บทความสุขภาพ

Knowledge

ความสำคัญของไต โรคไตวายเรื้อรังและการรักษา

นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์

ความสำคัญของไต


โรคไตวายเรื้อรังและการรักษา


นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์

Diplomate, American Board of

Internal Medicine and Nephrology


คนเราเกิดมามีไตอยู่ 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ การขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและร่างกายคนเราสะอาด, ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ถ้าคนเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและในร่างกาย ทำให้เลือดและร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็จะเป็นพิษ หยุดทำงานและเสียชีวิต


หน้าที่ของไต


นอกจากหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังทำหน้าที่สำคัญๆ อื่นๆ ได้แก่


  • ควบคุมความดันโลหิต (คนไข้ไตไม่ดีจะมีความดันโลหิตสูง)
  • ผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (คนไข้โรคไตวายจะมีเลือดจาง เลือดน้อย )
  • ควมคุมปริมาณน้ำและระดับเกลือแร่ในร่างกาย (คนไข้โรคไตจะมีอาการบวม, เกลือแร่ผิดปกติ, ถ้าเกลือ
  • โปแตสเซียมผิดปรกติจะทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ , เป็นอันตรายต่อชีวิตได้)
  • ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย (คนไข้โรคไตวายจะมีสภาพความเป็นกรดสูงมาก ทำให้อวัยะวะต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปรกติและเสียชีวิตได้)
  • ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียมและฟอสฟอรัส (คนไข้โรคไตวาย ขาดวิตามินดีทำให้แคลเซียมต่ำ , กระดูกเปราะบางพรุน)

ภาวะไตวาย


ถ้าเกิดภาวะไตวาย, ไตหยุดทำงาน ของเสียจะคั่งค้างในเลือดและในร่างกายมากๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนเพลีย, ซีดโลหิตจาง, คันตามตัว, มีจ้ำตามตัว, อาเจียนเป็นเลือด, ท้องเดิน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดปรกติ, หายใจลำบาก, ไอเป็นเลือด, น้ำท่วมปอด, กระดูกเปราะบางหักง่าย, ปวดกระดูก, ถ้าของเสียค้างในสมองมากๆ จะมีอาการชักและสมองหยุดทำงาน นอกจากนี้ผู้ป่วยจะเป็นหมัน และหมดสมรรถภาพทางเพศ ถ้าเกิดโรคไตวายในเด็ก เด็กจะแคระแกร็นหยุดเจริญเติบโต


สาเหตุของโรคไต


สาเหตุของโรคไตที่พบบ่อยๆ คือ


  • ไตวายจากโรคเบาหวาน
  • ไตวายจากโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
  • ไตวายจากโรคเก๊าท์และนิ่วในไต
  • ไตวายจากโรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรค SLE,

โรคไตวายเรื้อรังจากโรคบางโรค สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาควบคุมให้ดีก็จะลดโอกาสการเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้


อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไตวายถาวรแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วงการแพทย์เราก็มีวิธีรักษาผู้ป่วยไตวายให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


วิธีรักษาโรคไต


วิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังมี 3 วิธี


วิธีแรก คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียคั่งค้าง ผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด ซึ่งจะกรองของเสียจากเลือดและนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องทำเป็นเวลา 3-5 ชม. และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หลังฟอกเลือดแล้วผู้ป่วยจะมีเลือดที่สะอาด ร่างกายจะสดชื่นแข็งแรงขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้เกือบเหมือนปรกติ แต่ต้องมาฟอกเลือดเป็นประจำตลอดไป


วิธีที่สอง คือวิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร วันละ 4 ครั้งๆ ละ 4-8 ชม. ทุกๆ วัน ขณะที่น้ำยาอยู่ในช่องท้อง ของเสียต่างๆ ที่เป็นพิษคั่งค้างอยู่ในร่างกายจะซึมจากกระแสเลือดเข้าสู่น้ำยาในช่องท้อง เลือดก็จะสอาด ผู้ป่วยก็จะมีสภาพร่างกายที่สดชื่นแข็งแรงขึ้น แต่ต้องล้างช่องท้องเป็นประจำตลอดไป


วิธีที่สาม คือการเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด ไตที่นำมาปลูกใส่ให้กับผู้ป่วยอาจจะมาจากญาติ คือ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน, ลุง, ป้า, น้า, อา หรือในบางกรณีมาจากสามี ภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้บริจาคจะบริจาคไต 1 ข้าง ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง คนเราปรกติมีไต 2 ข้าง สามารถบริจาคไตให้ญาติพี่น้องได้ 1 ข้าง เหลือเพียง 1 ข้าง ก็สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปรกติ, อายุยืนเหมือนคนปรกติ ในกรณีที่ไม่มีญาติพี่น้องบริจาคไตให้ ผู้ป่วยจะต้องรอรับไตบริจาคจากผู้ป่วยอื่นที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งในประเทศไทย สภากาชาดจะเป็นผู้รับบริจาคและเป็นผู้จัดสรรไตอุบัติเหตุนี้ให้แก่คนไข้ไตวาย


ปัจจุบันแพทย์ไทยเรามีความรู้ความสามารถในการผ่าตัดเปลี่ยนไตประสบผลสำเร็จได้ดีทัดเทียมกับต่างประเทศ ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตสำเร็จแล้ว จะสามารถมีชีวิตยืนยาวและดำรงชีวิตด้วยคุณภาพที่ดี ประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยคนไทยที่ได้รับการเปลี่ยนไตไปแล้วหลายพันคน หลายๆ สาขาอาชีพ เช่น ทหาร, ตำรวจ, แพทย์, ทันตแพทย์, วิศวกร, ทนายความ, ดารา, นักการเมือง , นักธุรกิจ ฯลฯ หลังเปลี่ยนไตผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ สามารถทำประโยชน์ต่างๆ ให้สังคมได้เหมือนคนปกติ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

สถาบันปลูกถ่ายไต

โรงพยาบาลพระรามเก้า 02-202-9999 ต่อ 2460


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. วิรุฬห์  มาวิจักขณ์

นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital