บทความสุขภาพ

Knowledge

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต

นพ. น๊อต เตชะวัฒนวรรณา, นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์

ด้วยเหตุที่โรคไตมีหลายชนิด อาการของผู้ป่วยจึงมีความแตกต่างกันไป และโรคไตยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกตามลักษณะอาการและตำแหน่งที่มีปัญหา อย่างเช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน เนื้อเยื่อไตอักเสบ และนิ่วในไต เป็นต้น


แต่ถ้าพูดถึงอาการโรคไต จะมีกลุ่มอาการ 2 ชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไตวายเรื้อรังนั้น ทางการแพทย์ถือว่าเป็นฆาตรกรเงียบเลยทีเดียว เนื่องจากโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตอนที่ไตเสียหายไปพอสมควรแล้ว

รู้จักอาการโรคไตที่พบบ่อย


เนื่องด้วยสาเหตุที่เป็นโรคไตมีหลายชนิด อาการโรคไตของผู้ป่วยแต่ละคน จึงมีลักษณะแตกต่างกัน ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงกลุ่มอาการ 2 ชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคไตวายเฉียบพลัน และ โรคไตวายเรื้อรัง


Untitled-5-5-pgho9oowckz00p56rjyd7po0y1dwl12t5acndrhnfo.jpg
  • โรคไตวายเฉียบพลัน คือ ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น เกิดภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงตั้งแต่เริ่มแรกทั้งๆที่ไตยังไม่เสื่อม เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ ตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดโลหิตแดง และโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย และหากตรวจวัดความดันโลหิตจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาการผิดปกติเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นในระยะแรกๆ ตั้งแต่เริ่มเป็น ภาวะไตวายเฉียบพลันมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากมาพบแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อไตและการทำงานของไตก็อาจสามารถกลับฟื้นคืนเป็นปกติได้เช่นกัน

chronic-renal-disease-symptom-5.jpg
  • โรคไตวายเรื้อรัง คือ เนื้อไตจะถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแรมเดือน แรมปี เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน โรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง โรคไตที่เกิดจากเกาท์ ฯลฯ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นเลยโดยผู้ป่วยจะมีความเป็นอยู่ ดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่างเป็นเวลาหลายๆ ปี ระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย แพทย์ก็อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย จนในที่สุดการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่ของปกติ จะเริ่มมีอาการโรคไตแสดงออกมาให้เห็นบ้าง และถ้าการทำงานของไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาชัดเจนทุกราย

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและการรักษา คลิก บทความการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง


อาการโรคไต และผลกระทบต่อระบบต่างๆ


acute-renal-disease-symptom-5.jpg

อาการต่างๆ ที่สังเกตได้ ว่าไตของเรากำลังมีปัญหา เพราะเมื่อไตทำงานได้ไม่ปกติ ร่างกายขับของเสียได้ไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และท้ายที่สุดหากการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่างๆให้พอสังเกตได้ ดังนี้


S__61114801-5-pgho940g686ox9z84b0kouvvvk7tvospqfzytocb8k.jpg
  • สภาพทั่วๆไป ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย หรือผู้ป่วยโรคไตบางรายอาจจะซูบผอมเนื่องจากน้ำหนักที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามโรคไตบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยตัวบวม ขาบวมร่วมกับมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระบบผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีผิวหนังซีด แห้งคัน มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้ว
  • หายช้า หรือผู้ป่วยบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ
  • ระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ สะอึก ปวดท้อง ท้องเดิน เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นแผลในกระเพาะและลำไส้
  • ระบบหัวใจและการหายใจ ถ้าไตทำงานได้น้อยลงจนขับปัสสาวะและเกลือแร่ไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทำให้หัวใจทำงานไม่ไหว และมีอาการเหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเกิดภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด
  • ด้านระบบประสาท สมองและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปลายประสาทเสื่อม ทำให้มือเท้าชา ปวดหลังบริเวณบั้นเอว กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขาดสมาธิ สมองเสื่อม ไม่สามารถคิดและจดจำได้เหมือนปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในที่สุดอาจมีอาการชัก หมดสติ หรือเสียใจชีวิตได้
  • ระบบกระดูก เนื่องจากไตสูญเสียหน้าที่ในการสังเคราะห์วิตามินดี มีผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคไตวายจะหยุดเจริญเติบโตและแคระแกร็น
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะเริ่มแรก ในตอนกลางคืนจะปัสสาวะบ่อยและมีสีจาง จนที่สุดเมื่อการทำงานของไตเสื่อมลงหรือไตวาย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยมาก
  • ระบบโลหิต ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง เข้าภาวะโรคไตวายระยะสุดท้าย จะผลิตฮอร์โมนไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทำให้โลหิตจาง ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง จะมีอาการซีด และมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด และมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวได้ง่าย
  • ระบบภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายมักจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายผู้ป่วยโรคไตวาย มักจะมีการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนเกือบทุกชนิด ทั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง จากต่อมไธรอยด์ จากต่อมพาราไธรอยด์ จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากรังไข่เพศหญิง ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือฮอร์โมนจากลูกอัณฑะในเพศชาย ทำให้เป็นหมันและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การวินิจฉัย รู้ทันอาการโรคไต


Untitled-6_1-5-pgho8um29vttp6cvn6yazx99xpi5qpred5h40wq8ys.jpg

เมื่อเราสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดความกังวลใจว่าอาการเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโรตไตหรือไม่นั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ด้วยวิธีดังต่อไปนี้


  • ตรวจปัสสาวะ ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปัสสาวะจะมีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะ
  • ตรวจเลือด ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปริมาณไนโตรเจน กรดยูริก (Blood Nitrogen Urea, BUN) และ ครีเอตินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูงกว่าปกติ และนำผลเลือดที่ได้นี้มาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไตหรือ GFR (glomerular filtration rate) ในลำดับต่อไป
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และ การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ถ้ามีความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

1663829417056.jpg

สรุป


โรคไตในแต่ละประเภทนั้น อาการของผู้ป่วยอาจจะมีลักษณะแตกต่างกัน ตามโรคไตในแต่ละประเภท โดยอาการโรคไตวายเรื้อรังค่อนข้างจะซ่อนเร้น ค่อยๆ กำเริบมากขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือไม่มีอาการ บางครั้งแฝงมากับโรคอื่นอย่างลับๆ บางครั้งตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไต เมื่อมีอาการก็มักจะมาพบแพทย์ซึ่งสายเกินไปเสียแล้วเพราะไตของผู้ป่วยเสียมากจนเกินความสามารถที่แพทย์จะรักษาให้หายเป็นปกติได้


ดังนั้นเมื่อเรารู้ถึงลักษณะอาการของโรคไตตั้งแต่เนิ่นๆ หมั่นคอยสังเกตอาการ และพบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. น๊อต  เตชะวัฒนวรรณา

นพ. น๊อต เตชะวัฒนวรรณา

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

นพ. วิรุฬห์  มาวิจักขณ์

นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital