บทความสุขภาพ

Knowledge

นิ้วล็อก รักษาได้ คลายไม่ยาก

นพ. อรรถกร กาญจนพิบูลวงศ์

ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมไปถึงการนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์และใช้นิ้วมือเป็นเวลานาน ๆ ด้วยท่าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคนิ้วล็อก ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน โรคนิ้วล็อกอาจเป็นโรคที่ดูไม่รุนแรง แต่ความทุกข์ทรมานจากโรคนี้สำหรับผู้ป่วยอาจไม่ได้น้อยตาม เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งที่มนุษย์เราจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตในทุกวัน ดังนั้นอาการนิ้วล็อกจึงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานมือรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ หากมีอาการนิ้วไม่สามารถยืด-งอได้ตามปกติ หรือหากสงสัยว่ามีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับการรักษานิ้วล็อกนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งแพทย์จะพิจารณาการดูแลรักษาเป็นราย ๆ ไป


นิ้วล็อกคืออะไร?


นิ้วล็อก (trigger finger) เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็น และปลอกหุ้มเส้นเอ็น (tenosynovitis) ที่ใช้ในการงอและเหยียดข้อนิ้วมือ โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถงอหรือเหยียดนิ้วมือได้ปกติ อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว โรคนิ้วล็อกพบได้บ่อยเนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่ใช้ในการทำงาน และกิจกรรมต่าง ๆ หากนิ้วขยับไม่ได้ นิ้วงอและมีอาการกระตุกเมื่อขยับนิ้ว เหยียดนิ้วขึ้นตรง และเกิดอาการปวดร้าว อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรค “นิ้วล็อก”


สาเหตุของนิ้วล็อก


สาเหตุของโรคนิ้วล็อกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สัมพันธ์กับการใช้งาน หรือออกแรงงอนิ้วซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น โดยในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีเพียงอาการปวดหรือเจ็บบริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ หากการอักเสบยังมีต่อเนื่อง ปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะเริ่มหนาตัวมากขึ้น ทำให้ช่องทางการเคลื่อนตัวของเส้นเอ็นตีบแคบลง จึงเกิดอาการฝืด สะดุดหรือล็อกของนิ้วมือขณะใช้งานงอเหยียดนิ้วในระยะต่อมา ในคนทั่วไป พบได้ประมาณ 2-3% และสูงขึ้นถึง 5-20% ในกลุ่มประชากรที่มีโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน หรือกลุ่มโรคข้ออักเสบต่าง ๆ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป


อาการของนิ้วล็อก


อาการที่พบโดยทั่วไป เริ่มจากปวดบริเวณโคนนิ้วมือ นิ้วมือเคลื่อนไหวติด สะดุด งอหรือเหยียดเองไม่ได้ ปวดหรือตึงเมื่อมีการงอนิ้ว หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดอาการนิ้วยึด เหยียดไม่ออกจนเกิดพังผืดรอบข้อต่อ จนทำให้นิ้วงอแข็ง ไม่สามารถเหยียดตรงได้ โดยอาการแสดงของโรคนิ้วล็อก แบ่งตามระดับความรุนแรงได้ 4 ระยะดังนี้


ระยะที่ 1

อาการแสดง: เจ็บโคนนิ้วด้านฝ่ามือ มีอาการปวดเมื่อกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า


ระยะที่ 2

อาการแสดง: เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก แต่ยังเหยียดนิ้วออกเองได้


ระยะที่ 3

อาการแสดง: เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก เหยียดนิ้วออกเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยจับออก


ระยะที่ 4

อาการแสดง: เจ็บโคนนิ้ว งอนิ้วมีอาการล็อก มีข้อนิ้วยึดเหยียดได้ไม่สุด


การรักษานิ้วล็อก


การรักษาโรคนิ้วล็อกมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค


การรักษาแบบไม่ผ่าตัด


  • งดกิจรรมบางอย่าง พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกำ งอ และเหยียดนิ้วมือซ้ำ ๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดตรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้
  • รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น
  • ฉีดยาสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นเวลานาน หากรักษาตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ (steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น

การรักษาแบบผ่าตัด


วิธีการผ่าตัดนิ้วล็อกมีด้วยกัน 2 วิธี คือ


  • การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านผิวหนัง (percutaneous trigger finger release) เป็นการผ่าตัดที่ผิวหนัง โดยแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร สามารถทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัด ทำได้ที่ห้องหัตถการในแผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องอดอาหาร และไม่ต้องหยุดยาใดก่อนทำหัตถการ แม้ในผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำก็สามารถรับการผ่าตัดได้เลย หลังการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถใช้งานนิ้วมือข้างที่ผ่าตัดได้ทันที แต่ควรเป็นการใช้งานแบบเบา ๆ แผลสามารถสัมผัสน้ำได้หลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง และแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์
  • การผ่าตัดแบบเปิด (open skin trigger finger release) เป็นเทคนิคที่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ใช้กันโดยทั่วไปเพราะสามารถมองเห็นตำแหน่งได้ชัดเจนกว่าแบบเจาะรูผ่านผิวหนัง สามารถทำภายใต้การฉีดยาชา โดยแหวกเนื้อเยื่อรอบ ๆ เพื่อให้เห็นเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็น แล้วแพทย์จะทำการกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก ทดสอบการเคลื่อนไหวของนิ้วแล้วทำการเย็บปิดแผล

การดูแลหลังการรักษานิ้วล็อก


  • ไม่ว่าจะได้รับการผ่าตัดรักษาแบบเจาะหรือแบบเปิดแผล สามารถให้ขยับนิ้วงอ เหยียด หรือใช้งานเบา ๆ ในชีวิตประจำวันได้ทันที โดยแนะนำให้เป็นการใช้งานเบา ๆ ก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ (การไม่ใช้งานหรือไม่ยอมขยับนิ้วหลังผ่าตัด เสี่ยงต่อการยึดติดกันของเอ็นและข้อ รวมถึงทำให้ผลลัพธ์การรักษาไม่ดีอีกด้วย แต่ในทางกลับกันการใช้งานมากเกินไปอาจทำให้แผลผ่าตัดอักเสบปวดบวมมากขึ้นได้เช่นกัน)
  • ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากแผลเปียกน้ำ ควรทำแผลทันที
  • กรณีได้รับการผ่าตัดแบบเปิดแผล ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตัดไหม โดยทั่วไปจะประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด
  • รับประทานยาแก้ปวดได้หากมีอาการปวด แล้วเมื่อหายปวดแล้วสามารถหยุดรับประทานทานยาแก้ปวดได้
  • หากแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะ ต้องรับประทานยาให้หมดตามแพทย์สั่ง

หากมีอาการต่อไปนี้ ให้มาพบแพทย์ก่อนนัดได้ทันที


  • แผลมีเลือดซึมออกมามากผิดปกติ
  • เจ็บแผลมากขึ้นจากที่อาการเจ็บเริ่มลดลงแล้ว
  • แผลบวมแดงมากขึ้น มีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากแผล
  • มีไข้

การป้องกันความเสี่ยงนิ้วล็อก


  • หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนักโดยใช้นิ้วมือ ให้ใช้วิธีอุ้มหรือประคอง ให้น้ำหนักตกที่บริเวณฝ่ามือหหรือแขนเป็นหลัก
  • การทำงานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง ควรพักการใช้มือและยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นระยะ
  • หลีกเลี่ยงการบิดผ้าซ้ำ ๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงบริเวณโคนนิ้วมาก
  • หากมีอาการปวดตึงมือจากการใช้งานมากเกินไป ให้แช่มือในน้ำอุ่น กำ-แบ ในน้ำเบา ๆ

สรุป


โรค “นิ้วล็อก” แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่นิ้วมือเป็นก็อวัยวะที่สำคัญหนึ่งในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ แต่หากนิ้วเกิดมีอาการปวดร้าว สะดุด ติดขัดในขณะใช้งานย่อมมีผลกระทบต่อการทำงานในชีวิตประจำวันอย่างมากได้ การใช้งานนิ้วมืออย่างพอเหมาะ มีการบริหารมือทั้งก่อนและหลังใช้งาน มีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค รวมถึงลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นมากจนต้องรับการผ่าตัด ปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้การผ่าตัดปลอดภัย ใช้เวลาไม่นาน ฟื้นตัวกลับมาใช้งานได้เร็ว และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)



เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. อรรถกร กาญจนพิบูลวงศ์

นพ. อรรถกร กาญจนพิบูลวงศ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital