บทความสุขภาพ

Knowledge

การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวหลังการปลูกถ่ายไต

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล

การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเพื่อนำไตใหม่จากผู้บริจาคซึ่งอาจเป็นญาติหรือผู้ป่วยสมองตายมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่บกพร่องไป ซึ่งปัจจุบันความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตมีอัตราค่อนข้างสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำงาน รับประทานอาหาร และออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง และไตที่ปลูกถ่ายใหม่สามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังการเปลี่ยนไตไปตลอดชีวิต เพื่อให้ไตใหม่อยู่ได้นานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต แต่การได้รับยากดภูมิคุ้มกันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนและดูแลสุขภาพให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานของไตใหม่ให้ใช้งานได้นานที่สุด


การได้รับยากดภูมิในผู้ป่วย หลังได้รับการปลูกถ่ายไต


ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจำเป็นจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เพื่อกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันภาวะปฏิเสธไต เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อไตใหม่เสมือนสิ่งแปลกปลอมชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิเสธไตใหม่ ทำให้การปลูกถ่ายไตไม่ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับยากดภูมิคุ้มกันและยาอื่น ๆ ที่ได้รับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และรักษาการทำงานของไตใหม่ได้ให้ยาวนานที่สุด


รายชื่อยากดภูมิคุ้มกัน


ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับยากดภูมิ รวมไปถึงยาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งยากดภูมิคุ้มกันที่ผู้ป่วยจะได้รับหลังการปลูกถ่ายไตจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งยากดภูมิเหล่านี้ ได้แก่


  • Cyclosporine (Neoral)
  • Tacrolimus (Prograf, Advargraf)
  • Sirolimus, Rapamune, Everolimus (Certican)
  • Mycophenolate mofetil (Cellcept)
  • Mycophenolate Sodium (Myfortic)
  • Prednisolone

จุดประสงค์ของการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านหรือปฏิเสธไตใหม่ โดยผู้ป่วยต้องได้รับยาในขนาดที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้ไตใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำงานและอยู่กับผู้ป่วยได้นานที่สุด


สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการรับประทานยากดภูมิ


  • ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยาเอง ต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรเปลี่ยนชนิดของยากดภูมิคุ้มกันเอง
  • หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ไม่ได้รับยาในขนาดที่ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้ระดับยากดภูมิคุ้มกันในเลือดเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เช่น
    • ระดับยาน้อยเกินไป จะทำให้เกิดภาวะปฎิเสธอวัยวะ
    • ระดับยาที่สูงเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อต่าง ๆ

การติดตามระดับยาในเลือด


  • แพทย์จะสั่งตรวจวัดระดับยาในเลือดเพื่อพิจารณาขนาดยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย การเจาะเลือดเพื่อวัดระดับยาจึงมีความสำคัญมาก สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ไซโรลิมัส (Sirolimus) เอเวอโรลิมัส (Everolimus) ผู้ป่วยควรมาเจาะเลือดให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ก่อนรับประทานยา และไม่ควรเจาะเลือดคลาดเคลื่อนเกิน 30 – 60 นาที
  • โดยปกติจะวัดระดับยาต่ำสุด คือ การเจาะเลือดก่อนรับประทานยากดภูมิคุ้มกันมื้อถัดไป เช่น หากรับประทานยาเวลา 20.00 น. และจะรับประทานยามื้อถัดไปเวลา 8.00 น. ผู้ป่วยควรเจาะเลือดเวลา 8.00 น. และคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 30 นาที
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) บางราย แพทย์อาจจะให้เจาะเลือดหลังจากรับประทานยาผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง เช่น รับประทานยาเวลา 8.00 น. แพทย์อาจจะสั่งให้เจาะเลือดเวลา 10.00 น.

การเก็บรักษายา


  • ยากดภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง ป้องกันแสง ความร้อน หรือความชื้น ยกเว้นยาไซโรลิมัส (Sirolimus) ชนิดน้ำ ที่ต้องเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส
  • ยาที่บรรจุอยู่ในแผงยา ไม่ควรแกะเม็ดยาออกมาจากแผง หากยังไม่ได้รับประทาน เพราะแสงและความชื้นอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้

กรณีได้รับการรักษาจากแพทย์ท่านอื่น สถานพยาบาลอื่น หรือร้านขายยา


ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล รับทราบว่าท่านรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ในกรณีที่ได้รับการรักษาจากที่อื่น เนื่องจากยาบางชนิดที่ได้รับเพื่อรักษาภาวะอื่น ๆ เพิ่ม อาจเกิดปฏิกิริยาต่อยากดภูมิคุ้มกัน (drug interaction) หรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” ส่งผลให้ระดับยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จะได้มีการตรวจสอบการให้ยาให้ถูกต้อง


ตัวอย่างยาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับยากดภูมิคุ้มกัน


renal-transplantation-post-operation-1.png

กรณีลืมรับประทานยา


  • ถ้าเป็นยาที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ให้ทานทันที ที่นึกได้ภายใน 6 ชั่วโมง ถ้าเลย 6 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
  • ถ้าเป็นยาที่รับประทานวันละ 1 ครั้ง เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ไซโรลิมัส (Sirolimus) ให้รับประทานทันที ที่นึกได้ภายใน 12 ชั่วโมง ถ้าเลย 12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด

ตัวอย่าง: ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทานวันละ 2 ครั้ง เวลา 8.00 น. และ 20.00 น. ผู้ป่วยลืมทานยาตอน 8.00 น. และนึกขึ้นได้ก่อนเวลา 14.00 น. ให้รีบรับประทานยาทันที แต่ถ้านึกขึ้นได้หลังจากเวลา 14.00 น. ให้ข้ามมื้อนั้นไป และรับประทานยาเวลา 20.00 น. ในปริมาณเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า


กรณีอาเจียนยาออกมา


  • ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และมองเห็นเม็ดยาที่อาเจียนออกมา ควรเว้นระยะสักครู่ให้อาการคลื่นไส้อาเจียนดีขึ้น แล้วจึงรับประทานยาใหม่
  • หากอาเจียนแต่ไม่เห็นเม็ดยาหรือไม่แน่ใจว่าอาเจียนยาออกมาด้วยหรือไม่ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำโดยเด็ดขาด

กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกล


  • เตรียมยาติดตัวให้เพียงพอตลอดการเดินทาง
  • เลือกอยู่ในสถานที่ ที่สะอาด และไม่แออัด
  • ไม่ควรเก็บยาไว้ในรถ ที่ร้อนจัด หรือถูกแสงแดดโดยตรง
  • เลือกรับประทานอาหารสุกที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกได้
  • ถ้าเดินทางไปต่างประเทศที่ต้องปรับเวลาใหม่ ควรรับประทานยาตามเวลาในประเทศไทย ยกเว้น กรณีที่ต้องไปพักอาศัยเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางบนเครื่องบินในช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น เนื่องจากช่วงเวลานี้ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง การอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทน้อยเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากผู้โดยสารอื่น ๆ ได้ง่าย

กรณีที่มีอาการผิดปกติ ต้องทำอย่างไร


ผู้ป่วยควรศึกษาอาการสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของภาวะปฏิเสธไตและภาวะติดเชื้อ หากมีอาการเหล่านั้นให้รีบมาพบแพทย์ทันที


สรุปข้อควรปฏิบัติหลังจากได้รับยากดภูมิคุ้มกัน


  • รับประทานยาสม่ำเสมอและตรงเวลา
  • ห้ามหยุดยาหรือปรับขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
  • ควรจำชื่อยากดภูมิคุ้มกันให้ได้หรือจดบันทึกไว้
  • ต้องมาเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับยาตามเวลาที่กำหนด
  • เก็บยาในสถานที่ที่ไม่ถูกแสง ความร้อน ความชื้น และพ้นมือเด็ก
  • หากได้รับการรักษาจากสถานพยาบาล/ร้านยาอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลรับทราบทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบรายการยาที่ได้รับเพิ่มว่าจะมีผลต่อยากดภูมิคุ้มกันหรือไม่

คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ใช้หลังจากการปลูกถ่ายไต


ภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งต้องรับประทานตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของยา วิธีรับประทานยาที่ถูกต้อง และผลข้างเคียงของยา ดังนี้


ข้อควรปฏิบัติ


  • รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • พกใบรายการยาประจำติดตัวไว้เสมอ
  • ต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ถ้ารับประทานยาเกินขนาดต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที
  • เก็บยาในที่ที่เหมาะสมตามคำสั่งแพทย์และเภสัชกร
  • ควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องทุกครั้งที่มาเจาะเลือดเพื่อวัดระดับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะหากระดับยาสูงไปจะมีโทษต่อไต ในทางตรงกันข้ามถ้าระดับยาต่ำไปก็ทำให้การกดภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้ผล ซึ่งอาจเกิดภาวะปฏิเสธไตใหม่ได้
  • หากมีอาการข้างเคียงใหม่ ๆ จากการรับประทานยา หรือมีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินให้ติดต่อแพทย์และโรงพยาบาลทันที
  • หากสังเกตพบว่ามีสิ่งปกติใด ๆ เกิดขึ้น ให้จดบันทึกไว้พร้อมวันและเวลา แล้วแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบเมื่อมาพบแพทย์ตามนัด
  • ควรวางแผนล่วงหน้าก่อนยาจะหมดและเตรียมยาให้พร้อมก่อนไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัด

ข้อห้ามและไม่ควรปฏิบัติ


  • อย่าหยุดยาหรือปรับยาเองเด็ดขาด
  • อย่ารับประทานยาที่หมดอายุแล้ว
  • อย่าให้ผู้อื่นรับประทานยาของตน
  • ไม่ควรขาดยาที่รับประทานประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากดภูมิคุ้มกัน
  • อย่าซื้อยาจากร้านขายยาทั่วไปโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง ก่อนใช้ยาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากยาหลายชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไป

การมาพบแพทย์ตามนัด


การมาพบแพทย์ตามนัดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลหลังการเปลี่ยนไต ดังนั้นผู้ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตจึงควรใส่ใจและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด


การพบแพทย์ตามนัดสำคัญอย่างไร?


การพบแพทย์ตามนัดเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์ทุกครั้ง หลังการปลูกถ่ายไต เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไตใหม่จะอยู่ได้นานและทำงานได้ดี อีกทั้งการดูแลหลังการเปลี่ยนไตไม่สามารถทำได้ทางโทรศัพท์หรือทางไปรษณีย์ได้ เคยมีกรณีตัวอย่างผู้ป่วยปลูกถ่ายไตไม่ยอมพบแพทย์ เก็บตัวกินยาเองโดยลำพัง สุดท้ายไตเสื่อมลงจากฤทธิ์ของยา เกิดการติดเชื้อ และเสียชีวิตในที่สุด จะเห็นได้ว่าการมาพบแพทย์ตามนัดนั้นสำคัญมาก


การมาพบแพทย์จะมีการตรวจร่างกายอะไรบ้าง?


  • ตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจ
  • ตรวจการทำงานของไตใหม่ ในบางกรณีอาจมีความผิดปกติจากการต่อต้านไตใหม่หรือจากโรคเก่ากำเริบแต่ไม่แสดงอาการ โดยจะพบได้เฉพาะเมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะเท่านั้น
  • ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่มีโอกาสเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง โรงเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคกระเพาะ/ลำไส้ เป็นต้น
  • อาการข้างเคียงของยา
  • ตรวจเพื่อปรับระดับยากดภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม
  • ตรวจเพื่อปรับยาตัวอื่น ๆ ให้เหมาะสม เช่น ยาลดความดัน ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ยาโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูสิ่งผิดปกติในปัสสาวะ เช่น เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ไข่ขาว โรคติดเชื้อ เป็นต้น

มีการตรวจเลือดเพื่อดูอะไรบ้าง?


  • ระดับยากดภูมิคุ้มกัน
  • ระดับการทำงานของไตและตับ
  • ระดับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด
  • ระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อตรวจหาและควบคุมเบาหวาน

การตรวจพิเศษที่อาจมีการตรวจเพิ่มเติม มีอะไรบ้าง?


  • อัลตราซาวนด์
  • เอกซเรย์ปอด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • เก็บตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมง
  • ตรวจหามะเร็งต่าง ๆ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ตรวจภายใน (สำหรับสตรี)
  • ตรวจชิ้นเนื้อไต (kidney biopsy) กรณีที่แพทย์สงสัยภาวะปฏิเสธไต

อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด


  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปัสสาวะแสบขัด ขุ่น มีเลือดปน
  • ปัสสาวะออกน้อยลงจากเดิม
  • มีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ใส่ไตใหม่
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ตัวบวมขึ้น
  • มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกจากแผลผ่าตัด
  • ท้องเสีย
  • เหนื่อยหอบ
  • ปวดบริเวณแผลหรือบริเวณไตที่เปลี่ยน
  • มีลักษณะของแผลเริม งูสวัด
  • ความผิดปกติอื่น ๆ

การทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตหลังการปลูกถ่ายไต


  • สามารถทำงานทั่วไปได้ตามปกติ และจะสามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่ต้องไปฟอกเลือด โดยผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 4 – 8 สัปดาห์ หลังจากออกจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำจากแพทย์
  • งานที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ การทำงานกับดิน งานสวน งานที่ต้องเผชิญกับสิ่งสกปรก ควรสวมถุงมือยางและใช้ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังต้องระวังการเข้าสังคม การพบปะผู้คนหรือต้องไปอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือที่แออัดคับแคบ และควรหลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชนในช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัด

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายไต


  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตทุกคนต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยในการลดความเครียด ลดไขมัน ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น และช่วยลดความดันได้
  • หลังการปลูกถ่ายไตในสัปดาห์แรก ควรยืน เดินรอบ ๆ เตียง
  • หลังปลูกถ่ายไต 1 – 2 สัปดาห์ ควรเดินให้มากขึ้นและสามารถช่วยเหลือตนเองได้เต็มที่
  • หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินรอบ ๆ บ้าน วันละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที
  • หลังปลูกถ่ายไต 4 – 6 สัปดาห์ ควรเดินเร็ว ๆ จนเหงื่อออก ครั้งละ 15 – 30 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง
  • หลังปลูกถ่ายไต 6 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ
  • เล่นกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ เต้นแอโรบิค ปิงปอง วิ่ง ว่ายน้ำ
  • กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชกมวย ยูโด มวยปล้ำ รักบี้ ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ ที่มีการปะทะหรือชนกัน เป็นต้น

การมีเพศสัมพันธ์หลังการปลูกถ่ายไต


  • ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
  • ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (safe sex) ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมักเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้มีปัญหาต่อความสุขของครอบครัว แต่เมื่อปลูกถ่ายไตสำเร็จ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้น
  • แนวทางการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรเริ่มจากการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ งดสุรา รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ควบคุมความดันและไขมันในเลือด
  • หากหลังปลูกถ่ายไตผู้ป่วยต้องการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

หลังปลูกถ่ายไตสามารถมีบุตรได้หรือไม่?


  • สตรีที่ปลูกถ่ายไต ควรทิ้งระยะเวลาตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไตเป็นเวลา 2 ปี
  • การตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

การติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต


เชื้อโรคที่พบในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตได้บ่อยหรืออันตรายสูง โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก ได้แก่


  • เชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย ได้แก่
    • เชื้อเริม/งูสวัด (herpes)
    • ไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี (hepatitis B, C)
    • ไวรัส Cytomegalovirus (CMV) เช่น ปอดบวม ลำไส้อักเสบ ม่านจอตาอักเสบ เป็นต้น
    • ไวรัส Epstein-Barr virus (EBV) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
  • เชื้อรา เช่น ติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง ปาก ปอด และอวัยวะอื่นๆ
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และเนื้อไตอักเสบ ที่อาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิตได้
  • ติดเชื้อ Pneumocystis pneumonia (PCP) ในปอด

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการปลูกถ่ายไต


  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • ระวังอย่าเอามือที่ไม่สะอาดมาถูหน้าหรือเอาเข้าปาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดเท่านั้น
  • อยู่ให้ห่างผู้ป่วยหวัดหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น อีสุกอีใส ปอดปวม โดยเฉพาะช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
  • ถ้ามีคนในบ้านเป็นหวัด ควรใส่หน้ากากครอบปากและจมูก
  • ไม่ควรทำงานที่ต้องสัมผัสกับดิน ขยะ น้ำสกปรก โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
  • พยายามหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ สัตว์เลี้ยง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์จรจัด

ภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาหลังการปลูกถ่ายไต


โรคความดัน


  • อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันและโรคหัวใจ นอกจากนี้ยากดภูมิคุ้มกันบางตัวก็มีผลข้างเคียงทำให้ความดันสูงขึ้นได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาควบคุมความดัน โดยทีมแพทย์ปลูกถ่ายไตจะเลือกยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุดให้แก่ผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาขับปัสสาวะเพื่อเสริมฤทธิ์ของยาควบคุมความดันให้ดียิ่งขึ้น

โรคเบาหวาน


  • ยากดภูมิคุ้มกันบางตัวอาจมีผลข้างเคียงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เกินกว่า 2 ครั้ง ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย คอแห้ง ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ตาพร่า และสับสน ถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรแจ้งทีมแพทย์ปลูกถ่ายไตทันที
  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตที่เป็นเบาหวานจะต้องควบคุมอาหาร ควบคู่ไปกับการรับประทานยาควบคุมเบาหวานหรือฉีดอินซูลิน และจะได้รับคำแนะนำวิธิการปฏิบัติตัวจากทีมแพทย์ที่ดูแลรักษา

ภาวะไขมันในเลือดสูง


  • ยากดภูมิคุ้มกันมีผลข้างเคียงทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและอัมพาต ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดเป็นระยะ หากระดับไขมันในเลือดสูงอาจจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมไขมัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดลงได้ระดับหนึ่ง

อาหารและโภชนาการของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต


การเลือกอาหารที่เหมาะสมในผู้ป่วยหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต จะส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะสามารถเลือกทานอาหารได้ปกติ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีไข้ ติดเชื้อ มีการสลายของกล้ามเนื้อมากขึ้น จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอตามสภาวะร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ และถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร


ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องควบคุมสารอาหารบางชนิดอันเนื่องมาจากยาหรือสภาวะต่าง ๆ เช่น ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ในภาวะร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้น หรือในภาวะแร่ธาตุต่าง ๆ ของร่างกายไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควรเลือกอาหารให้เหมาะสมตามชนิดต่าง ๆ ดังนี้


คาร์โบไฮเดรต


  • ผู้ป่วยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอันเนื่องมาจากโรคประจำตัวเดิมหรือจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ (steroid) จำเป็นต้องควบคุมอาหารกลุ่มคารโบไฮเดรต
  • ควรเลือกบริโภคอาหารกลุ่มคารโบไฮเดรต ดังนี้
    • รับประทานข้าว แป้ง และน้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม
    • ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ธัญพืช เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนม เป็นต้น
    • เลือกอาหารที่มีค่าการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ (glycemic index < 55) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เล่ย์ พาสต้า ผักกาดแก้ว มันเทศ ข้าวโพด ถั่วแดง เป็นต้น

ไขมัน


  • ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 – 35 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน โดยจำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 7 ไขมันไม่อิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10
  • ควรเลือกบริโภคอาหารกลุ่มไขมัน ดังนี้
    • เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
    • งดและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ลดบริโภคอาหารมื้อดึก
    • รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โปรตีน


  • โปรตีน มีหน้าสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ และช่วยในการสังเคราะห์สารสำคัญที่ช่วยให้ร่ายกายทำงานเป็นปกติ เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เม็ดเลือด เป็นต้น โปรตีนจึงเป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีการสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น หรือมีภาวะทุพโภชนาการอยู่เดิม ควรมีการกำหนดปริมาณโปรตีนให้รับประทานได้เพียงพอ และควรเลือกกลุ่มโปรตีนคุณภาพ เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น

โซเดียม


  • โซเดียม มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับคนปกติทั่วไปแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน (โดยพิจารณาจาก dietary reference index; DRI)
  • ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต ความดันสูง น้ำท่วมปอด มีการคั่งของของเหลวในร่างกาย และแพทย์กำหนดให้จำกัดปริมาณโซเดียม ควรเลือกบริโภคอาหาร ดังนี้
    • บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
    • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรส ผงปรุงรส และซุปก้อนในการปรุงอาหาร
    • ใช้รสเปรี้ยว เผ็ด และเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ เช่น หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด เป็นต้น เพื่อช่วยเสริมรสชาติ กลิ่น และสีสันแทนรสเค็ม
    • ลดการบริโภคน้ำจิ้ม น้ำราดต่าง ๆ

โพแทสเซียม


  • โพแทสเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้เป็นปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงและแพทย์กำหนดให้จำกัดปริมาณโพแทสเซียมในอาหาร จะต้องเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม
  • แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม ธัญพืช และเครื่องปรุงรสบางชนิดที่เสริมโพแทสเซียม
  • ผู้ป่วยสามารถลดโพแทสเซียมในผักได้โดยการล้างผักให้สะอาดเพื่อลดสารตกค้าง ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือนำผักไปต้มหรือลวกก่อนนำไปปรุงประกอบอาหารได้ตามต้องการ

ฟอสฟอรัส


  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่พบมากในกระดูก และเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเลือด
  • หากมีฟอสฟอรัสปริมาณมากเกินไปจะมีผลต่อร่างกาย เช่น กระดูกเปราะบาง คันตามผิวหนัง เกิดหินปูนเกาะทำให้เกิดโรคหัวใจได้
  • ผู้ป่วยโรคไตที่มีฟอสฟอรัสสูงสามารถควบคุมได้หลายวิธี ได้แก่ การฟอกเลือด การรับประทานยาจับฟอสฟอรัส และการควบคุมอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง
  • กลุ่มอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มีดังนี้
    • ไข่แดงของสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์ของไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เบเกอรี่
    • ปลาที่กินทั้งก้าง เช่น ปลากรอบ ปลาไส้ตัน ปลาข้าวสาร ปลาแห้ง ปลาซาร์ดีน
    • เครื่องในสัตว์ กบ เขียด อึ่งอ่าง แย้ แมลงทุกชนิด ปูทะเล กุ้งแห้ง
    • อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง
    • อาหารแช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง
    • นมและอาหารที่มีส่วนผสมของนม
    • กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้
    • ยีสต์ ผงฟู
    • ลูกเดือย งาดำ เต้าหู ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ

แอลกอฮอล์


  • ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ใกล้เวลาที่ต้องกินยา เพราะจะส่งผลกระทบต่อระดับยาและการกำจัดยาออกจากร่างกายของไตได้

อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ไม่ควรรับประทานหลังการปลูกถ่ายไต


ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการทำงานของยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต “ควรหลีกเลี่ยง”ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดังนี้


  • ขมิ้น และอาหารที่มีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงไตปลา คั่วกลิ้ง แกงเหลือง ขนมจีนน้ำยาใต้ ข้าวหมกไก่
  • ขิง และอาหารที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ เช่น ปลานึ่งขิง น้ำขิง บัวลอยน้ำขิง ไก่ผัดขิง
  • โสม และอาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของโสม
  • ทับทิม ทั้งในรูปแบบผลทับทิม น้ำทับทิม หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของทับทิม
  • เกรฟฟรุต ทั้งในรูปแบบผลเกรฟฟรุต น้ำเกรฟฟรุต หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของเกรฟฟรุต
  • Echinacea เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และป้องกันหวัด
  • ST. John’s Wort เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งในยุโรปและอเมริกา มักพบในรูปแบบของอาหารเสริมและยาสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ

วัคซีนที่ผู้ป่วยควรได้รับหลังการปลูกถ่ายไต


ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมักจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบเพราะจะสามารถลดการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสปอดอักเสบได้


วัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine)


การบริหารยา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็มทุกปี หลังการปลูกถ่ายไต


ข้อห้ามใช้

  1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรง
  2. หากเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Guillain-Barre syndrome) หลังฉีดวัคซีนควรกลับมาพบแพทย์ทันที

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ มี 2 ยี่ห้อ ดังนี้

  1. Vaxigrip Tetra
  2. Fluarix Tetra

วัคซีน-Vaxigrip-Tetra.webp

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (pneumococcal vaccine)


การบริหารยา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็มทุก 5 ปี หลังการปลูกถ่ายไต

ผลข้างเคียง

  1. ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด
  2. มีไข้ 1 – 2 วันหลังฉีดวัคคซีน

ข้อห้ามใช้: ปฏิกิริยาแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน


Pneumococcal Polysaccharide vaccine คือ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์


วัคซีนป้องกันโรคโควิด


สามารถใช้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตได้ทั้งชนิดเชื้อตาย (killed vaccine), ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (vector vaccine) หรือชนิด mRNA


คำแนะนำ: ความถี่ในการฉีดวัคซีนแต่ละแบบยังต้องติดตามตามคำแนะนำล่าสุด (อาจมีการเปลี่ยนแปลง)

สรุป


หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังการเปลี่ยนไตจากทีมแพทย์ตลอดชีวิตเพื่อให้แน่ใจว่าไตใหม่อยู่ได้นานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต และต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจดูความแข็งแรงของร่างกาย และเพื่อประเมินการทำงานของไตใหม่ จะมีการเจาะเลือดเพื่อปรับระดับยากดภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม และประเมินภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้


อย่างไรก็ตามการได้รับยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และสะอาด หลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล

นพ. วิศิษฐ์ ลิ่วลมไพศาล

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital