บทความสุขภาพ

Knowledge

กรวยไตอักเสบ อาการที่ไม่ควรมองข้าม ต้องรักษาอย่างทันท่วงที

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะช่วยแยกของเสียออกจากเลือด ก่อนจะขับออกมาในรูปแบบปัสสาวะ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ปัสสาวะเเสบขัด ปวดท้อง ปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณของโรคไตที่ร้ายแรง หรือ “กรวยไตอักเสบ” ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ และหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต


แม้ว่ากรวยไตอักเสบจะเป็นอาการที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของเพศหญิงมีขนาดสั้นกว่าจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเพศชายจะไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรค มาทำความรู้จักอาการกรวยไตอักเสบให้มากขึ้น เพื่อให้รู้เท่าทันโรคและสามารถเข้ารับการรักษาก่อนเชื้อจะลุกลามจนเป็นอันตราย


Key Takeaways


  • กรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนมากมักเกิดจากแบคทีเรียอีโคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในลำไส้ของมนุษย์
  • อาการผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าว เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะเเสบขัด ปวดท้องน้อยหรือหลัง
  • ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นกรวยไตอักเสบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า
  • การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ไม่อั้นปัสสาวะและรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศช่วยป้องกันการติดเชื้อ
  • วิธีการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของแพทย์ อาจใช้ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะทางสายเลือด หรือการให้ยาปฏิชีวนะทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการติดตามการรักษาประคองอาการอย่างใกล้ชิด

กรวยไตอักเสบคืออะไร? เกิดจากอะไร?


กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) คือ ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการติดเชื้อที่กรวยไต ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากแบคทีเรีย Escherichia coli หรือที่เรียกกันว่า อีโคไล (E.Coli) เป็นแบคทีเรียช่วยย่อยอาหารที่สามารถพบได้ทั่วไปตามลำไส้ของมนุษย์และสัตว์บางชนิด แต่กรณีที่กรวยไตได้รับเชื้อแบคทีเรียอีโคไลจากภายนอก จะทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคร้ายแรงตามมา


โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อจะเริ่มจากท่อปัสสาวะ (urethra) ซึ่งเป็นทางออกของปัสสาวะจากร่างกาย จากนั้นเชื้อแบคทีเรียสามารถขึ้นไปตามทางเดินปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะ (bladder) และหากไม่ได้รับการรักษาหรือมีปัจจัยที่เสี่ยงอื่น ๆ เชื้อจะสามารถขึ้นไปถึงกรวยไต (renal pelvis) และไตได้ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบที่ไตหรือกรวยไต


ซึ่งโรคกรวยไตอักเสบสามารถแบ่งอาการคร่าว ๆ ออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่


  • กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) : ภาวะการติดเชื้อบริเวณกรวยไตที่แสดงอาการออกมาอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแสบเวลาปัสสาวะ พร้อมกับอาการมีไข้ ปวดหลัง ซึ่งหากตรวจพบจะสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
  • กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic Pyelonephritis) : เป็นภาวะการติดเชื้อบริเวณกรวยไตเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อซ้ำ ๆ หรือการติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ารับการักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งอาการอักเสบเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เซลล์ไตถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง อาจจะต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต

กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?


unnamed.png

ผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบมักจะมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ดังนี้


  • ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดแสบหรือติดขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะออกมากะปริดกะปรอย
  • ปัสสาวะออกมามีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่น
  • ขณะปัสสาวะมีเลือดหรือหนองปะปนออกมา (Hematuria)
  • ปวดท้อง ปวดช่วงบั้นเอว และอาจมีอาการปวดปัสสาวะตลอดเวลาจนกลั้นไม่อยู่
  • ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบมักมีอาการหนาวสั่น มีไข้ขึ้นสูงพร้อมอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
  • มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร
  • มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน

อาการดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคกรวยไตอักเสบ หากสังเกตตัวเองแล้วพบลักษณะอาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจมีความรุนแรงจนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต


อ่านสาระเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตได้ที่ : อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต


กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ


unnamed (1).png

กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ มีปัจจัยที่ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่ากลุ่มอื่น จึงนับว่ากลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรเฝ้าสังเกตอาการและเข้าพบแพทย์ทันทีเมื่อพบเจอความผิดปกติ


  • ผู้หญิง : ตามลักษณะสรีระร่างกายของผู้หญิงจะมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าของผู้ชาย รวมถึงท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ใกล้กับทวารหนักมากกว่า ส่งผลให้แบคทีเรียมีโอกาสปนเปื้อนมายังท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจขึ้นไปยังกระเพาะปัสสาวะ เเละนำไปสู่การติดเชื้อของกรวยไตได้ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้บ่อยที่สุด
  • สตรีมีครรภ์ : ระหว่างการตั้งครรภ์จะเกิดจากเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่างๆ เช่น มีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะทำให้ท่อปัสสาวะหย่อนคลาย และมดลูกที่อาจขยายตัวจนบีบกดทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลผ่านได้ทำให้มีการเจริญของเเบคทีเรียมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นกรวยไตอักเสบเพิ่มมากขึ้น
  • ภาวะวัยหมดประจำเดือน : เป็นช่วงที่ผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ลดลงส่งผลให้มีการเจริญผิดปกติของเเบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอด รวมถึงมีการเปลี่ยนเเปลงของผนังท่อปัสสาวะเเละช่องคลอด ซึ่งอาจขึ้นไปยังกระเพาะปัสสาวะ เเละนำไปสู่การติดเชื้อของกรวยไตได้
  • ผู้ที่มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ : คนกลุ่มนี้มักไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกไปจนหมด เนื่องจากการตีบตันของกระเพาะปัสสาวะ หรือตีบตันท่อไตจนมีอาการอักเสบและติดเชื้อตามมา รวมถึงคนที่ใส่สายสวนปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง: สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเป็นโรคเบาหวาน ผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ คนกลุ่มนี้จะมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากอาการป่วย ทำให้เกิดอาการแทกซ้อนเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกไปได้ ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

วิธีการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบ


unnamed (2).png

วิธีการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีน้อยลง โดยขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ สามารถทำได้ดังนี้


  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอทุกวัน ช่วยให้ร่างกายขับแบคทีเรียออกมาทางปัสสาวะ
  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เกิดการคงค้างของปัสสาวะในกระเพาะเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้มีการเเบ่งตัวของเเบคทีเรียในปัสสาวะได้ นำมาสู่การติดเชื้อต่อไป
  • รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ถูกวิธี ด้วยการทำความสะอาดจากทางด้านหน้าไปยังทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่มาจากทวารหนัก หรือการปัสสาวะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ก็มีส่วนช่วยในการขับเชื้อเเบคทีเรียออกจากทางเดินปัสสาวะได้
  • ผู้หญิงไม่ควรสวนล้างช่องคลอดด้วยตัวเอง เพราะอาจเป็นการทำลายสมดุลของเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ภายในช่องคลอด ทำให้มีการเจริญของเเบคทีเรียผิดปกติ ส่งผลให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกปัสสาวะเเสบขัด มีเลือดปนออกมา ควรเข้าพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ


กรวยไตอักเสบมีวิธีการรักษาอย่างไร?


แนวทางการรักษาโรคกรวยไตอักเสบมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ หลังจากเข้าพบแพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดหาเชื้อแบคทีเรีย หลังผลการวินิจฉัยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม


  • การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน : จากผลวินิจฉัยที่ออกมาทางแพทย์จะกำหนดชนิดของยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ให้เหมาะกับประเภทของแบคทีเรีย ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยา ส่วนมากจะต้องทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 7-14 วัน หรือตามคำสั่งแพทย์ ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่เลือกใช้ ความรุนเเรงของโรค อาจร่วมกับการฉีดยาด้วย
  • การรักษาด้วยการให้ยาทางหลอดเลือด : เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตติดเชื้ออย่างรุนแรง รับประทานยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนเเรง โดยแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางเส้นเลือดดำ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีการสังเกตอาการโดยเเพทย์เเละพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงอาจให้น้ำเกลือร่วมกับยารักษาอาการอื่น ๆ
  • การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด : เป็นวิธีการรักษาอาการกรวยไตอักเสบที่มีสาเหตุจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในไตที่อาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น เกิดฝีที่ไต อาจถึงขั้นต้องพิจารณาขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อเอาตัวนิ่วที่พบออก เพื่อการใส่ท่อระบายปัสสาวะจากทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรืออาจพิจารณาการตัดเนื้อไตออกหากมีการติดเชื้อที่รุนเเรงมาก

กรวยไตอักเสบ ตรวจเจอเร็ว รักษาหายก่อนลุกลามได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9


กรวยไตอักเสบ เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่ควรมองข้าม และไม่ควรทนเจ็บเวลาปัสสาวะเพราะคิดว่าจะหายเอง เนื่องจากอาการติดเชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามและเป็นอันตราย การสังเกตพบความผิดปกติเวลาปัสสาวะและเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมถึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง


หากพบว่าตนเอง หรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ สามารถมาปรึกษากับเราที่ สถาบันโรคไต โรงพยาบาลพระราม 9 เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคไตโดยเฉพาะ และแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันทำงานเป็นสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) เพื่อดูแลคุณและครอบครัวให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



References


Chivima B. (2014). Pyelonephritis. Nursing standard (Royal College of Nursing (Great Britain) : 1987), 28(23), 61. https://doi.org/10.7748/ns2014.02.28.23.61.s51


Johnson, JR. & Russo, TA. (2018). Acute Pyelonephritis in Adults. The New England journal of medicine, 378(1), 48–59. https://doi.org/10.1056/nejmcp1702758


Rollino, C., Beltrame, G., Ferro, M., Quattrocchio, G., & Quarello, F. (2012). Le pielonefriti [Pyelonephritis]. Giornale italiano di nefrologia : organo ufficiale della Societa italiana di nefrologia, 29 Suppl 56, S21–S27. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23059936

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital