บทความสุขภาพ

Knowledge

การปลูกถ่ายไต ทางเลือกการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล, พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายเพราะมีหน้าที่กำจัดน้ำส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นหากเกิดภาวะไตวายเรื้อรังจะส่งผลให้เกิดการคั่งค้างของของเสียในร่างกาย ซึ่งภาวะดังกล่าวควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่นๆ ตามมาได้


ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการฟอกเลือดทางช่องท้องเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย


อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรักษาภาวะไตวายที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดจะเป็นการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตโดยมีอัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิตสูงถึง 95 – 98% และจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายสูงถึง 85 – 90% และหลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ


หน้าที่และความสำคัญของไต


ไตเป็นอวัยวะในช่องท้องทางด้านหลังอยู่ระดับเดียวกับบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่ว ไตมีสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณหนึ่งกำมือ หน้าที่หลักของไต คือ ขับน้ำส่วนเกินและของเสียที่เกิดจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ออกนอกร่างกายผ่านทางปัสสาวะ นอกจากหน้าที่ขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายแล้วไตยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก คือ


  • ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  • ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย
  • ควบคุมความดัน
  • ควบคุมการสร้างวิตามินดี ช่วยรักษาสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัส และการสร้างกระดูก
  • ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น renin-angiotensin-aldosterone system และ prostaglandin ที่มีผลต่อการควบคุมความดันเลือด และกระบวนการอักเสบของร่างกาย

อาการของโรคไตวายเรื้อรัง


ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่มีการทำงานของไตเสียไป ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำและของเสียภายในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ ถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะของเสียคั่งในร่างกาย โดยไตวายมีอาการดังต่อไปนี้


  • บวม ความดันเลือดสูง
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
  • ปวดกระดูก กระดูกเปราะ และหักง่าย
  • เป็นหมัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา เกร็ง ชัก
  • คันตามตัว มีภาวะเลือดจาง ผิวหนังหยาบคล้ำ มีจ้ำเลือดตามตัว
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
  • หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบเหนื่อย มีภาวะน้ำท่วมปอดได้
  • หากรุนแรงอาจถึงขั้นสมองหยุดทำงาน โคม่า เสียชีวิต
  • ในเด็กจะหยุดการเจริญเติบโต แคระเกร็น

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการของโรคไต


ทางเลือกเพื่อการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง


ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 3 วิธี


1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)


เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งค้างผ่านเข้าไปในเครื่องไตเทียม เพื่อกรองของเสียออกแล้วนำเลือดที่ถูกกรองทำความสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอีกครั้ง


2. การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (continuous ambulatory peritoneal dialysis; CAPD)


เป็นการใช้น้ำยาชะล้างของเสียออกจากร่างกายผู้ป่วย โดยใส่เข้าไปทางช่องท้อง และทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะระบายน้ำยาออก ของเสียในเลือดก็จะถูกชะล้างออกไปพร้อมกับน้ำยา วิธีนี้ผู้ป่วยต้องทำการล้างช่องท้องเป็นประจำทุกวันซึ่งอาจทำในช่วงเวลากลางคืน


3.การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)


การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังที่ให้ผลดีที่สุด โดยจะเป็นการผ่าตัดนำไตที่ยังทำงานได้ดีจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้ที่มีภาวะสมองตายมาทดแทนไตของผู้รับบริจาคที่สูญเสียการทำงานไป ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะสามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ


การปลูกถ่ายไต คืออะไร?


การปลูกถ่ายไต (kidney transplantation) คือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต โดยนำไตจากผู้บริจาคไต (donor) ซึ่งอาจเป็นไตจากผู้บริจาคมีชีวิตที่เป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรงร่วมสายเลือด หรือไตที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังต้องขึ้นทะเบียนกับสภากาชาดไทยเพื่อขอรับบริจาคไต


ตัวเลือกการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living-related kidney transplant)


เป็นการปลูกถ่ายไตโดยไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากญาติ ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา หรือบางกรณี จากสามี ภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยผู้บริจาคจะบริจาคไต 1 ข้าง ซึ่งการที่ผู้บริจาคมีไตเหลือเพียง 1 ข้างจะยังสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ


การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (decreased donor kidney transplant)


เป็นการปลูกถ่ายไตโดยไตที่นำมาปลูกถ่ายจะมาจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายจากการประสบอุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่น ๆ ในกรณีที่ญาติพี่น้องไม่สามารถบริจาคไตให้ได้ ซึ่งในประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทยจะเป็นผู้รับบริจาคและจัดสรรไตให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง


ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกถ่ายไต


การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังที่ให้ผลดีที่สุด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการซึ่งต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์และตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษานี้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยที่สุดกับตัวผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง


ข้อดี


  • ถ้าไตที่นำมาปลูกถ่ายทำงานดีจะสามารถทดแทนไตเดิมได้เกือบ 100%
  • คุณภาพชีวิตเกือบเหมือนคนปกติ
  • ไม่ต้องควบคุมอาหารและน้ำอย่างเข้มงวดเหมือนการรักษาวิธีอื่น ๆ
  • สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น สามารถมีบุตรได้

ข้อเสีย


  • เป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้
  • ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
  • เสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อง่าย เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันสูง
  • เสี่ยงต่อภาวะร่างกายปฏิเสธไตที่ปลูกไต (rejection)
  • ต้องมีผู้บริจาคไต
  • ต้องมีการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการปลูกถ่ายไต

คุณสมบัติของผู้รับการปลูกถ่ายไต (recipient)


  • เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15%
  • กรณีที่รอรับไตจากผู้ป่วยสมองตาย จะต้องได้รับการรักษาโรคไตวายด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยามาแล้ว
  • ไม่มีภาวะติดเชื้อ
  • ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ไม่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้
  • ไม่เป็นโรคมะเร็งหรือ หากเคยเป็นโรคมะเร็งต้องได้รับการรักษาให้หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2 – 5 ปี แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง
  • ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงสำหรับการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
  • ไม่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไม่มีภาวะจิตใจผิดปกติ
  • ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
  • กรณีอื่น ๆ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

kidney-transplantation-line.webp

ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง


ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายได้ต้องเป็นไตที่ได้มาจากญาติ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายเท่านั้น สำหรับประเทศไทยมีกฏหมายและกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตที่ชัดเจนและเคร่งครัดเพื่อไม่ให้มีการซื้อขายไตเกิดขึ้น แพทย์และผู้ป่วยที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างเข้มงวด


ไตจากผู้บริจาคมีชีวิต


  • ผู้บริจาคต้องเป็นเครือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม ได้แก่
    • บิดามารดา บุตรหรือธิดาตามธรรมชาติ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน ที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฏหมายหรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และ/หรือ DNA จากบิดามารดา
    • ลุง ป้า น้า อา หลานที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ในกรณีนี้จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคมี HLA และ/หรือ DNA ที่มีความสัมพันธ์กัน
  • ผู้บริจาคต้องเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรืออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยกับผู้รับบริจาคมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี กรณีที่มีบุตรร่วมกันโดยสายเลือดไม่ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี หากมีปัญหาในการพิสูจน์บุตรร่วมกันให้ใช้ DNA เป็นเครื่องพิสูจน์
  • กรณีชาวต่างประเทศต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
    • เอกสารยืนยันการเป็นเครือญาติหรือสามีภรรยา ต้องได้รับการรับรองจากสถานฑูตหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ของประเทศผู้มาร้องขอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับการรับรองด้านความถูกต้องของผู้ออกเอกสารจากกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
    • ต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธี HLA และ DNA หรือวิธีอื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันจากสถาบันทางการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย

ไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย


  • คุณสมบัติของผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย: ผู้บริจาคจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองตายตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา และตามหลักเกณฑ์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเป็นผู้คัดสรรผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รอรับบริจาคโดยใช้หลักการจัดสรรทางการแพทย์ทั้งนี้มีเกณฑ์การจัดสรรไตให้กับผู้รอรับบริจาคโดยผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังสามารถขึ้นบัญชีรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยได้ โดยการจัดสรรไตจะจัดเรียงตามชนิดของหมู่เลือดและความเหมือนของเนื้อเยื่อ เมื่อได้รับบริจาคไตมาแล้ว ผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดเข้ากับผู้บริจาคทั้งหมดจะถูกทดสอบความเข้ากันได้ของยีน รายชื่อผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการให้คะแนนให้แน่ใจว่าได้ผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดในการเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการรอขึ้นบัญชีรับบริจาคด้วย ซึ่งคณะกรรมการจะมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โปร่งใส และยุติธรรม

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไต


การผ่าตัดปลูกถ่ายไตถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งตัวผู้ป่วยที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตและหากไตได้รับบริจาคจากญาติพี่น้อง ผู้บริจาคไตก็จะต้องมีการเตรียมตัวด้วยเช่นกัน


สำหรับผู้บริจาคไตต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติว่าสามารถบริจาคไตได้ รวมไปถึงต้องมีการทดสอบสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ความเข้ากันของหมู่เลือด และจะมีการอธิบายรายละเอียดจากแพทย์และทีมงานเพื่อให้ผู้บริจาคไตมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านก่อนการผ่าตัด


หากผู้รับบริจาคไตรอรับไตจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายที่ได้รับการจัดสรรโดยสภากาชาดไทย ผู้ที่ขอรับบริจาคไตต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ตลอดเวลาหากมีไตที่เหมาะสมที่สามารถปลูกถ่ายได้


และ รพ. พระรามเก้า มีนโยบายในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่เคยบริจาคไตมาแล้ว และผู้รับการปลูกถ่ายไตเพื่อให้เกิดความมั่นใจและคลายความกังวล รวมถึงเข้าใจกระบวนการปลูกถ่ายไต


การปฏิบัติตัวของผู้รับและผู้บริจาคไตในช่วงการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


สำหรับผู้บริจาคไต


  • เข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำไตออก
  • พักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดประมาณ 5 – 7 วัน
  • กลับไปพักฟื้นที่บ้านและกลับมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจไตหลังการบริจาคตามแพทย์นัด

สำหรับผู้รับบริจาคไตจากญาติหรือสามี-ภรรยา


  • เข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนไตอย่างน้อย 1 วัน
  • ตรวจร่างกายและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

สำหรับผู้รับบริจาคไตจากผู้ป่วยสมองตาย


หลังได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลว่ามีสิทธิ์การเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้


  • งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
  • อาบน้ำ สระผม แล้วเดินทางไปโรงพยาบาลทันที
  • เข้ารับการตรวจร่างกายและจิตใจเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การปฏิบัติตัวของผู้รับบริจาคไตหลังการปลูกถ่ายไต


ขณะอยู่โรงพยาบาล


หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดโดยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการให้การดูแลและรักษาดังนี้


  • ดูแลเรื่องความเจ็บปวดจากการผ่าตัด
  • การฟื้นฟูร่างกายโดยกระตุ้นให้ออกกำลังกายหลังการผ่าตัดในสัปดาห์แรก
  • แพทย์จะตรวจสอบการทำงานของไตใหม่เป็นระยะ ๆ หลังการผ่าตัด
  • ปรับสภาพจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังการผ่าตัดโดยทีมจิตแพทย์
  • ติดตามภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ภาวะปฏิเสธไต การติดเชื้อ เป็นต้น

เมื่อออกจากโรงพยาบาล


  • รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • มาพบแพทย์ตามนัดหลังการปลูกถ่ายไตอย่างสม่ำเสมอ
  • ดูแลสุขภาพ และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ อยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยหวัดหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ เป็นต้น

อาหารและโภชนาการหลังการปลูกถ่ายไต


ผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต ควรเลือกอาหารให้เหมาะสม ดังนี้


  • อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
    • รับประทานข้าว แป้ง และน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม
    • ควรเลือกชนิดคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนม เป็นต้น
    • เลือกอาหารที่มีค่าการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ (glycemic index < 55) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เล่ย์ เป็นต้น
  • อาหารกลุ่มไขมัน
    • บริโภคเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เป็นต้น
    • เลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
    • งด/เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ลดบริโภคอาหารมื้อดึก
    • รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • อาหารกลุ่มโปรตีน
    • ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น
    • รับประทานโปรตีนอย่างเพียงพอเพื่อซ่อมแซมร่างกายหลังการผ่าตัด
  • อาหารที่มีโซเดียม
    • จำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารเพื่อลดการทำงานของไต
    • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง
    • เลี่ยงผงชูรส ผงปรุงรส และซุปก้อนในอาหาร
    • ลดการบริโภคน้ำจิ้ม น้ำราดต่าง ๆ

การใช้ชีวิตประจำวันหลังการปลูกถ่ายไต


  • การออกกำลังกาย
    • หลังปลูกถ่ายไตสัปดาห์แรก ควรยืน เดินรอบ ๆ เตียง
    • หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินรอบ ๆ บ้าน วันละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที
    • หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินเร็ว ๆ จนเหงื่อออก ครั้งละ 15 – 30 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง
    • หลังปลูกถ่ายไต 6 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ
    • เล่นกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ เต้นแอโรบิค ปิงปอง วิ่ง ว่ายน้ำ
    • กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชกมวย ยูโด มวยปล้ำ รักบี้ ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ ที่มีการปะทะหรือชนกัน เป็นต้น
  • การดื่มแอลกอฮอล์
    • สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หากจำเป็นแต่ควรจำกัดปริมาณ
    • ไม่ควรดื่มใกล้เวลารับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของไต
  • การมีเพศสัมพันธ์
    • สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
    • ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (safe sex)
    • หากมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์
  • การมีบุตร
    • สตรีที่ปลูกถ่ายไตควรทิ้งระยะเวลาตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไตเป็นเวลา 2 ปี
    • การตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วอยู่ได้กี่ปี


ข้อมูลทางสถิติโดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 พบว่า จำนวนผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตที่สามารถอยู่ได้ถึง 10 ปี มีมากถึง 78.2% นั่นหมายถึง จากผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วย 78 คนที่สามารถอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการผ่าตัดไตสำเร็จนั้นค่อนข้างสูงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระยะเวลาการมีชีวิตหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งการดูแลตนเองของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ


ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ เช่น ไตที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไปแล้วเกิดการเสื่อมสภาพ มีโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่และส่งผลกระทบต่อไตที่เคยรับการผ่าตัดปลูกถ่ายมา การต่อต้านไตใหม่แบบที่เป็นเรื้อรัง การสลัดไตแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ กระบวนการก็จะคล้ายกับการปลูกถ่ายไตครั้งแรก โดยไตใหม่อาจรับบริจาคไตจากญาติหรือรอรับบริจาคจากสภากาชาดไทย การปลูกถ่ายไตซ้ำนี้ผู้ป่วยอาจได้รับยากดภูมิคุ้มกันมากกว่าครั้งแรกเพื่อกดภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิมเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์


การปลูกถ่ายไตของ รพ.พระรามเก้า


ตลอด 31 ปี นับตั้งแต่โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดให้บริการ (มิ.ย. 2535 – 30 มี.ค. 2567) สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้าได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปแล้ว 1,283 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีสถิติที่น่าสนใจดังนี้


  • ไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต จำนวน 395 ราย
  • ไตจากผู้บริจาคที่เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 33 ราย
  • ไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จำนวน 855 ราย
    • 116 ราย ได้รับไตภายใน 1 เดือน
    • 414 ราย ได้รับไตภายใน 6 เดือน
    • 586 ราย ได้รับไตภายใน 12 เดือน
  • ผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อายุ 11 ปี มีจำนวน 2 ราย (โดย 1 ราย ได้รับไตจากน้องชายของบิดา และอีก 1 ราย ได้รับไตจากผู้บริจาค จากศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย)
  • ผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อายุ 84 ปี (ได้รับไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย)
  • ทำการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 399 ราย
  • การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำในผู้ป่วยที่เคยล้มเหลวจากการเปลี่ยนไตในอดีต จำนวน 103 ราย
  • มีผู้ป่วยตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไต จำนวน 5 ราย มีเด็กที่เกิดจากมารดาที่ปลูกถ่ายไต จำนวน 7 ราย
  • มีผลงานวิจัยทางการแพทย์ด้านการเปลี่ยนไต 60 ผลงาน
  • สถาบันโรตไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้าได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศความเชี่ยวชาญเป็นเลิศทางด้านการเปลี่ยนไตตามมาตรฐานสากลระดับโลกจาก JCI (Joint Commission International, USA) เมื่อมี พ.ศ. 2559

สรุป


โรคไตวายเรื้อรังถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง เพราะหากเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตจะสูญเสียการทำงานไปเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถขับของเสียและควบคุมสมดุลของร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือต้องฟอกเลือดโดยใช้น้ำยาผ่านทางช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วยต้องฟอกไตหลายวันต่อสัปดาห์ ทำให้ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ


ปัจจุบันทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งอาจขอรับบริจาคไตจากญาติพี่น้องหรือสามี-ภรรยา หรือจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย เพราะหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวาย การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และไม่ทำลายการทำงานของไตถือเป็นการดูแลสุขภาพไตที่ดีที่สุด นอกจากนี้การติดตามความสมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพร่างกายเป็นประจำโดยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้เราทราบสภาวะทางสุขภาพ และสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงได้


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital