บทความสุขภาพ

Knowledge

ปัสสาวะเป็นฟอง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด รีบหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว

เมื่อปัสสาวะลงชักโครก น้ำปัสสาวะที่กระทบกับพื้นผิวชักโครกหรือน้ำในชักโครกอาจทำให้เกิดลักษณะปัสสาวะเป็นฟองขึ้นมาได้ แต่โดยปกติแล้วฟองที่เกิดขึ้นจะต้องค่อย ๆ สลายไปเป็นน้ำที่ไม่มีฟอง แต่เมื่อไหร่ที่ปัสสาวะเป็นฟองในชักโครกไม่หายไป นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ที่ต้องรีบรักษาก่อนที่จะสายเกินแก้


Key Takeaways


  • ปัสสาวะเป็นฟองเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของไตที่ผิดปกติได้
  • ปัสสาวะมีฟองเป็นภาวะอันตรายไหมอาจเริ่มสังเกตได้จากฟองปัสสาวะหายไปเองเมื่อปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ ดื่มน้ำให้พอแล้วปัสสาวะเป็นฟองลดลงหรือไม่ หากปัสสาวะเป็นฟองไม่หายอาจเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
  • การดูแลและป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเป็นฟองสามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารให้ครบหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ปัสสาวะเป็นฟองเกิดจากอะไร มีสาเหตุปัจจัยใดบ้าง?


causes-of-foamy-urine-1024x1024.jpg

การเกิดฟองในของเหลวหรือปัสสาวะเป็นฟองเกิดจากการแทรกตัวของอากาศในของเหลว ซึ่งการที่ฟองจะสามารถคงสภาพอยู่ได้ขึ้นอยู่กับแรงตึงผิวในของเหลว โดยปกติแล้วในน้ำปัสสาวะจะมีสารลดแรงตึงผิวอยู่เล็กน้อย เมื่อปัสสาวะลงไปในชักโครกจึงเกิดเป็นฟองได้ แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยจึงทำให้การคงสภาพของฟองอยู่ได้ไม่นาน


ทั้งนี้หากปัสสาวะเป็นฟองปริมาณมาก และไม่หายไปในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเข้มข้นของสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น


ภาวะโปรตีนรั่ว


ปกติแล้วไตจะสามารถกรองสารประกอบต่าง ๆ และขับออกมาเพียงของเสียและของเหลวส่วนเกินเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ที่ไตผิดปกติอาจทำให้ไตไม่สามารถกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำให้มีสารประกอบหลุดรั่วออกมามากขึ้น เช่น โปรตีน น้ำตาล เม็ดเลือดแดง ฯลฯ ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือโรคใด ๆ ที่ไปสร้างความเสียหายให้กับไต เช่น โรคเบาหวาน โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ รวมไปถึงอาการบาดเจ็บทางไต เป็นต้น หรืออาจพบในผู้ป่วยที่เป้นโรคไตอักเสบปฐมภูมิเอง (glomerular disease) ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ปัสสาวะเป็นฟองที่เกิดจากโปรตีนรั่วในปัสสาวะอาจเป็นอาการเพียงชั่วคราว จากการออกกำลังกายหนักเกินไป รับประทานโปรตีนมากเกินไปก็ได้เช่นกัน


การหลั่งอสุจิย้อนทาง หรือต่อมลูกหมากอักเสบ


เป็นความผิดปกติที่ทำให้มีน้ำอสุจิปนเปื้อนในปัสสาวะ เนื่องจากองค์ประกอบของอสุจิประกอบไปด้วยโปรตีนและเอนไซม์ต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยลดแรงตึงผิว เมื่อขับปัสสาวะที่มีอสุจิปนออกมาจึงทำให้ปัสสาวะเป็นฟองได้


การใช้ยาบางชนิด


ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อไต ทำให้ไตเสียหายและปัสสาวะออกมาเป็นฟองได้


ภาวะขาดน้ำ


ในน้ำปัสสาวะจะประกอบไปด้วยน้ำเป็นหลัก ผสมอยู่กับสารละลายและของเสียต่าง ๆ เมื่อไหร่ที่ดื่มน้ำน้อยจนเกิดภาวะขาดน้ำ ทำให้สารละลายในปัสสาวะเข้มข้นขึ้น เมื่อปัสสาวะออกมาจึงมีโอกาสที่จะเกิดฟองได้ง่าย


หากพบว่าตนเองปัสสาวะเป็นฟอง จะต้องทำอย่างไร?


ปัสสาวะเป็นฟองอาจเป็นอาการปกติหรืออาการของโรค แต่การจะแยกว่าปัสสาวะเป็นฟองที่เกิดขึ้นเป็นอาการปกติหรือไม่ อาจเริ่มต้นจากการสังเกตปัสสาวะของตนเอง ดังนี้


  • ลองปัสสาวะและสังเกตสักพักว่าฟองค่อย ๆ สลายตัวไปเองหรือไม่ หากปล่อยน้ำปัสสาวะทิ้งไว้สักพักแล้วฟองค่อย ๆ หายไปเอง นั่นแปลว่าเป็นภาวะปกติ
  • หากปัสสาวะเป็นฟองไม่หาย อาจลองดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หากปัสสาวะกลับมาเป็นปกติ นั่นอาจเกิดปัสสาวะเป็นฟองจากภาวะขาดน้ำ
  • แต่เมื่อไหร่ที่ดื่มน้ำเพียงพอแล้ว ปัสสาวะก็ยังเป็นฟองไม่หาย อาจเกิดจากโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น

การวินิจฉัยปัสสาวะเป็นฟอง


ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นภาวะที่อาจเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว และปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไต ซึ่งแนวทางการวินิจฉัยปัสสาวะเป็นฟองมีดังนี้


  • แพทย์ทำการซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะเป็นฟอง ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาที่เกิดปัญหา อาการร่วมที่เกิดขึ้นกับปัสสาวะเป็นฟอง พฤติกรรมการดื่มน้ำและรับประทานอาหาร การใช้ยา โรคประจำตัว ฯลฯ
  • การตรวจปัสสาวะ แพทย์ทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากผู้ป่วย จากนั้นทำการตรวจองค์ประกอบในปัสสาวะว่ามีสารประกอบโปรตีน เม็ดเลือดแดง กลูโคส หรืออื่น ๆ ปะปนหรือไม่
  • การตรวจเลือด สามารถตรวจหาระดับของเสียในเลือด ซึ่งบ่งบอกประสิทธิภาพการทำงานของไตได้ว่าผิดปกติหรือไม่
  • การอัลตราซาวนด์หรือการตรวจชิ้นเนื้อไต เพื่อตรวจพยาธิสภาพของไตอย่างละเอียด

วิธีรักษาปัสสาวะเป็นฟอง


how-to-treat-foamy-urine-1024x683.png

การรักษาปัสสาวะเป็นฟองนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัสสาวะเป็นฟอง


  • กรณีที่เกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้สมดุล ไม่เลือกทานสารอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพียงพอ ไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป เป็นต้น
  • หากปัสสาวะเป็นฟองจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไต แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ให้ทำการรักษาและควบคุมโรคต้นเหตุนั้น ๆ ก็สามารถลดความเสียหายต่อไตและช่วยให้ปัสสาวะเป็นฟองน้อยลงได้

การป้องกันปัสสาวะเป็นฟอง


ปัสสาวะเป็นฟองอาจเป็นสัญญาณเตือนจากไต หากไตเสียหายแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจทำให้ไตเสียหายถาวรได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตและดูแลตนเองอย่างเหมาะสมจึงเป็นการป้องกันอันตรายจากปัสสาวะเป็นฟองได้ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้


  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อให้ไตสามารถทำงานและขับของเสียออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไม่รับประทานโปรตีนปริมาณสูงจนเกินไป และให้รับประทานอาหารให้ครบหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากไตมีปัญหาและสามารถพบได้เร็ว อาจรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

ปัสสาวะเป็นฟอง ป้องกันและรักษาได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


ปัสสาวะเป็นฟองอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแล หรือโรคที่ต้องได้รับการรักษา หากพบปัญหาปัสสาวะเป็นฟองอย่าปล่อยปละละเลย และเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไตกลับมาทำงานปกติและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในอนาคต


อย่าปล่อยให้ปัญหาสุขภาพเป็นภาระชีวิตในอนาคตของคุณ แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยในอนาคต และให้คุณมีสุขภาพที่ดีต่อไปได้อีกยาวนาน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปัสสาวะเป็นฟอง


1. ฉี่เป็นฟองแบบไหนถึงอันตราย?


ฉี่เป็นฟองร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักขึ้น ขาบวมเท้าบวม เหนื่อยง่าย มีปัญหาการนอน หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว


References


Myhre, J. & Sifris, D. (2025, January 08). Protein in Urine: Causes and Treatment. verywell health. https://www.verywellhealth.com/protein-in-urine-5223896


Nall, R. (2024, June 18). What causes foamy urine?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322171?_x_tr_sl=en&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=th&_x_tr_pto=tc&_x_tr_hist=true


Watson, S. (2024, July 24). Why Is My Urine Foamy?. healthline. https://www.healthline.com/health/foamy-urine



บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital