บทความสุขภาพ

Knowledge

เอ็นไขว้หน้าขาด เพิ่มความเสี่ยงเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

เอ็นไขว้หน้าเข่ามีความสำคัญมากโดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว แต่หากมีการเคลื่อนไหวบิดเข่าที่รุนแรงเกินไปอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวโดยตรง ข้อเข่าจะเสียความมั่นคง และมีความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจากการไม่มีเอ็นไขว้หน้า


Key Takeaways


  • เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่เพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเข่า และช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวข้อเข่าไม่ให้เกิดการเคลื่อนผิดตำแหน่ง
  • เอ็นไขว้หน้าขาดจะทำให้ข้อเข่าสูญเสียความมั่นคง เกิดภาวะข้อเข่าหลวม ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว และอาจเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต
  • การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาดสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด หรือรักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ

ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้า


เอ็นไขว้หน้าเข่า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) คือ เอ็นสำคัญในข้อเข่าที่เชื่อมระหว่างปลายกระดูกต้นขาด้านหลัง พาดไขว้มายังต้นกระดูกหน้าแข้งด้านหน้า มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหว ให้ข้อเข่ามีความมั่นคง ไม่ให้หลวมเคลื่อนผิดตำแหน่ง และป้องกันการบาดเจ็บของผิวข้อเข่าจากการเคลื่อนไหวในลักษณะบิดหมุนข้อเข่า


ซึ่งเอ็นไขว้หน้ามักจะถูกใช้งานมาก ๆ ในนักกีฬาที่ต้องการความว่องไวในการเคลื่อนไหว เช่น แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล บาสเกตบอล ฯลฯ หากมีการเคลื่อนไหวบิดเข่าที่รุนแรงและรวดเร็วเกินไปอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้


เอ็นไขว้หน้าขาด มีอาการอย่างไร?


symptom-of-anterior-cruciate-ligament-1024x1024.webp

การเคลื่อนไหวที่รุนแรงอาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวข้อเข่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้


1. อาการเอ็นไขว้หน้าขาดเฉียบพลัน


หลังจากเอ็นไขว้หน้าขาดทันที ผู้ป่วยจะได้ยินหัวเข่ามีเสียงหรือรู้สึกมีอะไรดีดอยู่ในข้อเข่า และมีอาการปวดเข่ารุนแรงจนไม่สามารถเหยียดงอหรือลงน้ำหนักได้เลย รวมถึงมีอาการบวมจากเลือดคั่งในข้อเข่าด้วย


2. อาการเอ็นไขว้หน้าขาดในระยะยาว


เอ็นไขว้หน้าขาดมักจะไม่สามารถฟื้นฟูด้วยตนเองได้ ในระยะยาวจึงมักพบอาการข้อเข่าหลวม ข้อเข่าเกิดการเคลื่อนไหวผิดตำแหน่ง ไม่สามารถวิ่งหรือเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม และมีอาการปวดเข่าเรื้อรัง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม จนต้องเข้ารับการผ่าตัดเข่าเสื่อมในอนาคต เนื่องจากข้อเข่าหลวมทำให้ผิวข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย


เอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?


เอ็นไขว้หน้าขาดสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักดังต่อไปนี้


การเล่นกีฬา


สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ที่เอ็นไขว้หน้าขาดคือการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เคลื่อนไหวรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนทิศทางการหมุนข้อเข่าอย่างรวดเร็วจนเกิดการฉีกขาดขึ้น


การเกิดอุบัติเหตุ


เอ็นไขว้หน้าขาดไม่ได้เกิดเฉพาะแค่กับนักกีฬาเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่ารุนแรง ทำให้เข่าบิดผิดรูป เช่น ตกบันได อุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าอาจเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดหรือเกิดจากการบาดเจ็บสะสมของเอ็นไขว้หน้าก็ได้


ใครที่มีโอกาสเกิดเอ็นไขว้หน้าขาด


who-is-at-risk-of-rupturing-the-anterior-cruciate-ligament.webp
  • นักกีฬาหรือผู้ที่ชอบเล่นกีฬา เนื่องจากการเล่นกีฬาจะต้องมีการเคลื่อนไหวข้อเข่าที่รวดเร็วและรุนแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการบิดเข่าเพื่อเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การหยุดกะทันหัน การกระโดด กระแทก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่เพิ่มโอกาสให้เอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บและฉีกขาดได้
  • ผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงมักมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่าน้อยกว่าผู้ชาย หากมีการบาดเจ็บที่บริเวณข้อเข่าจึงมีโอกาสที่เอ็นไขว้หน้าขาดมากกว่า

การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาด


การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาดสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้


  • การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ : แพทย์จะมีการสอบถามสาเหตุการบาดเจ็บข้อเข่า เจ็บปวดบริเวณไหน ระดับความเจ็บปวดเท่าไหร่ และสังเกตถึงลักษณะการบาดเจ็บข้อเข่าด้วยตาเปล่า เช่น ข้อเข่าบวมมากไหม มีการบิดผิดรูปหรือไม่
  • การเอกซเรย์ : เพื่อดูว่าอาการบาดเจ็บที่ข้อเข่าเกิดจากการแตกหักของกระดูกหรือไม่
  • การทำ MRI : เพื่อตรวจประเมินโครงสร้างภายในข้อเข่าอย่างละเอียด โดยแพทย์จะสามารถมองเห็นการบาดเจ็บของเอ็น กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกเข่าและผิวกระดูกอย่างชัดเจน ซึ่งในการตรวจ MRI จะทำให้ทราบว่าการบาดเจ็บข้อเข่าเกิดขึ้นจากเอ็นไขว้หน้าขาดจริงหรือไม่

วิธีการรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด


เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าอาการปวดเข่าเกิดจากเอ็นไขว้หน้าขาด จะมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 รูปแบบคือการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาด้วยการผ่าตัด


การรักษาแบบประคับประคอง


หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นจากเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงเส้นเดียว ไม่มีการบาดเจ็บจากเอ็นเส้นอื่นหรือการบาดเจ็บที่หมอนรองกระดูกร่วมด้วย ข้อเข่ายังไม่หลวมมาก และไม่ใช่ผู้ที่ต้องใช้งานข้อเข่าที่ต้องมีการบิดหมุนบ่อย ๆ อย่างผู้สูงอายุ ก็สามารถเลือกการรักษาแบบประคับประคอง ด้วยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบเข่าสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ช่วยทำหน้าที่ทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาดไปได้


การรักษาด้วยการผ่าตัด


หากเอ็นไขว้หน้าขาดร่วมกับการบาดเจ็บตำแหน่งอื่นในข้อเข่า เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เอ็นอื่น ๆ ฉีกขาด ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าหลวมไม่มั่นคง หรือผู้ป่วยอายุน้อย และยังต้องการใช้งานข้อเข่าได้เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องแผลเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อใกล้เคียง ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้เร็วยิ่งขึ้น


การปฐมพยาบาลและดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด


หากมีการบาดเจ็บที่ข้อเข่า สามารถปฐมพยาบาลและดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้


  • หยุดการเคลื่อนไหวข้อเข่าทันที และยกขาให้อยู่ในท่าทางเหยียดตรง
  • ประคบเย็นบริเวณข้อเข่า
  • ให้ลองขยับข้อเข่าอย่างช้า ๆ ว่ายังมีอาการเจ็บปวดอยู่หรือไม่ หากเจ็บปวดจนไม่สามารถขยับข้อเข่าได้เลยให้ทำการดามข้อเข่าและพบแพทย์ทันที

แต่ในกรณีที่ข้อเข่าบิดผิดรูป ให้รีบพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องกด หรือจัดให้กลับเข้าที่ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ


รักษาเอ็นไขว้หน้าขาด เพื่อกลับไปเคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า


เอ็นไขว้หน้าขาด อาจไม่ได้พบบ่อยในบุคคลทั่วไป แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้อีกครั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต


ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า เราใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ด้วยการประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยทีมแพทย์เฉพาะทางประจำศูนย์รักษ์ข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับมาก้าวเดินได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะเอ็นไขว้หน้าขาด


เอ็นไขว้หน้าขาด ไม่ผ่าตัดได้ไหม?


เอ็นไขว้หน้าขาดอาจไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บจากเอ็นไขว้หน้าขาดเส้นเดียว และไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานข้อเข่าบ่อย ๆ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ


เอ็นไขว้หน้าขาด จะกลับมาเดินและเล่นกีฬาได้ไหม?


หลังรับการผ่าตัดแก้ไขเอ็นไขว้หน้าขาด และทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินและเล่นกีฬาได้อีกครั้ง


References


Anterior Cruciate Ligament (ACL) Injuries. (n.d.). orthoinfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/anterior-cruciate-ligament-acl-injuries/


Benjamin, C. (2024, June 17). Anterior cruciate ligament (ACL) injury. MedlinePlus. https://medlineplus.gov/ency/article/001074.htm


Evans, J., Mabrouk, A., & Nielson, J. L. (2023, November 17). Anterior cruciate ligament knee injury. In StatPearls. StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499848/


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ณัฐวุฒิ  ไพสินสมบูรณ์

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital