บทความสุขภาพ

Knowledge

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด นวัตกรรมการแพทย์ ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ฟื้นตัวเร็ว ลดความเสี่ยงการผ่าตัดซ้ำ

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ด้วยความสามารถในการช่วยศัลยแพทย์ให้ทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และลดระยะเวลาพักฟื้นของผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมที่ผู้ป่วยส่วนมากมักเป็นผู้สูงอายุ การมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด จึงช่วยลดภาระจากการพักฟื้น และยังทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าเป็นปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


Key Takeaways


  • การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง ความเสี่ยงต่ำ และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถฟื้นตัว ได้อย่างรวดเร็ว
  • การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสำคัญมาก ควรตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัดให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มักสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบปกติ เนื่องจากความแม่นยำที่สูงขึ้นมาก

ทำความรู้จัก ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ ผู้ช่วยคนสำคัญ เพื่อการผ่าตัดข้อเข่าเทียมที่แม่นยำ


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic assisted Surgery) คือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาเพื่อช่วยเหลือศัลยแพทย์ในการผ่าตัดแบบต่าง ๆ โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มความแม่นยำของตา ช่วยให้เล็งได้ดีขึ้น ลดความสั่นไหวของมือ หรือเรียกได้ว่าเป็นการลด Human Error ระหว่างการผ่าตัดนั่นเอง


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม จะทำงานผ่านการควบคุมของศัลยแพทย์ ช่วยเพิ่มการมองเห็นโดยมีการสร้างภาพจำลองสามมิติของข้อเข่าผู้ป่วยแต่ละราย เพิ่มความแม่นยำ ในการตัดกระดูก ลดความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ถูกนำมาใช้ในหลายสาขาการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดกระดูกเข่า สะโพก ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เป็นต้น


ผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เหมาะสำหรับใครบ้าง ?


โดยทั่วไปการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ที่จำเป็นต้องใส่ข้อเข่าเทียมเกือบทุกราย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ลดความเสี่ยงในการผ่าตัดซำ้จากความคลาดเคลื่อนของการผ่าตัด


ผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมแบบดั้งเดิม VS การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แตกต่างกันอย่างไร


ผ่าตัดรูปแบบดั้งเดิม


การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมคือการผ่าตัดที่มีการเล็งตัดกระดูกนำผิวข้อเข่าที่เสื่อมสภาพออกและใส่ผิวข้อเข่าเทียมใส่กลับเข้าไป ซึ่งก็อาจมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด (Human Error) เนื่องจากเป็นการใช้สายตาในการเล็งตัดกระดูก อาจเกิดการเล็งตัดกระดูกที่ผิดพลาด หรือการใช้อุปกรณ์ตัดกระดูกที่ควบคุมด้วยมือ ทำให้ถึงแม้จะเล็งได้ถูกต้อง แต่การตัดกระดูก อาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำตามที่เล็ง จนไปถึงหลังจากตัดกระดูกมีการวางข้อเข่าเทียมไม่ได้องศาที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นนานขึ้นหรืออาจใช้งานข้อเข่าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีข้อยึด ข้อหลวม จนไปถึงการผ่าตัดซำ้ในบางราย


ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม


การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาช่วยนั้น ยังมีศัลยแพทย์เป็นผู้ทำการผ่าตัด เช่นเดิม เพียงแต่มีการใช้แขนกลของหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาช่วยลด Human Error เกือบทั้งหมด สามารถเข้าถึงและเก็บงานได้แม่นยำในระดับน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตร ซึ่งละเอียดมากกว่าที่ ตา และมือมนุษย์จะทำได้ ช่วยป้องกันความผิดพลาดและลดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยจึงใช้เวลาพักฟื้นน้อยและสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วย ลดความเสี่ยงการผ่าตัดซำ้จากความคลาดเคลื่อนดังกล่าว โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ต้องการความละเอียดสูง เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบบางส่วน


หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง?


robotic-assisted-surgery-1024x1024.webp

ข้อดีของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด


  • เพิ่มความแม่นยำ แขนกลของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างละเอียด ใช้ได้ดีในการผ่าตัดที่ต้องการความละเอียดสูง เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบบางส่วน ช่วยลดข้อผิดพลาดจาก Human Error ซึ่งเกิดจากการเล็ง การตัดกระดูก ที่ไม่แม่นยำ
  • ฟื้นตัวเร็ว การผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่องหรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยลดการเสียเลือด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
  • ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของการตัดกระดูก
  • เพิ่มการมองเห็นแบบ 3 มิติ ระบบมองเห็นของหุ่นยนต์การแพทย์ช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นรายละเอียดของกระดูกได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบปกติ

ข้อเสียของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด


  • ค่าใช้จ่ายสูง การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีต้นทุนสูงมากกว่าการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าการผ่าตัดแบบทั่วไป
  • ต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง แม้ว่าหุ่นยนต์ผ่าตัดจะเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำ แต่ศัลยแพทย์ต้องผ่านการฝึกฝนเฉพาะด้าน เพื่อให้สามารถควบคุมระบบได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ
  • ข้อจำกัดของบางหัตถการ แม้หุ่นยนต์การแพทย์จะเหมาะกับการผ่าตัดหลายประเภท แต่บางกรณีอาจยังไม่สามารถใช้แทนการผ่าตัดแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการที่เป็นอยู่

การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด


pre-robotic-surgery-1024x1024.webp

การผ่าตัดข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงและลด ภาวะแทรกซ้อน แต่เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ป่วยควรเตรียมตัวล่วงหน้า ตามคำแนะนำของแพทย์ดังนี้


  • เข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แพทย์จะประเมินสุขภาพโดยรวม รวมถึงตรวจเลือด เอกซเรย์เพื่อให้แพทย์รู้ข้อมูลของข้อเข่าและอวัยวะที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดและวางแผนการผ่าตัดอย่างปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยมากที่สุด
  • แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพกับแพทย์ก่อนเสมอ หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือแพ้ยา ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบล่วงหน้า เพราะเป็นกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือระบบร่างกายทำงานยังไม่ปกติ อาจทำให้การผ่าตัดเกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
  • งดยาบางชนิดตามคำแนะนำแพทย์ โดยเฉพาะยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อการผ่าตัด อาจทำให้เลือดแข็งตัวยากจนเป็นอันตรายได้
  • งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัด โดยทั่วไปต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและลดโอกาสสำลักไม่รู้ตัวระหว่างผ่าตัดด้วย
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดอีกด้วย
  • จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับวันผ่าตัด เช่น เอกสารทางการแพทย์ ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ค่าใช้จ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย (เผื่อเปื้อน) และของใช้ส่วนตัว (สำหรับนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล)
  • เตรียมตัวพักฟื้นหลังผ่าตัด ควรวางแผนการหยุดงาน จัดเตรียมที่พัก และมีผู้ดูแลหลังผ่าตัดในช่วงแรกด้วย เพื่อความปลอดภัยในการพักรักษาตัว
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า เพื่อให้หลังผ่าตัดข้อเข่าสามารถฟื้นตัวได้ไวและกลับมาใช้งานข้อเข่าได้เร็วขึ้น

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด นวัตกรรมเพื่อการผ่าตัดข้อเข่าเทียมที่แม่นยำและปลอดภัย


ปัจจุบันการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยยกระดับ มาตรฐานการผ่าตัดให้มีความแม่นยำสูง ลดความเสี่ยงความผิดพลาด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่การเลือกใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ก็ควรพิจารณาความเหมาะสมของโรค และผู้ป่วย


หากคุณกำลังมองหาทางเลือกในการใส่ข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และต้องการข้อมูล เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อและกระดูกสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับหุ่นยนต์ผ่าตัด


ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม มีความเสี่ยงหรือไม่ อันตรายหรือเปล่า?


แม้ว่าหุ่นยนต์ผ่าตัดจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ หรือปัญหาทางเทคนิคของระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้ด้วยการเลือกทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างถูกต้อง


หลังผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด พักฟื้นกี่วัน?


หลังผ่าตัดเข่าเสื่อม ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเข่าโดยใช้อุปกรณ์พยุงตัวภายใน 1 วัน ส่วนใหญ่จะเริ่มเดินช่วยเหลือตัวเองเข้าห้องน้ำได้ตั้งแต่แรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนสามารถ กลับมาใช้งานข้อเข่าได้ดีขึ้นมากภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายก่อนผ่าตัดด้วยเช่นกันโดยทั่วไปการพักฟื้นหลังผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มักสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัด แบบปกติ เนื่องจากความแม่นยำที่สูงขึ้นมาก


References


Yang, H.Y., & Seon, J.K. (2023). The landscape of surgical robotics in orthopedics surgery. Biomedical engineering letters, 13(4), 537–542. https://doi.org/10.1007/s13534-023-00321-8


Robotic Knee Replacement Surgery. (n.d.). pennmedicine. https://www.pennmedicine.org/for-patients-and-visitors/find-a-program-or-service/orthopaedics/knee-pain/knee-surgery/knee-replacement-surgery/robotic-knee-replacements


Cleveland Clinic. (2024, April 30). Robotic Surgery. Cleveland Clinic. https://www.uclahealth.org/medical-services/robotic-surgery/what-robotic-surgery


Mayo Clinic Staff. (2024, April 13). Robotic surgery. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/robotic-surgery/about/pac-20394974


UCLA Health. (2024). What is Robotic Surgery?. UCLA Health. https://www.uclahealth.org/medical-services/robotic-surgery/what-robotic-surgery


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. พฤกษ์  ไชยกิจ

นพ. พฤกษ์ ไชยกิจ

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital