บทความสุขภาพ

Knowledge

หลับตาย…สายใจของแม่

กุมารเวช: หลับตาย…สายใจของแม่


หลับตาย…สายใจของแม่


โดย คณะแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า


ชื่อเรื่องฟังแล้วใจหาย มีด้วยหรือที่ทารกเข้านอนแล้วก็หลับไม่ตื่น เคยได้ยินแต่ผู้ใหญ่อายุมาก ชราภาพแล้วปลิดจากขั้วเหมือนใบไม้แห้งกรอบ และคนอีสานที่ไปขายแรงงานยังถิ่นไกล กินแต่ข้าวเหนียวจิ้มแจ่วแล้วไหลตาย


แต่เชื่อหรือไม่ว่าจากสถิติของทารกที่หลับตายพบว่าทารกมีอายุระหว่าง 1 เดือน ถึง 1 ปี โดยทารกจำนวน 95% มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ส่วนใหญ่มีอุบัติการสูงสุดเมื่อทารกอยู่ระหว่าง 2 เดือน ถึง 4 เดือน


ลองนึกภาพเด็กทารกอายุ 3 เดือน กำลังน่ารักน่าชัง แม่เห่กล่อมจนหลับพริ้มอยู่ข้างกาย ตื่นเช้าขึ้นมาตัวเขียวและเย็นเฉียบ แม่เขย่าปลุกเท่าไรก็ไม่ตอบสนองเสียงหวีดร้องของแม่ที่หัวใจแตกสลายจะดังแค่ไหนคงวาดภาพออก


ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา “หลับตาย” (Sudden Infant Death Syndrome:SIDS) เป็นสาเหตุของการตายในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีเป็นอันดับที่ 1 การตายกระทันหันแบบนี้พ่อแม่ยอมรับไม่ได้เลย พาไปโรงพยาบาลให้หมอช่วย


ในประเทศไทยเราไม่ได้พบบ่อยนักคงเป็นเพราะเมื่อทารกหลับตาย พ่อแม่ไม่พามาโรงพยาบาล เพราะเห็นว่าหมอคงช่วยให้ฟื้นไม่ได้ เราเป็นชาวพุทธจะรับเรื่องการตายได้เร็ว เพราะ “แล้วแต่บุญกรรมหรือทำบุญมาเท่านี้”


คุณยายของข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณยายแต่งงานกับคุณตาได้ไม่นาน ก็มีลูกคนแรกมาเชยชมเป็นหญิงผิวขาวเนียน ตาโต ผมดำขลับ เหมือนตุ๊กตา คุณยายตั้งชื่อให้ว่า หนูริกิ


ริกิอ้วนจ้ำม่ำ กินเก่ง หัวเราะเก่ง เพื่อนบ้านขอบขออุ้มเพราะน่ารักเหลือหลาย คุณยายจำได้ว่าริกิโตจนเริ่มคว่ำได้แล้ว


ก่อนที่จะเกิดเรื่องขึ้น มีชายแปลกหน้าเดินเข้ามาในบ้านขณะที่คุณยายกำลังอุ้มริกิเดินอยู่หน้าบ้านชายแปลกหน้าถามทางไปบ้านเพื่อนแถวนั้น คุณยายก็ชี้ทางให้ก่อนจะออกจากบ้านเขาออกปากขออุ้มหนูริกิ คุณยายใจดีก็ให้อุ้ม เขาอุ้มเชยชมอยู่ครู่ใหญ่ ก็ส่งคืนให้แล้วพูดว่า “น่ารักเหมือนลูกเทวดา ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเด็กน่ารักอย่างนี้บนพื้นดิน”


คุณยายรู้สึกใจหายวาบ ตัวเย็นรับริกิมาโอบกอดไว้อย่างกลัวจะหลุดหายเขาหัวเราะหึๆ แล้วก็เดินจากไป


คืนนั้นคุณยายกลุ่มริกิจนหลับคาเต้านมแล้วก็วางไว้ข้างตัวบนที่นอน รุ่งเช้าริกิตัวเขียว เย็นเฉียบ ไม่มีอาการใดที่แสดงให้เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ คุณยายหัวใจแตกสลาย เป็นลมสลบแล้วสลบอีก


เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง คุณยายบอกว่าเทวดาคงจะมารับกลับ และมาบอกให้รู้ว่าหนูริกิคือเทวดาหนีมาเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อคิดอย่างนี้คุณยายก็รู้สึกดีขึ้น มีลูกต่อมาเป็นแถวถึง 11 คน


สมัยนั้นข้าพเจ้ายังเรียนชั้นมัธยมตอนต้น คิดว่าตัวเองเชื่อคุณยายเรื่องหนูริกิหนีมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเป็นหมอเด็ก วินิจฉัยโรคของป้าริกิได้ว่าคงเป็นเหยื่อคนหนึ่งของโรคหลับตายหรือ SIDS


ขณะเรียนแพทย์ไม่มีใครสอนเรื่องนี้กันเท่าใดนัก เพราะไม่พบ “หลับตาย” ในเมืองไทยกันบ่อย เมื่อข้าพเจ้าไปทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกเด็กที่สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉิน รถพยาบาลพาแม่ลูกคู่หนึ่งเข้ามา แม่กอดห่อผ้าแนบอก ปากร้องหวีดและโวยวาย น้ำตานองหน้า ผมเป็นกระเชิง ไม่มีสติสตังติดตัวอยู่เลย คุณพยาบาลเข้าไปแกะห่อผ้าอยู่นาน อธิบายจนสำเร็จยอมส่งห่อผ้าให้เราจากนั้นคุณพยาบาลก็พาเธอออกไปคอยนอกห้องปฐมพยาบาลซึ่งเธอยังคงหวีดร้องไม่ยอมหยุด แถมด้วยการตีอกชกหัวตัวเอง


ในห่อผ้านั้นเป็นเด็กทารกอายุราว 3 เดือน อ้วนจ้ำม่ำ แต่ตัวเขียวคล้ำ และเย็นเฉียบ เราพยายามปฏิบัติการช่วยชีวิต แต่ไร้ผล


เพียงครู่เดียวญาติพี่น้องของแม่เด็กก็มากันเต็มไปหมดนับได้เกินห้าสิบคน คุณพยาบาลบอกว่าเป็นพวกยิปซี พวกนี้อยู่เป็นกลุ่มก้อนรักกันเหมือนพี่น้องรับผิดชอบต่อคนในกลุ่มดีมาก


เมื่อสามีของแม่เด็กเข้ามา คำแรกที่เขาถามข้าพเจ้าก็คือ “เด็กตายแล้วใช่ไหม”


ข้าพเจ้าโกรธมาก นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาโทษกัน นี่เป็นเวลาที่ต้องปลอบโยนเห็นใจกัน ข้าพเข้าอธิบายให้เขาฟังว่าไม่ใช่การนอนทับตายแต่เป็นการหลับตายที่ยังไม่มีใครรู้สาเหตุ


ในวงการแพทย์รู้สาเหตุของการหลับตายของเด็กแต่เพียงว่าเด็กที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการหลับตาย ได้แก่ เด็กคนนั้นเคยมีพี่หลับตายมาก่อน, เป็นเด็กผู้ชายกินนมขวดเพิ่มผ่านการเจ็บไข้ได้ป่วยมาหยกๆ , มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน หรือนอนคว่ำบนที่นอนซึ่งนุ่มนิ่ม


ความจริงอัตราเสี่ยงพบได้ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์แล้ว โดยแม่ที่สูบบุหรี่ติดยาเสพติดลูกก็มีอัตราเสี่ยงต่อการหลับตายสูงเด็กที่คลอดน้ำหนักตัวเบากว่าสองกิโลครึ่ง หรือเด็กคลอดก่อนกำหนดพวกนี้อัตราเสี่ยงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว


จากการผ่าศพเด็กที่หลับตาย จะไม่พบคำอธิบายสาเหตุการตายที่พิสูจน์ได้ว่ามีพยาธิสภาพ


สมัยก่อนนี้ในอเมริกานิยมให้เด็กทารกนอนคว่ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเด็กที่นอนคว่ำมีอุบัติการหลับตายสูงกว่าเด็กนอนหงาย


จึงมีการรณรงค์ให้พ่อแม่รุ่นใหม่จับเด็กนอนหงาย โดยสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics : AAP) ให้คำแนะนำแก่สังคมทั่วไปให้พร้อมใจกันจับเด็กนอนหงายพบว่าอุบัติการของการหลับตายลดลงร้อยละ 32


คนไทยมีความเชื่อว่านอนคว่ำเด็กจะหัวทุยสวยงามตามอย่างเด็กฝรั่งจึงมีการนอนคว่ำมากขึ้นทุกวัน


ไม่มีใครรู้ว่าเพราะคนไทยนอนหงายเราจึงไม่ค่อยหลับตายหรือว่ามีเด็กหลับตายบ้าง แต่พ่อแม่ไม่พามาโรงพยาบาล


แต่ถ้าเรานิยมนอนคว่ำเลียนแบบฝรั่งที่เขาเลิกกันแล้ว ใครจะรู้ว่าเราอาจจะมีเด็กหลับตายเพิ่มจำนวนมากขึ้นเหมือนครั้งหนึ่งในอเมริกาก็ได้

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital