บทความสุขภาพ

Knowledge

อาหารหลังการปลูกถ่ายไต เลือกรับประทานอย่างไรดี?

การปลูกถ่ายไตเป็นการผ่าตัดเพื่อนำไตใหม่จากผู้บริจาคซึ่งอาจเป็นญาติหรือผู้ป่วยสมองตายมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่บกพร่องไป ซึ่งปัจจุบันความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตมีอัตราค่อนข้างสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงนับว่าเป็นทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังและไตที่ปลูกถ่ายใหม่สามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย การดูแลสุขภาพในช่วงหลังการปลูกถ่ายไตจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง


การรับประทานอาหารหลังการปลูกถ่ายไตก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ป่วยควรต้องคำนึงถึง เพราะต้องเพิ่มการดูแลเรื่องสุขอนามัยด้านอาหารมากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อยากดภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้เหมาะสม อาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากดภูมิคุ้มกันหรือมีผลต่อระดับยาในร่างกายซึ่งอาจทำให้เกิดพิษในร่างกายได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมีการจัดเตรียมและรับประทานอาหารถูกต้องตามหลักการสุขาภิบาลอาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการรับประทานอาหารหลังการปลูกถ่ายไตเพื่อที่จะสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ไตใหม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและผู้ปลูกถ่ายไตมีคุณภาพชีวิตที่ดี


อาหารหลังปลูกถ่ายไตสำคัญอย่างไร?


จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต จำเป็นต้องให้ความสำคัญและต้องดูแลระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารรวมไปถึงสุขอนามัยด้านอาหารด้วย เนื่องจากการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมหลังการปลูกถ่ายไตจะส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว และสามารถกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ไตใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดอายุการทำงานให้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยปลูกถ่ายไตอาจต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในการเลือกรับประทานอาหาร


  • อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด มีโภชนาการครบ 5 หมู่ และการจัดเตรียมอาหารถูกต้องตามหลักการสุขาภิบาลอาหาร
  • กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังการผ่าตัด จะสามารถเลือกทานอาหารได้ปกติ
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น มีไข้ ติดเชื้อ มีการสลายของกล้ามเนื้อมากขึ้น จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอและเหมาะสมตามสภาวะร่างกาย ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักโภชนากร
  • กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องระมัดระวัง และควบคุมสารอาหารบางชนิด อันเนื่องมาจากยาหรือสภาวะต่าง ๆ เช่น ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ในภาวะร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้น หรือในภาวะแร่ธาตุต่าง ๆ ของร่างกายไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จำเป็นต้องได้รับอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพขณะนั้น ๆ ของตน ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักโภชนากร

การเลือกรับประทานอาหารกลุ่มต่าง ๆ ของผู้ปลูกถ่ายไต


ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตต้องมีการปรับตัวในการรับประทานอาหาร ซึ่งจะมีรายละเอียดการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าคนปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตใหม่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย โดยหลักการเลือกรับประทานอาหารกลุ่มต่าง ๆ มีดังนี้


อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต


ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อันเนื่องมาจากผลของยาสเตียรอยด์ (steroid) จะเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องควบคุมอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โดยควรรับประทานข้าว แป้ง และน้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม โดยควรเลือกรับประทานดังนี้


  • อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ควรบริโภค ได้แก่
    • คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต พาสตา ซีเรียลไม่มีน้ำตาล ธัญพืช เป็นต้น
    • อาหารที่มีค่าการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ (glycemic index < 55) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เล่ย์ พาสตา ผักกาดแก้ว มันเทศ ข้าวโพด ถั่วแดง แคร์รอต แตงกวา มะเขือเทศ แอปเปิล แก้วมังกร ฝรั่ง เป็นต้น
  • อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
    • อาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนม เป็นต้น
    • การปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำผึ้ง และน้ำหวานชนิดต่าง ๆ หากจำเป็นต้องปรุงรสก็ไม่ควรเกิน 3 – 6 ช้อนชา/วัน (ไม่นับรวมน้ำตาลที่แฝงอยู่ในผลไม้และผัก)

อาหารกลุ่มไขมัน


ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง จำเป็นต้องจำกัดอาหารกลุ่มไขมัน โดยมีหลักการคือ


  • บริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 – 35 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน
  • จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 7 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน
  • จำกัดปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน
  • จำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม

และพิจารณาเลือกบริโภคอาหารกลุ่มไขมันดังนี้


  • อาหารกลุ่มไขมันที่เหมาะสม ได้แก่
    • บริโภคเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ข่าว เป็นต้น
    • รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและไม่อิ่มมากจนเกินไป
    • รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • อาหารกลุ่มไขมัน ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
    • อาหารผัดและทอดที่ใช้น้ำมัน เช่น ผัดผัก ไข่เจียว ลูกชิ้นทอด ไก่ทอด เป็นต้น
    • อาหารกลุ่มเบเกอรี่ที่ใช้ไขมัน เนย และนม เช่น เค้ก คุกกี้ บราวนี่ ขนมปัง เป็นต้น
    • อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก กุ้ง เครื่องในสัตว์ นมสด มายองเนส เป็นต้น

และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ วิสกี้ เบียร์ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารมื้อดึก เนื่องจากการบริโภคอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมงจะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ง่าย


อาหารที่มีโซเดียม


โซเดียมมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับคนปกติทั่วไป แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน (พิจารณาจาก dietary reference index; DRI)


สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณโซเดียม เช่น ผู้ป่วยโรตไต โรคความดัน โรคน้ำท่วมปอด หรือผู้ที่มีภาวะการคั่งของน้ำในร่างกาย เป็นต้น โดยมีแนวทางการบริโภคอาหารเพื่อจำกัดปริมาณโซเดียม มีดังนี้


  • บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
  • ใช้รสเปรี้ยว เผ็ด และเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ เช่น หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด เป็นต้น เพื่อช่วยเสริมรสชาติ กลิ่น และสีสันแทนรสเค็ม
  • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
    • อาหารแปรรูป หมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารอบแห้ง อาหารแช่อิ่ม และอาหารกึ่งสำเร็จรูป
    • เครื่องปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส และซุปก้อน
    • น้ำจิ้มหรือน้ำราดต่าง ๆ เช่น น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มลูกชิ้น เป็นต้น
  • โดยปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสชนิดต่าง ๆ มีดังนี้ ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาเลือกบริโภคได้

foods-after-renal-transplantation-1.png
  • ปริมาณโซเดียมในอาหารชนิดต่าง ๆ แสดงดังตารางข้างล่างนี้ ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาเลือกบริโภคอาการได้
foods-after-renal-transplantation-2.png

อาหารกลุ่มโปรตีน


โปรตีน มีหน้าที่สำคัญในการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ และช่วยในการสังเคราะห์สารสำคัญที่ช่วยให้ร่ายกายทำงานเป็นปกติ เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เม็ดเลือด เป็นต้น ดังนั้นโปรตีนจึงเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย


ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีการสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น หรือมีภาวะทุพโภชนาการอยู่เดิม ควรมีการกำหนดปริมาณโปรตีนให้รับประทานได้เพียงพอแก่การชดเชยส่วนที่ขาดไป โดยควรเลือกรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนคุณภาพ (high biological value protein) เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น


อาหารที่มีโพแทสเซียม


โพแทสเซียมช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้เป็นปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง แพทย์จะกำหนดให้จำกัดปริมาณโพแทสเซียมในอาหาร ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ โดยแหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผัก ผลไม้ นม ธัญพืช และเครื่องปรุงรสบางชนิดที่เสริมโพแทสเซียม เป็นต้น เราสามารถลดปริมาณโพแทสเซียมในผักได้ด้วยการล้างผักให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือนำผักไปต้มหรือลวก ก่อนนำไปปรุงประกอบอาหาร ก็จะลดปริมาณโพแทสเซียมในผักลงได้


สามารถแบ่งกลุ่มผักและผลไม้ตามปริมาณของโพแทสเซียม ได้ดังนี้


foods-after-renal-transplantation-3.png

โดยวิธีการคำนวณปริมาณ 1 จานของผลไม้ มีหลักง่าย ๆ ดังนี้


foods-after-renal-transplantation-4.png

อาหารที่มีฟอสฟอรัส


ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่พบมากในกระดูกและเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเลือด หากมีฟอสฟอรัสปริมาณมากเกินไปจะมีผลต่อร่างกาย เช่น กระดูกเปราะบาง คันตามผิวหนัง เกิดหินปูนเกาะ ทำให้เกิดโรคหัวใจได้


สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีฟอสฟอรัสสูงสามารถควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสได้หลายวิธี ได้แก่ การฟอกเลือด การรับประทานยาจับฟอสฟอรัส และการควบคุมอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง โดยอัตราการดูดซึมฟอสฟอรัสของร่างกายจะขึ้นกับแหล่งของอาหาร เช่น ฟอสฟอรัสจากส่วนผสมทางเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหารและปรุงแต่งอาหารที่เพิ่มรสเพิ่มกลิ่นจะถูกดูดซึมได้มากกว่า 90% ฟอสฟอรัสจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะถูกดูดซึมได้ประมาณ 60% และฟอสฟอรัสจากพืชจะถูกดูดซึมน้อยกว่า 50% ซึ่งกลุ่มอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มีดังนี้


  • ไข่แดงของสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์ของไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เบเกอรี่
  • ปลาที่กินทั้งก้าง เช่น ปลากรอบ ปลาไส้ตัน ปลาข้าวสาร ปลาแห้ง ปลาซาร์ดีน
  • เครื่องในสัตว์ กบ เขียด อึ่งอ่าง แย้ แมลงทุกชนิด ปูทะเล กุ้งแห้ง
  • อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง
  • อาหารแช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง
  • อาหารจานด่วนต่างๆ เช่น เบอร์เกอร์ นักเก็ต มันฝรั่งทอด
  • นมและอาหารที่มีส่วนผสมของนม เช่น นมเย็น ชานม เครื่องดื่มชงทรีอินวัน โยเกิร์ต ชีส
  • น้ำอัดลมสีเข้ม เบียร์ น้ำแร่ เครื่องดื่มชูกำลัง
  • กาแฟ ช็อกโกเลต โกโก้
  • ยีสต์ ผงฟู และผลิตภัณฑ์ เช่น เบเกอรี่ต่างๆ ซาลาเปา โดนัท ปาท่องโก๋
  • ลูกเดือย งาดำ เต้าหู ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


  • ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ใกล้เวลาที่ต้องกินยา เพราะจะส่งผลกระทบต่อระดับยาและการกำจัดยาออกจากร่างกายของไต

อาหารกับยากดภูมิคุ้มกัน


ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทุกราย จะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต การรับประทานยากดภูมิคุ้มกันควรทานอย่างต่อเนื่องและตรงเวลาในทุก ๆ วัน ยาบางชนิดควรทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที บางชนิดไม่ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือควรทานตอนท้องว่าง และยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับอาหารบางประเภท จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้น ๆ เพราะจะส่งผลต่อระดับยาและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่งผลให้เป็นพิษต่อร่างกายได้


ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของอาหารกับยากดภูมิคุ้มกันเบื้องต้น เพื่อให้การรับประทานยามีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยมากที่สุด สามารถสรุปความสัมพันธ์ของยากับอาหาร ได้ดังนี้


  • ยากดภูมิคุ้มกันที่ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที ได้แก่
    • Prednisolone
    • Azathioprine (Imuran®)
    • Nystatin (Nyst Oral®)
    • Co-trimoxazole (Bactrim®)
    • Valganciclovir (Valcyte®)
    • Lamivudine (Lamivir®)
  • ยากดภูมิคุ้มกันที่ไม่ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือควรรับประทานขณะท้องว่าง ได้แก่
    • Tacrolimus (Advagraf®)
    • Mycophenolate mofetil (Cellcept®)
    • Mycophenolate sodium (Myfortic®)
  • ยากดภูมิคุ้มกันที่ทำปฏิกิริยากับเกรฟฟรุต ทับทิม ขิง ส้มโอ ขมิ้น และโสม ได้แก่
    • Cyclosporin (Sandimmume Neoral®)
    • Tacrolimus (Advagraf®, Prograf®)
    • Sirolimus (Rapamune®)
    • Everolimus (Certican®)
  • ยากดภูมิคุ้มกันที่ไม่ควรรับประทานพร้อมนม หรือหากรับประทานนมก็ควรห่างจากเวลารับประทานยา 2 ชั่วโมง ได้แก่
    • Cyclosporin (Sandimmume Neoral®)
    • Tacrolimus (Advagraf®), Prograf®)
    • Sirolimus (Rapamune®)
    • Mycophenolate mofetil (Cellcept®)
    • Mycophenolate sodium (Myfortic®)
  • ยากดภูมิคุ้มกันที่ทำปฏิกิริยากับคาเฟอีน (ชา, กาแฟ) หากดื่มชาหรือกาแฟก็ควรห่างจากเวลารับประทานยา 2 ชั่วโมง คือ prednisolone

ผู้ปลูกถ่ายไตควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง?


อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต “ควรหลีกเลี่ยง” มีดังนี้


foods-after-renal-transplantation-5.png

สุขอนามัยด้านอาหารของผู้ได้รับการปลูกถ่ายไต


การได้รับยากดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นสุขอนามัยด้านอาหารของผู้ได้รับการปลูกถ่ายไตจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยแนวทางสุขาภิบาลอาหาร มีดังนี้


การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ


  • ก่อนสัมผัสหรือหยิบอาหาร
  • หลังการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น สัมผัสเนื้อสัตว์สดทุกชนิด เข้าห้องน้ำ สัมผัสสัตว์เลี้ยง สั่งน้ำมูก สัมผัสหน้าหรืออวัยวะต่าง ๆ สัมผัสสิ่งสกปรกต่าง ๆ เป็นต้น
  • ควรล้างมือด้วยสบู่ล้างมือ ถูมือสองข้างให้สะอาดทั่วถึง และเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือหรือผ้าสะอาด
  • ผู้สัมผัสอาหารต้องมีสุขอนามัยที่ดี เช่น ไม่เจ็บป่วย ไม่ไอจามใส่อาหาร

การลดการปนเปื้อนต่าง ๆ


  • แยกเก็บอาหารสดตามประเภท ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และไข่ แยกเก็บในตู้เย็น
  • แยกพื้นที่ในการประกอบอาหารสุก พื้นที่ในการเตรียมอาหารดิบ และเนื้อสัตว์ดิบต่าง ๆ ให้เป็นสัดส่วน
  • ล้างทำความสะอาดไข่ก่อนนำมาปรุงอาหารด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ฟองน้ำถูเปลือกไข่
  • แยกใช้เขียงสำหรับหั่นอาหารตามประเภทอาหาร เช่น เขียงอาหารปรุงสุก เขียงอาหารทะเล เป็นต้น
  • ไม่นำน้ำซอสหมักเนื้อดิบมาใช้ซ้ำ ถ้าจะใช้ซ้ำต้องนำไปต้มให้สุกอีกรอบก่อน
  • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน กรณีผักใบให้เด็ดออกทีละใบก่อนล้าง วิธีการล้างผักและผลไม้ ได้แก่
    • ใช้มือถู ปล่อยน้ำไหลผ่านทีละส่วน ประมาณ 2 นาที
    • แช่ในน้ำเกลือนาน 10 นาที (โดยใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • แช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1/2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตร) และล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • แยกประเภทผ้าที่ใช้ทำความสะอาดโต๊ะและภาชนะ
  • จัดเตรียมพื้นที่รับประทานอาหารให้สะอาด

การปรุงและรับประทานอาหารอย่างปลอดภัย


  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ รวมทั้งอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
  • ปอกเปลือกผลไม้ก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงสุกแล้วเก็บไว้ข้ามวัน หากเก็บต้องเก็บในตู้เย็น และอุ่นร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทั่วถึงทั้งชิ้น เพื่อป้องกันเชื้อโรค และสิ่งปนเปื้อน
  • การละลายน้ำแข็งก่อนนำอาหารแช่แข็งมาใช้ ไม่ควรวางให้ละลายที่อุณหภูมิห้อง ควรนำพักไว้ในช่องแช่เย็นปกติก่อนถึงเวลาใช้งาน หรือแช่ในน้ำเย็นโดยต้องมีถุงหรือภาชนะห่อหุ้มอาหาร หรือนำเข้าละลายน้ำแข็งในไมโครเวฟ เมื่อละลายแล้วต้องใช้ทันที
  • ไม่แนะนำการปรุงประกอบอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะไม่สามารถทำลายเชื้อโรคบางชนิดได้

การเก็บรักษาอาหาร


  • เก็บรักษาอาหารและวัตถุดิบในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับประเภทอาหาร แสดงดังรูป

nutrition-2.jpg
  • เก็บอาหารทุกชนิดหากยังไม่ได้รับประทาน และอาหารเหลือจากที่รับประทานแล้ว ให้นำเข้าตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากปรุงประกอบเสร็จ
  • เก็บอาหารในภาชนะปิดมิดชิด แยกเก็บตามชนิดของอาหาร และใส่อาหารในปริมาณครั้งละไม่มากเกินไปเพื่อให้ความเย็นทั่วถึง
  • หลักการเก็บอาหารในตู้เย็น แสดงดังตาราง

foods-after-renal-transplantation-6.png
  • อุณหภูมิที่เหมาะสมและระยะเวลาในการเก็บอาหารที่เหมาะสม แสดงดังตาราง

foods-after-renal-transplantation-7.png

(ที่มา: คู่มือวิชาการสุขาภิบาลอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่, 2566)


สรุป


การปลูกถ่ายไตถือว่าเป็นการวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ให้ผลการรักษาดีกว่าการรักษาแบบอื่น ๆ ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นการผ่าตัดใหญ่จำเป็นต้องมีการเตรียมร่างกายของทั้งผู้บริจาคไต และผู้รับบริจาคไตก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุดของไตใหม่ และความปลอดภัยของทั้งผู้บริจาคและรับบริจาคไต และหลังจากการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องระมัดระวังและเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะที่ร่างกายปฏิเสธไตใหม่ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และยืดอายุการทำงานของไตให้ยาวนานขึ้นด้วย


ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต ควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีนคุณภาพสูง และไขมันชนิดที่ดีเพื่อให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดอยู่ในระดับปกติ และควรมีการจำกัดปริมาณของเกลือแร่ที่ได้รับจากอาหาร เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส เพื่อคงสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของไตโดยตรง


ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตเลือกรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ขิง ข่า โสม ส้มโอ และทับทิม เป็นต้น เพราะมีผลต่อระดับของยากดภูมิคุ้มกันทำให้เกิดพิษในร่างกายได้ อาหารบางชนิดก็ไม่ควรรับประทานพร้อมกับยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ นม และกาแฟ อีกทั้งผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไตมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการสุขาภิบาลอาหารอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ


การรับประทานอาหารหลังปลูกถ่ายไตอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ไตใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง (3)

ดูทั้งหมด

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง

฿ 4,500

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

฿ 990 - 3,690

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวาน (Diabetic Screening)

฿ 2,790

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital