บทความสุขภาพ

Knowledge

นิ่วในไต นิ่วในท่อปัสสาวะ อย่าทนปวด! รู้สาเหตุ ป้องกันได้

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

รู้สึกปวดหลังอย่างรุนแรงจนแทบขาดใจ ปัสสาวะแสบขัดจนไม่อยากเข้าห้องน้ำ หรือปัสสาวะเป็นเลือดจนน่าตกใจ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “นิ่วในไต” ภัยร้ายที่คุกคามสุขภาพของคุณโดยไม่รู้ตัว


นิ่วในไตเป็นการตกตะกอนของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งขนาดทั้งเล็กและใหญ่ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาหรือรับยาโดยทันที


Key Takeaways


  • นิ่วในไตเป็นก้อนแข็งที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ
  • นิ่วในไตเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เเต่พบมากที่สุดในผู้ชายอายุมาก
  • สัญญาณของโรคนิ่วในไตที่มักพบคือ ปัสสาวะเป็นเลือด อาการปวดหลัง สีข้างหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจร่วมกับอาการไข้ หนาวสั่นได้ด้วย หากนิ่วนั้นส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • การรักษานิ่วในไตสามารถทำได้ทั้งการติดตามอาการ ใช้ยา เครื่องมือทางการเเพทย์ต่าง ๆ และผ่าตัด
  • โรงพยาบาลพระรามเก้า มีเทคโนโลยี PCNL ที่ช่วยกำจัดนิ่วในไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับการผ่าตัดใหญ่

นิ่วในไตคืออะไร?


นิ่วในไตคืออะไร-1024x1024.jpg

นิ่วในไตเป็นก้อนผลึกแข็งที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ มีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่เม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่มากที่สุด 13 เซนติเมตร ซึ่งนิ่วไตเกิดจากสารในปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูงรวมตัวกันและตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในไต เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต กรดยูริก หรือซิสเตอีน นอกจากนี้ นิ่วในไตยังเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ ไตบวมหากรุนแรงมาก ๆ อาจทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง และติดเชื้อจนเกิดอาการไตวายได้


นิ่วในไตเกิดจากอะไร?


causes-of-kidney-stones-1024x1024.jpg

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น นิ่วในไตเกิดจากการตกผลึกของสารต่าง ๆ ในปัสสาวะ เมื่อสารเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงเกินไป ก็จะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตมีหลายปัจจัยเสี่ยง ดังนี้


  • พันธุกรรม : คนที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นนิ่วในไต มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า
  • เพศและอายุ : ผู้ชายเสี่ยงเป็นนิ่วในไตมากกว่าผู้หญิง อายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตมากขึ้น
  • พฤติกรรม :
    • ดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น เกิดนิ่วได้ง่าย
    • กลั้นปัสสาวะนาน ๆ และขยับร่างกายน้อย ก็เสี่ยงเป็นนิ่ว
  • อาหาร : กินอาหารบางอย่างมากไป เช่น ของเค็ม อาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน
  • โรคประจำตัว : โรคบางอย่างทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วในไต เช่น
    • ผู้ป่วยโรคไตบางชนิด เช่น โรคไตที่มีการทำงานของท่อไตผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตสูงขึ้น
    • โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูงและ โรคเบาหวาน
  • ยา : ยาบางชนิด เช่น วิตามินซี ยาแคลเซียม ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยากันชักบางขนิด อาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้

โรคนิ่วในไตมีอาการเป็นอย่างไร?


อาการนิ่วในไตที่พบได้บ่อยคือปัสสาวะเป็นเลือด มีความรู้สึกปวดอย่างรุนแรง มักเริ่มที่บริเวณเอวหรือหลัง แล้วร้าวลงไปที่ท้องน้อย ขาหนีบหรือต้นขา อาการปวดมักจะมาเป็นพัก ๆ และอาจรุนแรงจนทนไม่ได้ รวมไปถึงอาจมีอาการของโรคปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย หรืออาจะสังเกตเห็นก้อนกรวดในปัสสาวะ นอกจากอาการปวดและปัสสาวะผิดปกติแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือหากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะทำให้มีไข้ หนาวสั่น ด้วยเช่นกัน


การวินิจฉัยโรคนิ่วในไต


kidney-stones-treatments.jpg

สำหรับผู้ที่พบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นระยะเวลานานไม่หาย คล้ายกับอาการของคนเป็นนิ่วในไต แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง โดยทั่วไปวิธีการวินิจฉัยโรคนิ่วในไต มีดังนี้


  • แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต
  • แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูอาการผิดปกติ เช่น เจ็บที่บริเวณหลังหรือสีข้าง
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือผลึกของสารต่าง ๆ ในปัสสาวะหรือไม่
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของสารต่างๆ ในเลือด เช่น แคลเซียม กรดยูริก และครีอะตินิน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะนิ่วในไต หรือความผิดปกติอื่นๆ
  • อาจมีการเอกซเรย์ CT scan หรืออัลตราซาวนด์เพื่อตรวจนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในไตมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร?


สำหรับวิธีการการรักษาโรคนิ่วในไตมีวิธีการรักษา ดังนี้


การรักษาทางยา


  • ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide เพื่อลดการขับแคลเซียมในปัสสาวะช่วยลดการเกิดนิ่วในไต (ทั้งนี้ ประเภทของยาขึ้นอยู่กับประเภทของนิ่วที่ตรวจพบ)
  • ยาทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง ในผู้ป่วยที่มีนิ่วกรดยูริค
  • ยายับยั้งตะกอนแคลเซียม เช่นโปตัสเซี่ยมซิเตรท
  • สมุนไพรเช่น หญ้าหนวดแมว
  • ยาบรรเทาอาการปวด

การรักษาทางการผ่าตัดหรือวิธีอื่น


  1. วิธีสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL
  2. การส่องกล้องผ่านผิวหนังหรือท่อปัสสาวะ แล้วดึงนิ่วหรือยิงให้แตกออกมา (URS)
  3. วิธีการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) คือการใช้เครื่องยิงคลื่นเข้าประทะกับก้อนนิ่ว ทำให้ก้อนเเตกออก มีขนาดเล็กลง ซึ่งทำให้สามารถขับออกมาเองได้
  4. การทำผ่าตัด ปัจจุบันใช้เฉพาะในคนไข้ที่มีนิ่วขนาดใหญ่หรือมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้วิธีข้างต้นได้

การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะมักจะต้องใช้ยาดังกล่าวไปด้านบน ขึ้นอยู่กับประเภทของนิ่วจากการตรวจโดยวิธีต่าง ๆ เเละอาการของผู้ป่วย โดยอาจพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเเพทย์ร่วมรักษา ซึ่งสามารถจำแนกตามขนาดของก้อนนิ่วโดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้


  • นิ่วที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซ.ม. ไม่มีอาการ และไม่มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เบื้องต้นแพทย์จะติดตามดูอาการต่อไป
  • นิ่วขนาดเล็กกว่า 0.5 ซ.ม. แต่มีอาการหรือมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และนิ่วขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซ.ม. เเต่ไม่ถึง 1 ซ.ม. เเพทย์มักจะพิจารณารักษาโดยการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) ก่อน
  • นิ่วขนาด 1-2 ซ.ม. แพทย์จะเลือกรักษาด้วยวิธีการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) หรือการส่องกล้อง (URS) และหากสองวิธีแรกไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL ต่อไป
  • นิ่วขนาด 2 ซ.ม. ขึ้นไป หรือ มีนิ่วเขากวาง (Staghorn stone) มักรักษาโดยการสลายนิ่วในไตด้วยเครื่อง PCNL

อนึ่ง หลังจากเริ่มการรักษาเเล้ว จะต้องมีการติดตามผลการรักษาเเละอาการโดยเเพทย์ต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป


อย่าทนปวด! นิ่วในไตรักษาได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9


นิ่วในไต คือ ก้อนแข็งที่เกิดในไตจากการตกตะกอนของสารในปัสสาวะ มีขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋วเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดใหญ่มากที่สุด 13 เซนติเมตร ผู้ที่มีนิ่วในไตมักมีอาการ ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดสีข้างหรือหลังเป็นพัก ๆ เเต่ปวดมากจนทนไม่ไหว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการต่อวัน และไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน


โดยที่สถาบันโรคไตของโรคพยาบาลพระรามเก้า เรามีวิธีการรักษานิ่วในไตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง การเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง (percutaneous nephrolithotomy; PCNL) เป็นการผ่าตัดนิ่วแบบใหม่ที่ให้ผลการรักษาดีในการกำจัดนิ่วในไตขนาดใหญ่ เป็นการรักษานิ่วที่มีขนาดแผลเล็กกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็ว สูญเสียเนื้อไตน้อยกว่า วิธีการรักษานี้จึงนับเป็นทางเลือกการรักษานิ่วขนาดใหญ่ในไตที่ดี


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับนิ่วในไต


1. คนไข้ที่เป็นนิ่วในไตห้ามกินอะไร?


สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง สารออกซาเลตสูง สารพิวรีน เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ผัดโขม ราสเบอร์รี กระเจี๊ยบ มะเฟือง โกโก้ เป็นต้น


2. ป้องกันนิ่วในไตได้อย่างไรบ้าง?


การป้องกันนิ่วในไตสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการต่อวัน ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อย และลุกเดินระหว่างบ่อย ๆ ลดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการก่อนิ่วในใต


References


How common are kidney stones?. (n.d.). National Kidney Foundation. https://www.kidney.org/kidney-topics/kidney-stones


Kidney stones. (n.d.). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/kidney-stones/



เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital