ำมาก เหลวไม่จับตัวเป็นก้อน ทำให้ต้องขับถ่ายบ่อยกว่าปกติ การบีบตัวของลำไส้ที่มากขึ้นจะทำให้มีอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ ร่วมด้วยได้


สาเหตุของอาการท้องเสียในผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ผลข้างเคียงของยา การย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ไม่ดี โรคเซลิแอกหรือการแพ้กลูเตน โรคลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง กรณีเคยถ่ายดีแม้ท้องเสียผิดไปจากเดิม อาจเป็นจากการเตือนมะเร็งลำไส้ ควรรีบปรึกษาแพทย์


ท้องอืดในผู้สูงอายุ


อาการท้องอืดพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบได้ถึง 20-45% มักเกิดจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระเพาะอาหารบีบตัวได้ลดลง มีลมค้างในกระเพาะอาหารมากขึ้น อาหารค้างในทางเดินอาหารส่วนต้นนานขึ้น โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องส่วนบนหรือบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ พะอืดพะอม เรอบ่อย แน่นท้อง อิ่มเร็ว รับประทานอาหารแล้วไม่สบายท้อง


สาเหตุของอาการท้องอืดมักมีหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีกรดเกินในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบหรือเป็นแผล แพ้อาหาร การรับประทานอาหารที่มากเกินไป ความเครียด ผลข้างเคียงของยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน เป็นต้น ผู้ป่วยควรกินอาหารกลุ่มที่มีลมน้อยลงหรือพิจรณากินยาละลายลดลม


การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น


ทางเดินอาหารส่วนต้นประกอบไปด้วยช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น


เลือดที่ออกมาจากทางเดินอาหารส่วนต้น จะออกไปจากร่างกายได้สองทางคือ ทางข้างบนออกมาเป็นอาเจียน ผู้ป่วยจึงมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดสด หรืออาเจียนเป็นน้ำสีกาแฟ อีกทางหนึ่งคือออกทางข้างล่าง คือเลือดถูกพาไปตามทางเดินอาหาร ถูกย่อยและออกมากับอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยมาด้วยอาการถ่ายเป็นอุจจาระดำ ยิ่งเลือดออกมากยิ่งสีดำเข้ม กลิ่นเหม็นผิดไปจากเดิม และเนื้อสัมผัสของอุจจาระผิดปกติ คือหนืดเหนียวไม่เป็นก้อน


สาเหตุของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้สูงอายุได้แก่ แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ หลอดอาหารอักเสบ และ โรคมะเร็ง (โดยพบได้ประมาณ 2%)


ผู้สูงอายุจะมีอัตราการเสียชีวิตจากเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นสูงกว่าคนในวัยหนุ่มสาวมาก เนื่องมาจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแข็งตัวของเลือด โรคหัวใจและความดันสูง และการใช้ยาหลายชนิด ดังนั้นภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นจึงเป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ และควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีจะเป็นการส่องกล้อง (endoscope) ซึ่งมีความปลอดภัยและสามารถรักษาแผลที่กำลังมีเลือดออกได้


การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง


ทางเดินอาหารส่วนล่างประกอบไปด้วยลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก เลือดที่ออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างจะปนออกมากับอุจจาระ โดยลักษณะของเลือดที่ออกมากับอุจจาระที่พบได้ ได้แก่


  1. เลือดออกฉับพลัน โดยหากจุดเลือดออกอยู่ที่ลำไส้เล็กหรือส่วนแรกของลำไส้ใหญ่ อาจจะทำให้อุจจาระดำเหมือนกับที่เลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้น แต่หากจุดเลือดออกอยู่ที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักก็จะมาด้วยอุจจาระมีเลือดสีแดงสดปน หรือถ่ายออกมามีแต่เลือดสดเลยก็ได้
  2. เลือดแฝงในอุจจาระ คือเลือดออกปนมาในอุจจาระ แต่ดูไม่ออกด้วยตาเปล่า ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เลือดแฝงในลักษณะนี้พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยอาจเสียเลือดได้มากถึง 100 มิลลิลิตรต่อวัน แต่ยังมีลักษณะอุจจาระที่ดูเป็นปกติ ทำให้การส่งตรวจเลือดแฝงในอุจจาระเป็นการตรวจคัดกรองที่มีความสำคัญอย่างมาก
  3. เลือดออกที่หาจุดเลือดออกไม่ได้ แม้จะทำการตรวจหาด้วยการส่องกล้องและเทคนิคทางรังสีวิทยาแล้ว ลักษณะเลือดออกเช่นนี้พบได้ประมาณ 5% ของผู้สูงอายุที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง

ในคนเอเชีย สาเหตุของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคริดสีดวงทวาร แผลปริแตกที่ขอบทวารหนัก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ ส่วนสาเหตุที่รองลงมา ได้แก่ เนื้องอกในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลำไส้ใหญ่อักเสบจากแผลเรื้อรัง ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการขาดเลือด และลำไส้ใหญ่อักเสบจากรังสี ส่วนโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (diverticulosis) เป็นกลุ่มที่เกิดจาดภาวะลมในท้องมากสะสมมานานจะเกิดอักเสบหรือเลือดออกได้ จำเป็นต้องวินิฉันด้วยการส่องกล้องหาจุดเลือดออกหรือการทำคอมพิวเตอร์ช่องท้อง เป็นสาเหตุที่พบได้ยากในคนเอเชีย แต่กลับเป็นสาเหตุอันดับแรกในชาวตะวันตก โดยการตรวจวินิจฉัยที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่


อาการปวดท้องในผู้สูงอายุ


อาการปวดท้องนับเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ และมักมีความแตกต่างจากอาการปวดท้องในคนหนุ่มสาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีเส้นประสาทรับความรู้สึกที่เสื่อมไปตามวัย ทำให้ปวดท้องไม่มาก แต่แพทย์กลับตรวจพบโรคหรือความผิดปกติที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะอาหารทะลุ หรือไส้ติ่งแตกในช่องท้อง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต


การวินิจฉัยโรคจากอาการปวดท้องในผู้สูงอายุมีความซับซ้อน และจากอาการปวดท้องไม่รุนแรงในผู้สูงอายุที่ทำให้ผู้สูงอายุหลายรายคิดว่าไม่เป็นอันตรายกว่าจะมาพบแพทย์จึงมักเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามหรือละเลยอาการปวดท้องในผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจและพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว


ซึ่งสาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลันในผู้สูงอายุอาจเกิดจาก ถุงน้ำดีอักเสบได้ประมาณ 20%, ลำไส้อุดตันประมาณ 12% และมะเร็งประมาณ 4% ในขณะที่หากอายุมากกว่า 70 ปี พบว่ามีสาเหตุจากมะเร็งได้กว่า 25%


มะเร็งลำไส้ใหญ่


มะเร็งลำไส้ใหญ่การวินิจฉัยแม้ไม่มีอาการใดๆ ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรรับการคัดกรองด้วยการส่องกล้องหรือปรึกษาแพทย์ เพื่อเช็กก่อนเป็นมะเร็งทุกราย หรือหากมีอาการก็มักจะเป็นอาการทั่วไปที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ถ่ายอุจจาระผิดไปจากปกติ ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง มีเลือดออกทางทวารหนัก มีภาวะซีดเลือดจางจากการเสียเลือดเรื้อรัง หรือมีอาการมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่ 1-2 สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงมีความสำคัญมาก โดยวิธีที่ใช้เพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การส่องกล้องของลำไส้ใหญ่ (total colonoscope)


การป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ


เราสามารถดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และลดความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินอาหารได้ด้วยการทำตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้


  1. ฝึกพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ กินให้สมดุลครบทั้ง 5 หมู่ จำกัดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ลดปริมาณอาหารจำพวกเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารแปรรูปสูง และอาหารที่มีน้ำตาลให้น้อยที่สุด เน้นการบริโภคใยอาหารให้เพียงพอและหลากหลายเพื่อรักษาสมดุลแบคทีเรียที่ดีในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกและท้องเสียลงได้ ฝึกการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ หากมีปัญหาฟันผุ ฟันหัก ควรพิจารณาการรักษารากฟัน ใส่ฟันปลอม หรือรากฟันเทียม เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น
  2. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีภาวะขาดสารอาหารก็จำเป็นต้องเสริมทดแทนตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น วิตามินบี12 วิตามินดี แคลเซียม หรือธาตุเหล็ก
  3. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลจิตใจให้ไม่เครียด เพื่อรักษาสุขภาพโดยรวมของทั้งร่างกาย
  4. หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ควรปล่อยไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการตรวจที่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกาย การส่งทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การส่องกล้อง การตรวจอัลตร้าซาวนด์ช่องท้อง และการถ่ายภาพรังสีเพื่อวินิจฉัย เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้โรครุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

สรุป


ปัญหาระบบทางเดินอาหารพบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่าในวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่ค่อยชัดเจน การตรวจวินิจฉัยซับซ้อนกว่าในวัยหนุ่มสาว บางโรค เช่น โรคมะเร็งพบได้บ่อยมากกว่าวัยหนุ่มสาว และเมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคทางระบบทางเดินอาหารก็มักจะรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า เนื่องจากมักมีโรคร่วมอื่น ๆ อยู่ด้วย ดังนั้นการหมั่นตรวจเช็กอาการผิดปกติ การตรวจคัดกรอง และการตรวจสุขภาพ จึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นในวัยผู้สูงอายุ เพราะสามารถป้องกันอาการรุนแรง และทำให้ตรวจพบโรคได้เร็วและรับการรักษาได้เร็วขึ้น


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ระพีพันธุ์  กัลยาวินัย

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital