บทความสุขภาพ

Knowledge

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้พิการได้

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

ผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท มักจะมีอาการที่ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากอาการปวดหลัง หรือปวดสะโพกแล้วร้าวลงขา แรก ๆ ผู้ป่วยอาจจะยังสามารถทนกับอาการดังกล่าวได้ แต่ในระยะต่อไปอาการจะมากขึ้น หากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดความผิดปกติจน เดินไม่ได้ ดังนั้นหากมีอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท คืออะไร ?


โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือที่เรียกกันว่า “หมอนรองกระดูกทับเส้น” เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตกแล้วปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง


ปกติแล้วกระดูกสันหลังของคนเราแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral disc) คั่นอยู่ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก เหมือนกับ ‘โช้คอัพ’ ของรถยนต์ ช่วยป้องกันความเสียหายของกระดูกสันหลัง และภายในกระดูกสันหลังจะมีโพรงซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาท ดังนั้นหากมีการแตกและปลิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวจึงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทส่วนเอว และทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงสะโพกได้


หมอนรองกระดูกสันหลัง-Fig-1_m.jpg

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เกิดจากสาเหตุใด?


หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น


  • การใช้หลังผิดท่าทาง เช่น ท่านั่งไม่ถูกวิธี การก้มยกของหนักไม่ถูกวิธี
  • การไอจามแรง ๆ
  • ความเสื่อมของร่างกาย
  • อุบัติเหตุที่ทำให้ความดันในหมอนรองกระดูกหรือช่องท้องเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนตัวออกมาจนเข้าไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง

หมอนรองกระดูกสันหลัง-Fig-2_m.jpg

อาการของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท


เมื่อเส้นประสาทที่ไขสันหลังถูกกดทับ เส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการ ดังต่อไปนี้


  • ปวดหลังหรือสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
  • ชา หรืออ่อนแรงขา และอาจมีอาการชาเท้าร่วมด้วย
  • หากรุนแรงจะมีอาการของระบบขับถ่ายร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก
  • ในระยะที่รุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเส้นประสาทบาดเจ็บซึ่งเสี่ยงต่อความพิการได้

หมอนรองกระดูกสันหลัง-Fig-3_m.jpg

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


สำหรับการรักษาเบื้องต้น แพทย์มักจะเริ่มด้วยการรักษาแบบประคับประคอง (conservative treatments) ได้แก่ การพักผ่อน งดกิจกรรมหนัก การใช้ยา รวมถึง การทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด อย่างไรก็ตามหากอาการไม่ทุเลา หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มีอาการขาชาหรืออ่อนแรงมากขึ้น หรือมีการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติไป อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้ป่วยควรต้องรีบรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด (surgical treatments)


โดยทั่วไปของการผ่าตัดรักษา คือ ตัดเอาหมอนรองกระดูกเฉพาะส่วนที่เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทออก (discectomy) โดยในปัจจุบันสามารถผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง(endoscope) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทชัดเจนมากขึ้น และช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ทำให้ร่างกายมีความบอบช้ำน้อย ผู้ป่วยจะปวดแผลน้อยลง และมีแผลเล็ก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวไว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น


ประสบการณ์ผู้ที่เคยผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินก่อนผ่าตัดอย่างละเอียด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้ดุลยพินิจ เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย


ข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์กระดูกสันหลังโรงพยาบาลพระรามเก้า


การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


แม้ว่าโรคนี้จะมีปัจจัยที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ความเสื่อมตามวัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันได้ เช่น การใช้หลังให้ถูกท่าทาง การนั่งด้วยท่าทางที่ถูกต้อง หากต้องนั่งนาน ๆ ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเป็นระยะ เมื่อต้องยกของหนักจากพื้นต้องย่อเข่า ไม่ก้มโค้งหลังลงไปเพื่อยกของ และควรหมั่นฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง ก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง และยืดอายุการใช้งานของหมอนรองกระดูก ไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรได้อีกด้วย


หมอนรองกระดูกสันหลัง-Fig-4_m.jpg

สรุป


โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เป็นโรคที่ทำให้มีอาการปวดหลัง หรืออาจมีอาการชาขา หรือเท้า ทำให้กิจวัตรประจำวันหากปล่อยไว้เรื้อรังจะทำให้เส้นประสาทไขสันหลังที่ถูกกดทับเสียหายมากขึ้นได้ อาการก็จะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากเมื่อพบว่ามีอาการปวดหลังแล้วร้าว ชา ลงขา ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยรักษาให้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

นพ. รัฐฤกษ์ อรุณากูร

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital