บทความสุขภาพ

Knowledge

หัวไหล่ติด ยกแขนไม่ขึ้น แก้ไขได้ ไม่ใช่เรื่องยาก

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

หัวไหล่ติด หรือไหล่แข็ง (Frozen Shoulder) เป็นอาการที่หัวไหล่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวและและรู้สึกปวดเมื่อมีการใช้ข้อหัวไหล่ อาการนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวหัวไหล่ไม่ว่าจะในทิศทางไหนก็ตาม เช่น ยกแขนไปข้างหน้า ด้านข้าง หรือข้างหลัง ทำให้กิจวัตรประจำวัน เช่น การแต่งตัว รับประทานอาหาร หรือแม้แต่อาบน้ำ ก็กลายเป็นเรื่องยาก อาการหัวไหล่ติด นอกจากผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวด ไม่สบายตัว ยังส่งถึงการใช้ชิวิตประจำวันรวมไปถึงการทำงานด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการนี้อาจยืดเยื้อและก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาวตามมาได้



หัวไหล่ติด อาการเป็นอย่างไร?


หัวไหล่ติด หรือข้อไหล่ติดเป็นอาการที่ไม่สามารถยกแขนได้เต็มที่ หากพยายามยกแขนขึ้นสูงจะรู้สึกเจ็บ โดยอาการนี้เกิดขึ้นในทุกทิศทางของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไปข้างหน้า ด้านข้าง หรือข้างหลัง ทำให้รบกวนการชีวิตประจำวันและการทำงาน อาการของหัวไหล่ติดสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่


  • ระยะปวด: ในระยะนี้จะมีอาการปวดมาก แม้เพียงยกไหล่ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาการนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-9 เดือน
  • ระยะข้อไหล่ติด: เป็นระยะที่พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะลดลงอย่างมาก จะรู้สึกปวดและตึงเมื่อขยับไหล่ ทำให้เกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การหยิบของ การรับประทานอาหาร อาบน้ำ และใส่เสื้อผ้า ระยะนี้อาจนานตั้งแต่ 2 เดือนถึง 1 ปีครึ่ง
  • ระยะฟื้นคืนตัว: หลังจากผ่านระยะข้อไหล่ติด ร่างกายจะเข้าสู่ระยะฟื้นคืนตัว โดยอาการจะดีขึ้นได้เอง ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปี


สาเหตุของหัวไหล่ติด


สาเหตุของหัวไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวไหล่ติดนี้ เช่น


  • การบาดเจ็บที่หัวไหล่หรือการผ่าตัด
  • การไม่ใช้หัวไหล่เป็นเวลานาน
  • โรคข้อเสื่อม
  • การอักเสบของเนื้อเยื่อ
  • โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์


ใครบ้างที่เสี่ยงหัวไหล่ติด


ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวไหล่ติด ได้แก่


  • ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการนี้มากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีประวัติการบาดเจ็บหรือผ่าตัดที่หัวไหล่
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์


การรักษาอาการหัวไหล่ติด


การรักษาอาการหัวไหล่ติดสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งแนวทางการรักษาได้แก่


  • การรับประทานยา: ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบสามารถช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้
  • การฉีดยาลดการอักเสบ: การฉีดยากลุ่มต้านการอักเสบหรือสเตียรอยด์เข้าไปในข้อไหล่ เพื่อลดอาการอักเสบของเยื่อบุข้อไหล่ เมื่อการอักเสบลดลง จะช่วยให้การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูหัวไหล่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การทำกายภาพบำบัด: การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของหัวไหล่
  • การผ่าตัด: ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไข ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้หัวไหล่ติดแบบส่องกล้อง (Arthroscopic Shoulder Surgery) เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะทำการแก้ไขปัญหาข้อไหล่ติดโดยการส่องกล้องแล้วใช้เครื่องมือขนาดเล็กไปผ่าตัดแก้ไข ทำให้ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดเล็ก ฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้เร็วขึ้น


6 ท่าบริหารแก้อาการหัวไหล่ติด


หากเริ่มรักษาอาการหัวไหล่ติดแต่เนิ่น ๆ อาการจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ทำกายภาพบำบัดหรือปรึกษาแพทย์ อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนขยับไหล่ได้น้อยลงและมีอาการปวดร่วมด้วย


การบริหารเพื่อแก้อาการหัวไหล่ติด เป็นการยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ซึ่งสามารถทำได้ที่บ้านโดยค่อย ๆ ยืดทีละน้อย และอาจต้องยอมให้มีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย โดยควรทำทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น 5 ท่าบริหารนี้จะช่วยลดอาการหัวไหล่ติดที่สามารถทำได้เองที่บ้าน


  1. ท่ายืดแขนเข้าผนัง: ยืนหันหน้าเข้าผนัง ยกแขนที่มีอาการเจ็บไปข้างหน้า เหยียดข้อศอกให้ตรง (โดยอาจใช้มือข้างที่ไม่ปวดช่วยจับ) แล้วเดินเข้าหาผนังจนปลายนิ้วแตะฝาผนัง พยายามเลื่อนปลายนิ้วให้สูงขึ้นจนรู้สึกตึงและเจ็บเล็กน้อย จากนั้นก้าวถอยหลังออกมา แล้วเดินหน้าเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  2. ท่ายกแขนเหนือศีรษะ: นั่งลงบนเก้าอี้ ประสานมือทั้งสองข้างแล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ เหยียดข้อศอกให้ตรง จากนั้นเอาแขนทั้งสองข้างแนบหู แล้วงอข้อศอกให้มือที่ประสานกันวางที่ท้ายทอย แบะศอกออกให้เต็มที่ นับ 1 ถึง 5 แล้วเหยียดข้อศอกตรงมือประสานเหนือศีรษะ ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
  3. ท่าบิดแขน: ยืนหรือนั่ง เหยียดแขนข้างที่เจ็บตรงอยู่ระดับไหล่ งอข้อศอกให้มาแตะไหล่ข้างที่ดีและใช้มือข้างที่ดีดึงข้อศอกข้างที่เจ็บไปข้างหลัง จนมือข้างที่เจ็บแตะด้านหลังของหัวไหล่ข้างที่ดี ท่านี้จะคล้ายกับการล็อกคอตัวเอง ให้ทำเท่าที่ทำได้
  4. ท่ายืดอกเข้ามุมห้อง: ยืนหันหน้าเข้ามุมห้อง กางแขนระดับไหล่ ศอกงอ 90 องศา วางฝ่ามือบนผนังทั้งสองข้าง ก้าวขาข้างที่ไหล่เจ็บไปข้างหน้า แล้วแอ่นอกเข้าหามุมห้อง จนหัวไหล่ข้างที่เจ็บยืดจนตึงอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย นับ 1 ถึง 5 แล้วถอยกลับ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  5. ท่ายกไหล่: นั่งหรือยืน ห้อยแขนข้างลำตัว เหยียดข้อศอกตรง ยักไหล่ขึ้นทั้งสองข้าง แล้วแบะไหล่ไปข้างหลังและปล่อยลง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
  6. ท่าดึงผ้า: จับปลายผ้าทั้ง2 ข้าง โดยแขนที่ปวดอยู่ล่าง แขนปกติอยู่ด้านบน ค่อยๆใช้แขนปกติดึงขึ้นช้าๆ ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ ประมาณ 10 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น

หมั่นทำซ้ำบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการหัวไหล่ติด เพื่อบรรเทาให้อาการไหล่ติดให้ดีขึ้น



ทำอย่างไร? เพื่อป้องกันหัวไหล่ติด


การป้องกันหัวไหล่ติดสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและรักษาสุขภาพของข้อต่อให้แข็งแรง ท่าบริหารและวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหัวไหล่ติดมีดังนี้


  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเลือกการออกกำลังกายที่ใช้หัวไหล่ เช่น การว่ายน้ำ การเล่นโยคะ หรือการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของหัวไหล่
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าที่ทำให้หัวไหล่เครียดหรือตึง เช่น การนั่งทำงานนาน ๆ ควรเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ และทำท่ายืดกล้ามเนื้อระหว่างวัน
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย
  4. ปรึกษาแพทย์หากมีอาการเจ็บปวดที่หัวไหล่หรือรู้สึกว่าหัวไหล่เริ่มแข็งเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม

การปฏิบัติตัวเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการเกิดหัวไหล่ติดและรักษาสุขภาพของหัวไหล่ให้แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ


สรุป


หัวไหล่ติดเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากทำให้การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ถูกจำกัดและมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หากมีอาการหัวไหล่ติดดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม


นอกจากนี้ การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอและการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดหัวไหล่ติดยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ให้กลับมาเป็นปกติได้


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ณัฐวุฒิ  ไพสินสมบูรณ์

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital