บทความสุขภาพ

Knowledge

Q&A เลสิค ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำเลสิค พร้อมคำตอบโดยจักษุแพทย์มาไว้ที่นี่

พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

การกลับมามองโลกที่ชัดเจนโดยไม่ต้องใช้แว่น เป็นความปรารถนาของหลายๆ คนที่ใช้แว่นเป็นกิจวัตร ซึ่งอาจประสบความลำบากในการใช้แว่นสายตาหรือคอนเทคเลนส์ก็ตาม


ดังนั้นเลสิค LASIK จึงเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่อยากมีอิสระจากแว่นตา หรือคอนเทคเลนส์ และเทคโนโลยียังคงพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น PRK, LASIK, FemtoLASIK, ReLEx SMILE เป็นต้น ทำให้สามารถเลือกวิธีการรักษาสายตาจากเลสิคได้อย่างหลากหลาย แต่วิธีไหนจะเหมาะกับเรา หรือมีเกณฑ์การเลือกอย่างไร? ขึ้นอยู่สภาพสายตาและความพร้อมของเราเอง


เราจึงได้รวบรวมคำถาม และคำตอบที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนสงสัยและอยากรู้ รวมทั้งคำถามจากทุก ๆ ช่องทางมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากทำเลสิคกันค่ะ

เลสิค มีกี่แบบ อะไรบ้าง


ตอบ: การทำเลสิคที่นิยมในปัจจุบัน มีอยู่ 4 แบบ แตกต่างกันที่เทคนิคในการเปิดชั้นกระจกตาบน ก่อนปรับแต่งความโค้งของกระจกตา ได้แก่


  1. เลสิคแบบแผลเล็ก (ReLEx SMILE)
  2. เฟมโตเลสิค หรือเลสิคไร้ใบมีด (FemtoLASIK)
  3. เลสิคใบมีด (Blade LASIK or SBK)
  4. เลสิคแบบลอกผิว (PRK)

เลสิคแบบไหนเหมาะเรา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่


Lasik-fig5.jpg

สายตาสั้นแค่ไหน ทำเลสิคไม่ได้


ตอบ: การทำเลสิค ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า 1,400 อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เข้ามาตรวจอย่างละเอียดก่อน หากค่าสายตาอยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ จักษุแพทย์จะแนะนำเทคนิคการทำเลสิคที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีระดับค่าสายตาสั้นแตกต่างกันไป


สายตาเอียง ทำเลสิคได้ไหม


ตอบ: สามารถทำได้ แต่ถ้าเอียงมาก จะเหมาะกับการรักษาโดยการใส่เลนส์เสริมแบบแก้ไขสายตาเอียง


คนไข้ที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการทำเลสิคได้ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น (Myopia), สายตายาว (Hyperopia), สายตาเอียง (Astigmatism) และอาจร่วมกับสายตายาวตามวัย (Presbyopia)


สายตายาว ทำเลสิคได้ไหม


ตอบ: ถ้ามีภาวะสายตายาว (Hyperopia) เล็กน้อย-ปานกลาง สามารถรักษาด้วยเลสิคได้ แต่ถ้าสายตายาวมาก แนะนำให้แก้ไขด้วยการใส่เลนส์เสริม


สายตาทั้งยาวและสั้น รักษาได้ไหม


ตอบ: สำหรับผู้ที่สายตาสั้น ร่วมกับภาวะสายตายาวตามอายุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การรักษาด้วยเลสิคจะมี 2 วิธี ได้แก่


  1. ทำเลสิคแก้ค่าสายตาให้มองเห็นไกลชัดทั้ง 2 ข้าง และต้องใส่แว่นทุกครั้งที่ต้องการมองใกล้
  2. ใช้เทคนิคที่ทำให้ค่าสายตาข้างใดข้างหนึ่งกลายเป็นสายตาสั้นเล็กน้อยเพื่อให้มองเห็นใกล้ ๆ ได้ชัด ในขณะที่ตาอีกข้างหนึ่ง จะทำให้มองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจน เมื่อใช้สายตาทั้งสองข้างพร้อมกัน จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนทั้งใกล้และไกล

ข้อดีของการทำเลสิค มีอะไรบ้าง


ตอบ: การทำเลสิค เป็นเทคนิคในการเจียระไนเนื้อกระจกตาให้ได้ความโค้งที่พอดีกับค่าสายตา เพื่อปรับให้ภาพคมชัด สามารถแก้ไขสายตาผิดปกติได้อย่างถาวร และไม่ต้องพึ่งพาแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ทำเลสิค สามารถเลือกใช้เทคนิคที่ใช้เวลาในการผ่าตัดและการพักฟื้นสั้น แผลหายเร็ว สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด


ในระยะยาว การทำเลสิค ช่วยให้เรามีอิสระในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น สามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (จากเดิมที่การใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์เคยเป็นอุปสรรค) แล้วยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้อีกด้วย


Lasik-fig6.jpg

ทำเลสิค ข้อเสียมีอะไรบ้าง


ตอบ: การรักษาค่าสายตาด้วยวิธีการเลสิค ก็จะมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดเรื่องโรคดวงตาบางชนิด รวมถึงเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อเสียที่ผู้สนใจควรทำความเข้าใจให้ดีก่อน เพื่อให้มีความคาดหวังที่ถูกต้องเหมาะสมกับเทคนิคการรักษา


ทำเลสิค ต้องมีอายุเท่าไหร่


ตอบ: จักษุแพทย์แนะนำให้มีอายุอย่างน้อย 18 ปีขึ้นไป แต่อายุก็เป็นเพียงเกณฑ์หนึ่งของการทำเลสิค จริง ๆ แล้ว จักษุแพทย์จะให้ความสำคัญกับความนิ่งของค่าสายตามากกว่า ซึ่งผู้ที่จะทำเลสิคได้ ค่าสายตาต้องคงที่ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 50 (0.5D) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี


ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีค่าสายตาไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก มักจะเป็นผู้ที่มีช่วงอายุระหว่าง 25-40 ปี


ผู้สูงอายุ ทำเลสิคได้หรือไม่


ตอบ: ผู้สูงอายุ มีเกณฑ์ที่เสี่ยงต่อภาวะต้อกระจก และโรคเกี่ยวกับตาบางชนิด เช่น โรคตาแห้ง โรคเบาหวานที่จอประสาทตา โรคต้อหิน ที่อาจกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วยเลสิค จักษุแพทย์จึงต้องมีการประเมินเรื่องนี้ให้ก่อน หากไม่มีภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ก็สามารถเข้ารับการทำเลสิคได้


ทำเลสิคแล้ว สายตากลับมาสั้นได้อีกไหม


ตอบ: การทำเลสิคจะช่วยแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างถาวร (เป็นการ set zero ค่าสายตา) แต่ไม่ได้หมายความว่าสายตาจะกลับมาสั้นอีกไม่ได้ ซึ่งเหตุผลของการกลับมาสายตาสั้น ไม่ได้เกิดจากการทำเลสิค แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านร่างกาย และกรรมพันธุ์


นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ทำเลสิคหลังจากนั้น เช่น ถ้าหากมีการใช้สายตาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ครั้งละนาน ๆ โดยไม่พัก ก็อาจเพิ่มโอกาสที่สายตาจะกลับมาสั้นอีกได้ ดังนั้น ทางที่ดีคือ พยายามใช้สายตาให้น้อย พักสายตาบ่อย ๆ ด้วยการหลับตาหรือมองไกล ๆ


หากสายตากลับมาสั้นอีก จะทำเลสิคซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่


ตอบ: ทำได้ ถ้าหากจักษุแพทย์ประเมินแล้วว่ากระจกตามีความหนามากเพียงพอ เพราะการจะทำเลสิคได้หรือไม่นั้น จะพิจารณาจากความหนาของกระจกตาเป็นหลัก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ


ทำเลสิกแล้วตาแห้ง จริงหรือไม่


ตอบ: ภาวะตาแห้งหลังทำเลสิค สามารถเกิดขึ้นได้ โดยจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากทำเลสิคแล้วประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ จะตาแห้งมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของการทำเลสิค รวมถึงสภาพตาก่อนทำเลสิคด้วย


จักษุแพทย์จะมีการประเมินภาวะตาแห้งของผู้ป่วยก่อนทำเลสิคอยู่แล้ว หากผู้ป่วยมีอาการตาแห้งมาก่อน ก็จะเพิ่มโอกาสให้มีอาการตาแห้งมากยิ่งขึ้นหลังจากทำเลสิคได้ ต้องเลือกประเภทการเลสิคที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ตาแห้งน้อย หรือบางราย จักษุแพทย์อาจพิจารณาไม่ให้ทำเลสิคเลย


Lasik-fig7.jpg

ผลข้างเคียงหลังจากทำเลสิค มีอะไรบ้าง


ตอบ: ผลข้างเคียงหลังการทำเลสิค ที่จักษุแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงที่สุด คือ กระจกตาโก่งย้วย เกิดจากผู้ป่วยที่กระจกตาหนาไม่เพียงพอ แต่โดยทั่วไปจะมีการตรวจประเมินให้ก่อนอยู่แล้ว


นอกจากนี้ยังมีภาวะฝากระจกตาเคลื่อน แต่พบได้น้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของการทำเลสิค และมักเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนภายหลังการทำเลสิค ป้องกันได้ด้วยการทำเลสิคแบบ ReLEX Smile


ผลข้างเคียงทั่วไป มักสามารถหายได้เอง


  • ภาวะตาแห้ง โดยจะเป็นมากในช่วง 6 เดือนแรกหลังทำ แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมบ่อย ๆ
  • มองเห็นแสงฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะในเวลาที่มองแสงไฟตอนกลางคืน ใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือนจึงจะเริ่มดีขึ้น

ทำเลสิค พักฟื้นกี่วัน


ตอบ: ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเลสิค เนื่องจากแต่ละเทคนิค จะก่อให้เกิดบาดแผลไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อระยะเวลาพักฟื้น อย่างเร็วสุดคือ 2 วัน อย่างช้าสุดคือ 2 สัปดาห์ ผู้สนใจควรประเมินความเหมาะสมกับภาระ หน้าที่ และอาชีพดูว่า สามารถหยุดพักฟื้นได้นานหรือไม่ และตรวจสอบว่าตนเองเหมาะสำหรับทำเลสิคด้วยเทคนิคใด


สามารถเปรียบเทียบประเภทการเลสิคแต่ละชนิดได้ที่นี่


ใส่แว่นตาป้องกัน UV ป้องกันสายตากลับมาสั้นอีกได้หรือไม่


ตอบ: ไม่เกี่ยวข้องกัน สาเหตุหลักของภาวะสายตาสั้นมักมาจากปัจจัยทางสุขภาพ ร่างกาย กรรมพันธุ์ และพฤติกรรม การใส่แว่นตาป้องกัน UV จะช่วยในเรื่องการป้องกัน UV เพื่อความสบายตาเท่านั้น


ทำไมคนที่จะสอบนักบิน แอร์โฮสเตส สอบเตรียมทหาร ตำรวจ ต้องทำเลสิคด้วยวิธี PRK เท่านั้น


ตอบ: PRK (Photorefractive Keratectomy) จะไม่แยกชั้นกระจกตา แต่จะลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกก่อน แล้วใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาอีกที นับเป็นวิธีที่คงความแข็งแรงสมบูรณ์ของกระจกตาไว้เหมือนเดิม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อาจต้องปฏิบัติหน้าที่หรือมีอาชีพที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่อชั้นกระจกตาได้


ใครไม่ควรทำเลสิคบ้าง


ตอบ: ผู้ที่ไม่ควรทำเลสิค มีดังนี้


  1. ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน โรค SLE โรคเบาหวาน รูมาตอยด์ (ไขข้ออักเสบ) ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาหรือดวงตา
  2. ผู้ที่มีกระจกตาบาง โก่ง หรือผิดรูป
  3. ผู้ที่ค่าสายตาที่ยังไม่นิ่ง
  4. ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร

Lasik-fig8.jpg

ทำไมผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร จึงไม่ควรทำเลสิค


ตอบ: เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวของคุณผู้หญิง มักจะเกิดภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปได้ ทำให้การตรวจวัดค่าสายตาเพื่อวางแผนทำเลสิค อาจไม่แม่นยำเท่าที่ควร จึงแนะนำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อน


หลังทำเลสิค ใส่คอนแทคเลนส์ได้หรือไม่


ตอบ: ใส่ได้ แต่จะต้องเป็นคอนแทคเลนส์ที่มีความโค้งเหมาะสมสอดคล้องกับความโค้งกระจกตา เพราะถ้าคอนแทคเลนส์ไปกดแน่นหรือหลวมเกินไป อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้คอนแทคเลนส์


Lasik-fig9.jpg

แนวทางการเตรียมตัวก่อนทำเลสิค มีอะไรบ้าง ?


ตอบ: อย่างแรกควรนัดแพทย์ เพื่อเข้าไปทำการตรวจเช็คสายตาโดยละเอียดก่อน เพื่อความมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำเลสิคได้ หลังจากนั้นจะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวก่อนทำเลสิค ดังนี้


  1. หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองมาด้วย
  2. หากใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อน อย่างน้อย 3 วัน หากเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ให้ถอดอย่างน้อย 7 วัน เพราะจะช่วยให้แพทย์ตรวจวัดค่าสายตาได้อย่างแม่นยำขึ้น และทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. งดใช้ยารักษาสิว อย่างน้อย 1 เดือน (ทั้งก่อนตรวจสภาพตา และก่อนผ่าตัด) เพราะเป็นยาที่ส่งผลต่อเยื่อบุและผิวกระจกตา อาจทำให้การวัดประเมินดวงตามีความคลาดเคลื่อน
  4. ถ้าใช้ยาประจำอยู่ ต้องแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ
  5. วันที่มาตรวจประเมินสายตา ควรเตรียมแว่นกันแดดไว้ และพาเพื่อนหรือญาติมาด้วยเพื่อคอยดูแล เนื่องจากต้องมีการหยอดยาขยายม่านตา

Lasik-fig10.jpg

พึ่งทำเลสิคมา มีข้อห้ามอะไรบ้าง


ตอบ: โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นข้อห้ามเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือกระทบกระเทือนกระจกตา ได้แก่


  1. สวมฝาครอบตา ห้ามแกะฝาครอบเด็กขาด
  2. หากน้ำตาไหล ให้ซับน้ำตารอบ ๆ ฝาครอบตา ห้ามแยงนิ้วเข้าไปซับน้ำตาในที่ครอบตา
  3. งดการใช้สายตาให้มากที่สุด พักผ่อนมาก ๆ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น
  4. ระวังอย่าให้น้ำ หรือฝุ่นผงต่าง ๆ เข้าตา

ข้อปฏิบัติทั่วไปหลังทำเลสิค มีอะไรบ้าง


ตอบ: เพื่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ผู้ทำเลสิค ควรปฏิบัติดังนี้


  1. เข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  2. หยอดยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  3. สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้บ่อยตามต้องการ (ภายหลังจากที่แพทย์อนุญาต)
  4. ห้ามให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  5. ห้ามขยี้ตา การขยี้ยาเป็นเรื่องที่พลั้งเผลอกันง่ายมาก จึงไม่ควรเปิดฝาครอบตาออกหากไม่จำเป็น และต้องใส่ไว้ตลอดแม้แต่ตอนนอน เพราะจะช่วยป้องกันการเผลอขยี้ตาได้
  6. งดการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ลดโอกาสระคายเคืองต่อดวงตา
  7. สวมแว่นตากันแดด ลดความไม่สบายตา หรืออาการตาแห้งได้
  8. ใช้สายตาได้บ้าง แต่ควรหยุดพักสายตาบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการตาล้าได้
  9. งดกิจกรรมทุกชนิดที่ทำให้เหงื่อออก เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  10. งดกิจกรรมทางน้ำ ได้แก่ งดว่ายน้ำ 1 เดือน และงดกิจกรรมดำน้ำ 3 เดือน นับจากวันผ่าตัด

ทำเลสิค ราคาเท่าไหร่


ตอบ: ค่าใช้จ่ายในการทำเลสิค ขึ้นอยู่กับประเภทของการเลสิค (ซึ่งควรพิจารณาเลือกจากความเหมาะสมกับสถานการณ์ของเราเป็นหลักก่อน) สำหรับศูนย์เลสิคพระรามเก้า มีค่าบริการทำเลสิคอยู่ในช่วงระหว่าง 35,900 – 90,000 บาท สนใจสอบถามค่าบริการได้ที่นี่


อย่าให้ความสงสัย ปิดกั้นโอกาสของคุณ


ศูนย์เลสิคพระรามเก้า ให้ความสำคัญกับทุกข้อปัญหาที่คุณสงสัย เพราะเราเข้าใจดีว่า การทำเลสิค เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการศึกษา วางแผน และตัดสินใจ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เราจึงได้จัดทำบทความนี้ขึ้น เพื่อคลายความสงสัยและข้อกังวลของคุณโดยเฉพาะ


หากท่านมีข้อสงสัยอื่นใดนอกเหนือจากในบทความนี้ สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามกับเราได้ที่ศูนย์เลสิคพระรามเก้า อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.praram9.com/medical_centers/ศูนย์เลสิค/


ศูนย์เลสิคพระรามเก้า เปิดบริการทุกวัน 08.00-16.00 น.

อาคาร B ชั้น 9 โรงพยาบาลพระรามเก้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 1270

หรือแอดไลน์ Praram9Lasik


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

พญ. รุ่งรวี สัจจานุกูล

ศูนย์จักษุ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital