บทความสุขภาพ

Knowledge

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง การรักษาอาการปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

อาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขาที่เกิดจากการอักเสบภายในโพรงประสาทที่มีรากประสาทไขสันหลังอยู่ ซึ่งมักมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท กระดูกข้อต่ออักเสบ หรือโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ ทำให้มีอาการปวดหลัง ซึ่งมักเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา หากปวดมากอาจรบกวนการนอนหลับ หรือ อาการชา ขาอ่อนแรงก็จะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวร่างกาย และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก


ปัจจุบันการรักษาการปวดหลังจากภาวะดังกล่าวข้างต้นมีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การผ่าตัด และทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการปวดหลังดังกล่าวคือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อยับยั้งการอักเสบในโพรงประสาท เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยที่ยังไม่อยากรักษาด้วยการผ่าตัด และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค หรือผู้ที่เคยผ่าตัดแล้วแต่ยังมีอาการปวดอยู่ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่ลดอาการปวดได้ดี ภาวะแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้จะมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจน โดยหลังฉีดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น คืออาการปวดจะลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ และฤทธิ์ของยาอยู่ได้นานหลายเดือน จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังคืออะไร?


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง (epidural steroid injections; ESI) เป็นการรักษาอาการปวดหลังโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ที่ผสมกับยาชา เข้าไปที่โพรงประสาทไขสันหลัง (โพรงประสาทไขสันหลังเป็นโพรงช่องว่างที่อยู่ในกระดูกสันหลังซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาท) เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง ที่เกิดจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบในผู้สูงอายุ โรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วแต่ยังมีอาการปวดหลัง และปวดร้าวลงขาอยู่ เพื่อลดอาการปวดหลัง ปวดเอว แล้วร้าวลงขา น่อง จนถึงปลายนิ้วเท้าได้


โดยยาสเตียรอยด์ที่มีส่วนผสมของยาชาที่ฉีดเข้าไปในโพรงประสาทหรือโพรงกระดูกสันหลังนี้จะไปออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับจากหมอนรองกระดูก การตีบแคบของโพรงประสาทกระดูกสันหลัง การบาดเจ็บจากการผ่าตัด หรือจากการอักเสบด้วยสาเหตุอื่น ๆ ยานี้จะช่วยลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาท โดยไปยับยั้งสารอักเสบต่าง ๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการที่มีการอักเสบของเส้นประสาท จึงทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการปวดหลัง การปวดร้าวลงขาได้เป็นอย่างดี การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการปวดได้นานเป็นเดือนหรือหลายเดือน และเป็นการรักษาที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ผลข้างเคียงต่ำ จึงเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย


อย่างไรก็ตามการรักษาต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพราะเป็นหัตถการที่ยากกว่าการเจาะน้ำไขสันหลังหรือการฉีดยาเข้าโพรงประสาททั่วไป และต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังรักษาอะไรได้บ้าง?


  • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (lumbar disc herniation)
  • โรคโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal stenosis)
  • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (degenerative disc)
  • โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)
  • อาการปวดร้าวลงขาจากภาวะข้อต่อฟาเซ็ตเสื่อม (facet joint syndrome)
  • ข้อบ่งชี้อื่น ๆ เช่น อาการปวดหลัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังส่วนล่าง หรือส่วนเอว (localized low back pain) หรือการอักเสบของเส้นประสาทจากสาเหตุอื่น ๆ

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเหมาะกับใครบ้าง?


  • ผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเรื้อรัง จากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทหรือโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • ผู้ที่มีอาการปวดหลังจากการอักเสบของข้อต่อฟาเซท เป็นอาการปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลังทางด้านหลัง ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของอาการปวดเรื้อรังได้ทั้งบริเวณ คอ หลัง และเอว
  • ผู้ที่มีอาการปวดหลังที่รักษาด้วยการรับประทานยาและกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีอาการปวดหลังมากจนกระทบการนอนหลับหรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้

อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพื่อการพิจารณาและการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังทำอย่างไร?


การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง มีขั้นตอนดังนี้


  1. ทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความรู้สึกเจ็บบริเวณที่ฉีดยา
  2. แพทย์จะหาตำแหน่งที่ต้องการฉีดยาสเตียรอยด์ และสอดเข็มเข้าไปในช่องว่างของโพรงประสาทตำแหน่งนั้น โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ (ultrasound) หรือเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป (fluoroscopy) ช่วยในการระบุตำแหน่งเพื่อความแม่นยำ
  3. แพทย์จะทำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังตำแหน่งที่มีการอักเสบของเส้นประสาท
  4. หลังฉีดยาเสร็จแพทย์จะกดห้ามเลือด ทำความสะอาดบริเวณที่ฉีดและปิดแผลแล้วให้ผู้ป่วยพักฟื้นสังเกตอาการ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

การเตรียมตัวก่อนการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง


แพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ ประเมินว่าสามารถรับการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังได้หรือไม่ และนัดหมายวัน เวลาในการเข้ารับการรักษา พร้อมอธิบายการเตรียมตัว ดังต่อไปนี้


  1. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  2. หากมีโรคประจำตัว แพ้อาหารทะเล มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี แพ้ยาชาเฉพาะที่ ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อป้องกันอาการแพ้ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
  3. หากมีประวัติการทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin) หรือโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการปรับยาหรือหยุดยาก่อนการรักษา
  4. ควรแจ้งแพทย์หากมีการตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
  5. กรณีที่รับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางอย่าง ควรปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นที่จะต้องงดก่อนฉีดยาสเตียรอยด์หรือไม่
  6. ต้องมีญาติหรือผู้ดูแลมาโรงพยาบาลกับผู้ป่วยด้วย เพราะแม้ว่าหลังฉีดยา ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่อาจจะรู้สึกชา ๆ หรือหนัก ๆ ที่ขา อาจทำให้เดินได้ไม่สะดวก จึงต้องมีคนช่วยดูแล ซึ่งอาการชานี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการฉีดยา 2-3 ชั่วโมง

การปฏิบัติตัวหลังการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง


  1. หลังการฉีดยา แพทย์จะสังเกตอาการประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
  2. หลังการฉีดยาควรเดินด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีอาการขาชา อ่อนแรงในช่วงแรกได้
  3. หลังการฉีดยาสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ยกเว้น การขับรถด้วยตัวเอง
  4. หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ ปัสสาวะหรือขับถ่ายไม่ได้ตามปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ให้กลับมาพบแพทย์

ผลข้างเคียงของการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ แต่การรักษาอาจพบผลข้างเคียงได้ ดังนี้


  • อาจมีอาการปวด บวม ช้ำบริเวณที่ฉีด 2-3 วัน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการโดยการประคบเย็น
  • อาจมีอาการแพ้ยาชา แพ้สารทึบรังสีได้หลังการฉีด
  • ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ อาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น ประจำเดือนมาผิดปกติ ในคนที่เป็นโรคเบาหวานการฉีดสเตียรอยด์อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว หน้าบวม หรือตัวบวมได้
  • ในคนที่เป็นโรคต้อหินอาจทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้น
  • อาจมีอาการปวดศีรษะชั่วคราวหลังการฉีดยาจากการรั่วของน้ำไขสันหลังได้
  • อาจมีเลือดออกในบริเวณที่ฉีดยา
  • การติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดยา (พบได้น้อย)
  • การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง หากทำบ่อยเกินไปอาจทำให้กระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อบริเวณข้างเคียงอ่อนแรงลงได้

สรุป


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นการรักษาอาการปวดหลังจากการอักเสบของเส้นประสาท ที่มีอาจมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ภาวะโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ หรือการอักเสบจากสาเหตุอื่น ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดหลังร้าวลงขาทำให้มีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี มีความเสี่ยงต่ำ มีระยะเวลาการออกฤทธิ์เป็นเดือนหรือหลายเดือน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดหลังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลลัพท์การรักษาที่ดีที่สุด

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital