บทความสุขภาพ

Knowledge

กระดูกสะโพกหัก ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยคือ การพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ จากข้อมูลของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 3 จะประสบอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มทุกปี และในจำนวนนี้ ผู้สูงอายุกว่าหมื่นรายได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขาหรือข้อสะโพกจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 20% ของผู้สูงอายุที่มีข้อสะโพกหักมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี


ดังนั้น “กระดูกสะโพกหัก” ที่เกิดจากการพลัดตกหกล้มจึงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่อาจส่งผลให้เกิดความพิการ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ บทความนี้จะกล้าวถึงภาวะกระดูกสะโพกหักในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น


กระดูกสะโพกหัก คืออะไร?

กระดูกสะโพกหักเป็นภาวะกระดูกหักแบบหนึ่ง นั่นคือเกิดการแตกหักของกระดูกส่วนต้นของกระดูกต้นขา (femur) ใกล้กับข้อสะโพก ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักเกิดจากการลื่นล้มหรืออุบัติเหตุเล็กน้อย แต่สำหรับคนหนุ่มสาว กระดูกสะโพกหักมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การตกจากที่สูง


การรักษาที่ทันท่วงทีและถูกต้องเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ


อาการกระดูกสะโพกหัก


  1. ปวดรุนแรงบริเวณสะโพกหรือโคนขา: เมื่อกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดอย่างรุนแรงที่บริเวณสะโพกหรือขา โดยเฉพาะเมื่อพยายามขยับหรือกดน้ำหนักลงบนขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บ อาการปวดมักจะเป็นแบบเฉียบพลันและไม่หายไป แม้จะหยุดเคลื่อนไหวแล้วก็ตาม
  2. ขยับสะโพกหรือขาได้ลำบาก: ผู้ป่วยอาจพบว่าไม่สามารถขยับสะโพกหรือขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บได้ตามปกติ การเคลื่อนไหวอาจจำกัดหรือทำได้แค่บางท่าเท่านั้น โดยเฉพาะการยกขาหรือหมุนขา
  3. บวม ช้ำ หรือมีรอยฟกช้ำรอบสะโพก: บริเวณที่กระดูกเกิดการแตกหักมักจะมีอาการบวมและฟกช้ำเนื่องจากการเสื่อมของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง บางครั้งอาจเห็นรอยฟกช้ำที่ขาหรือสะโพกซึ่งจะขยายไปตามเวลาหลังการบาดเจ็บ
  4. ขาข้างที่บาดเจ็บดูสั้นลงหรือบิดผิดรูป: เมื่อเกิดการหักที่กระดูกสะโพก ขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บอาจดูสั้นลงกว่าข้างที่ไม่บาดเจ็บ หรือขาอาจบิดออกด้านนอก (external rotation) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะที่ผิดปกติของขา
  5. ไม่สามารถยืนหรือเดินได้: เมื่อกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถยืนหรือเดินได้ เพราะไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาข้างที่บาดเจ็บได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นหรืออุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น วอล์คเกอร์หรือไม้เท้า
  6. มีการขยับผิดท่าหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ: ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติหรือเมื่อพยายามขยับขาจะรู้สึกถึงการผิดรูป เช่น การยกขาสูงไม่ได้ หรือการหมุนขาแล้วเกิดอาการปวด

อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณของกระดูกสะโพกหักที่ควรได้รับการตรวจสอบจากแพทย์โดยทันที เพราะการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสะโพกหัก


  • ภาวะกระดูกพรุน: เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกจะบางลงและสูญเสียความแข็งแรง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการหักแม้จะไม่ได้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การหกล้มเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกหักได้ โดยเฉพาะในบริเวณกระดูกสะโพกที่มีความเสี่ยงที่จะหักได้ง่าย
  • การเปลี่ยนแปลงทางสายตา: ในผู้สูงอายุที่มีสายตายาว เกิดต้อกระจก หรือปัญหาลานสายตาที่แคบลงอาจทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในที่มืดหรือในที่ที่สภาพแสงน้อย ทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหรือพลัดตกหกล้มได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้กระดูกหักได้
  • กล้ามเนื้อเสื่อม: กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ อ่อนแอลงเมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ไม่ดี ทำให้มีโอกาสในการหกล้มและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการหกล้มได้ง่าย
  • การทรงตัวที่แย่ลง: ระบบประสาทที่เสื่อมสภาพตามอายุทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวลดลง ทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ไม่ได้ดีเหมือนหนุ่มสาวและเสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายขึ้น
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง
    • การใช้ยาบางชนิด: ยาบางประเภท เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต หรือยาที่ทำให้เวียนศีรษะ อาจส่งผลต่อการทรงตัวและเพิ่มความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม
    • โรคประจำตัว: โรคที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทหรือการเคลื่อนไหว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง อาจทำให้การทรงตัวไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม
    • สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย: การเดินในที่ที่มีพื้นผิวลื่นหรือมีสิ่งกีดขวาง เช่น พื้นที่มีเครื่องตกแต่งที่อาจทำให้สะดุด อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ง่าย
  • อุบัติเหตุรุนแรง: สำหรับคนหนุ่มสาว กระดูกสะโพกหักมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การตกจากที่สูง

กระดูกสะโพกหัก ทำอย่างไรดี?


หากสงสัยว่ามีอาการกระดูกสะโพกหัก เช่น ปวดสะโพกจนขยับไม่ได้ ยืนหรือเดินไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด เพราะการปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา เช่น


  • แผลกดทับ: การนอนติดเตียงนาน ๆ อาจทำให้เกิดแผลกดทับ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
  • กล้ามเนื้อขาลีบ: เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงจนลุกขึ้นเดินไม่ได้
  • ภาวะปอดบวม: การนอนราบติดเตียงทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอด
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ: การขับถ่ายปัสสาวะลำบากจากการนอนติดเตียง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ลิ่มเลือดอุดตัน: การเคลื่อนไหวที่จำกัดเพิ่มความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตันในขาหรือปอด ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีวินิจฉัยกระดูกสะโพกหัก


การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายโดยแพทย์ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยยืนยันการหักของกระดูก ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัยมีดังนี้


1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย

  • แพทย์จะสอบถามประวัติเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การหกล้ม หรืออุบัติเหตุ
  • ตรวจหาสัญญาณผิดปกติ เช่น อาการปวดบริเวณสะโพก การบวม การผิดรูป หรือการขยับขาไม่ได้

2. การตรวจทางรังสีวิทยา (X-ray)

  • เป็นวิธีหลักที่ใช้ตรวจดูการหักของกระดูก โดยเฉพาะบริเวณคอของกระดูกต้นขาหรือข้อสะโพก
  • แพทย์จะสามารถเห็นลักษณะการหัก เช่น การเลื่อน หรือการแตกของกระดูก

3. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

  • มักตรวจในกรณีที่ผล X-ray ไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่ามีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อหรือกระดูกพรุนร่วมด้วย
  • เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพก แต่ผล X-ray ไม่พบการหักอย่างชัดเจน

4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

  • ใช้เพื่อดูรายละเอียดของกระดูกในมุมที่ X-ray ทั่วไปไม่สามารถแสดงได้
  • เหมาะสำหรับการประเมินการหักที่ซับซ้อนและใช้วางแผนการผ่าตัด

5. การตรวจวิเคราะห์ความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density Test)

  • ใช้เพื่อประเมินภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหัก

วิธีการรักษากระดูกสะโพกหัก

การรักษากระดูกสะโพกหักต้องพิจารณาจากความรุนแรงของการหัก สภาพร่างกาย และอายุของผู้ป่วย โดยวิธีรักษาหลักมีดังนี้


การผ่าตัด


  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Replacement): ใช้ในกรณีกระดูกสะโพกหักจนเสียหายหนักหรือไม่สามารถสมานได้ เช่น มีการหักที่บริเวณหัวกระดูกสะโพก แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเปลี่ยนส่วนที่เสียหายออกแล้วทดแทนด้วยข้อสะโพกเทียมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้
  • การผ่าตัดยึดตรึงกระดูก (Internal Fixation): โดยใช้หมุดโลหะหรือแผ่นโลหะช่วยยึดกระดูกในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหมาะสำหรับกระดูกที่หักไม่ซับซ้อน การรักษาแบบนี้ช่วยลดเวลาการพักฟื้นและทำให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้
  • การผ่าตัดแผลเล็ก (MIS – Minimally Invasive Surgery): เทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ โดยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัด ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด


  • ดึงกระดูก (Traction): เป็นการใช้เครื่องมือช่วยจัดตำแหน่งกระดูกให้เข้าที่ โดยมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เหมาะหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมที่ซับซ้อน
  • พักฟื้นบนเตียง (Bed Rest): เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนหรือสามารถสมานได้เอง อย่างไรก็ตาม ต้องระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อในปอด และกล้ามเนื้อลีบ

กายภาพบำบัด


  • ควรเริ่มทำกายภาพบำบัดทันทีหลังการรักษา เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินและทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น รวมถึงลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อลีบ หรือความสมดุลในการเดินเสียไป

การรักษาเสริม


  • ยาบรรเทาอาการปวด: เพื่อลดความเจ็บปวดจากการรักษาหรือการผ่าตัด
  • อาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี: ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และลดความเสี่ยงกระดูกหักซ้ำ

ช่วงเวลา (ฤดู) ที่ผู้สูงอายุสะโพกหักกันมากที่สุดในแต่ละปี


“ฤดูหนาว” ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศหนาวเย็นมักกระตุ้นให้ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำในช่วงกลางคืน ประกอบกับช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดเร็วและสว่างช้ากว่าฤดูกาลอื่น ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อการสะดุดสิ่งของหรือหกล้มได้ง่าย


  • ฤดูสะโพกหัก

แพทย์หลายท่านเรียกฤดูหนาวว่า “ฤดูสะโพกหัก” เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือที่พบว่า จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในฤดูหนาวเพิ่มขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับฤดูอื่น


  • ปัจจัยที่ทำให้ฤดูหนาวเพิ่มความเสี่ยง
    • ระยะเวลากลางคืนที่ยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้การมองเห็นลดลง เสี่ยงต่อการหกล้ม
    • จากการที่ระยะเวลาการมีแสงแดดสั้นลง ทำให้ร่างกายมีการลดลงของระดับวิตามินดี ส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง กระดูกจึงอ่อนแอและเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่ายขึ้น
    • อากาศหนาวทำให้ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำในช่วงกลางคืน ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ฤดูหนาวจึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่กระดูกสะโพกหักและผลกระทบร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา


การป้องกันกระดูกสะโพกหัก


  • เสริมความแข็งแรงของกระดูก

รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เช่น นม ปลาซาร์ดีน ผักใบเขียว และรับแสงแดดยามเช้าเป็นประจำ

  • ออกกำลังกายที่เหมาะสม

การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว หรือโยคะ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและเสริมสมดุลร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงการหกล้ม

  • จัดบ้านให้ปลอดภัย

เก็บสิ่งของที่เกะกะทางเดิน ติดตั้งไฟในบริเวณที่มืด และใช้พื้นกันลื่นในห้องน้ำ

  • ตรวจสุขภาพกระดูก

ผู้สูงอายุควรตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ภาวะกระดูกพรุน หรือมีประวัติหกล้มบ่อย

  • ใช้เครื่องช่วยพยุง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว อาจใช้ไม้เท้า หรือเครื่องช่วยเดินเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก


สรุป


กระดูกสะโพกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บร้ายแรงและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันกระดูกสะโพกหักสามารถทำได้โดยการเสริมความแข็งแรงของกระดูกผ่านการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ออกกำลังกายเพื่อเสริมสมดุลของกระดูกและกล้ามเนื้อ และจัดบ้านให้ปลอดภัย


นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพกระดูกและใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดินก็ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก การให้ความสำคัญกับการป้องกันการหกล้มจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. พฤกษ์  ไชยกิจ

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง (1)

ดูทั้งหมด

แพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะข้อเข่าเสื่อม

แพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะข้อเข่าเสื่อม

แพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะข้อเข่าเสื่อม

฿ 1,800

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital