บทความสุขภาพ

Knowledge

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต การพักฟื้นร่างกาย และภาวะแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายมาปลูกถ่ายเพิ่มให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดนำไตของผู้ป่วยออก เพื่อให้ไตใหม่ทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่เสียหาย อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตค่อนข้างสูงและหลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการปลูกถ่ายไตจึงเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งมีขั้นตอนการผ่าตัดที่ซับซ้อน ก่อนการผ่าตัดต้องมีการคัดเลือกไตที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในแต่ละราย โดยต้องมีการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต เมื่อได้ไตที่เหมาะสมศัลยแพทย์ก็จะนำไตใหม่นั้นไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย


ในช่วงระหว่างและหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายในโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่จนมั่นใจว่าสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ


อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไต


ด้วยความก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้การปลูกถ่ายไตมีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงและเป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีอัตราความสำเร็จค่อนข้างสูง โดยภาพรวมในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังการผ่าตัด การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายเล็กน้อย อย่างไรก็ตามถือว่าอัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตทั้งสองกรณีอยู่ในระดับที่สูงมาก ดังนี้


  • อัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต = 95 – 98%
  • อัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย = 85 – 90%

ไตที่นำมาปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง ?


ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มาจาก 2 กรณีดังนี้


  1. ไตที่บริจาคจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ได้แก่ญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยผู้บริจาคไตต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด
  2. ไตที่บริจาคจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย จัดสรรโดยสภากาชาดไทย

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต


ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มาจากการบริจาคของจากญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยหลังการบริจาคไตผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เนื่องจากมนุษย์เกิดมาพร้อมกับไต 2 ข้าง การบริจาคไตไป 1 ข้าง ผู้บริจาคสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การมีไตเพียงข้างเดียวก็เพียงพอที่จะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกนอกร่างกาย ตลอดจนยังคงสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ของไตได้เป็นอย่างดีและเพียงพอ


ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบันพบว่า การเหลือไตเพียงข้างเดียว ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตอื่น ๆ ตามมาภายหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต หรือถ้ามีก็น้อยมาก เช่น ภาวะความดันสูง หรือมีโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้อายุขัยของผู้บริจาคไตยังยืนยาวเท่ากับคนปกติ


ก่อนการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน


ก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด 1 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ


  • เพื่อให้แพทย์และทีมงานประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจก่อนการผ่าตัด
  • หากเกิดความไม่แน่ใจหรืออุปสรรคต่าง ๆ การผ่าตัดจะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาค
  • หากผู้บริจาคมีข้อสงสัยหรือคำถามค้างคาใจสามารถสอบถาม พูดคุยกับทีมงานได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการผ่าตัด และได้รับการพักผ่อนเต็มที่เพื่อการผ่าตัดในวันถัดไป

การผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิต


เทคนิคในการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาค มีการผ่าตัด 2 ประเภท คือ


1. ผ่าตัดแบบเปิดสีข้าง (open donor nephrectomy)


  • จะมีแผลยาวประมาณ 5 – 7 นิ้ว ที่บริเวณสีข้าง
  • การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบและใช้เวลาผ่าตัด 2 – 3 ชั่วโมง
  • หลังผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 7 วัน
  • จะมีการตัดไหมรอยแผลผ่าตัดในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด
  • หลังผ่าตัด ผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 4 – 6 สัปดาห์

2. ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (laparoscopic donor nephrectomy)


  • จะมีแผลยาวประมาณ 3 – 4 นิ้ว ที่บริเวณสะดือ เป็นการผ่าตัดส่องกล้องแล้วคีบไตออกมา การผ่าตัดแบบนี้แผลจะเล็กกว่า เสียเลือดน้อยกว่า และเจ็บน้อยกว่า
  • การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบและใช้เวลาผ่าตัด 1 – 2 ชั่วโมง
  • หลังผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วัน
  • หลังผ่าตัด ผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 2 – 4 สัปดาห์

สุขภาพและการดำเนินชีวิตหลังการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาค


หลังการผ่าตัดนำไตออกแล้ว ผู้บริจาคจำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหลังการผ่าตัด ตั้งแต่ช่วงเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล ช่วงการพักฟื้นที่บ้านหลังออกจากโรงพยาบาล และการดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยอาจต้องมีการตรวจสุขภาพไต และเช็คสุขภาพทั่วไปอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปีนี้เป็นคำแนะนำทั่วไปที่แพทย์มักจะแนะนำแม้จะเป็นผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต เพราะนอกจากจะสามารถบอกถึงสภาวะสุขภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการรุกลามเป็นระยะรุนแรงของโรคได้


การพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังบริจาคไต


  • หลังผ่าตัดนำไตออก ผู้บริจาคไตจะอยู่ในห้องพักฟื้นจนรู้สึกตัวดีและปลอดภัย จึงจะย้ายไปห้องผู้ป่วยใน โดยจะมีสายน้ำเกลือที่แขนและมีสายสวนปัสสาวะ
  • หากมีอาการปวดแผลผ่าตัด จะได้รับยาฉีดระงับปวดตามคำสั่งแพทย์
  • เริ่มจิบน้ำได้ในวันแรกหลังผ่าตัด จากนั้นจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
  • แนะนำให้ลุกนั่ง ยืน หายใจลึก ๆ และเดินโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดและทางเดินหายใจ เพราะยิ่งเริ่มการเดินได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • โดยทั่วไปการผ่าตัดบริจาคไตมีภาวะแทรกซ้อนน้อย โดยผู้บริจาคมักจะออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 7 วัน และตัดไหมรอยแผลผ่าตัดได้ในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด
  • หลังการผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น แผลติดเชื้อ เสียเลือด ภาวะปอดแฟบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ท้องอืด ลำไส้ไม่ทำงาน ปวดแผลรุนแรง เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถรักษาได้ แต่ทำให้ต้องพักในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
  • อัตราการเสียชีวิตหลังการบริจาคไตทั่วโลกมีน้อยมากประมาณ 0.03% (3 ราย จาก 10,000 ราย)

การพักฟื้นที่บ้านหลังบริจาคไต


  • หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะนัดมาดูแผลและตรวจดูการทำงานของไตใน 1 – 2 สัปดาห์
  • ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถทำงานบ้านและออกกำลังกายเบา ๆ ได้ และสามารถกลับไปทำงานได้ปกติ ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
  • งดยกของที่มีน้ำหนักเกิน 6 กิโลกรัม และงดการเกร็งหน้าท้อง เพื่อไม่ให้แผลผ่าตัดบอบช้ำ เป็นเวลา 4 สัปดาห์
  • สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติภายใน 6 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
  • การมีเพศสัมพันธ์สามารถมีได้ทุกเวลาที่สภาพร่างกายพร้อม

การตรวจการทำงานของไตหลังจากบริจาคไต


  • ในช่วง 1 เดือนหลังการผ่าตัด ผู้บริจาคไตควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจการทำงานของไตและสุขภาพร่างกายทั่วไป หลังจากนั้นควรพบแพทย์เป็นประจำทุก 12 เดือนเป็นอย่างน้อย
  • ทีมแพทย์ของสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต รพ.พระรามเก้ายินดีให้คำปรึกษาและตอบคำถามทุกอย่างที่ท่านสงสัย เพราะเราตระหนักถึงคุณค่าและนับถือความมีจิตใจเมตตาของผู้บริจาตไตช่วยชีวิตผู้อื่นตลอดไป

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่ได้จากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย


  • หลังจากการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย ไตนั้นจะถูกเก็บรักษาในถุงพสาสติกปราศจากเชื้อ โดยจะเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพื่อจัดส่งมายังห้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยเร็วที่สุด พร้อมรายละเอียดข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ เพศ อายุของผู้บริจาค สาเหตุการตาย ไตข้างซ้ายหรือขวา สภาพทางกายวิภาค รอยโรคหรือพยาธิสภาพของไต จำนวนหลอดเลือด และเวลาที่เริ่มผูกหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นเวลาเริ่มต้นของการขาดเลือดของไต ที่เรียกว่า cold ischemic time
  • ไตที่บริจาคจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้ถึง 72 ชั่วโมงนับจาก cold ischemic time แต่ในทางปฏิบัติการผ่าตัดปลูกถ่ายจะทำอย่างเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ไตที่ทำการปลูกถ่ายจะสามารถกลับมาทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพดีกว่า
  • เมื่อไตที่บริจาคมาถึงห้องผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทีมแพทย์จะมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของไต และทำการปลูกถ่ายให้กับผู้รับบริจาคอวัยวะ (recipient)

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบทั้งก่อนวันผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ดี และความสำเร็จของการรักษา


การเข้าพักในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อม ดังนี้


  • ซักประวัติและประเมินสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
  • ซักประวัติและการดูแลผู้ป่วยโดยทีมพยาบาล นักโภชนาการ และเภสัชกร
  • ตรวจตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
  • เอกซเรย์ทรวงอก
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • เตรียมความสะอาดของร่างกาย โดยอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อชนิดพิเศษ
  • โกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือด
  • อาจจะต้องฟอกเลือด ขึ้นอยู่กับระดับของเสียในเลือดและน้ำหนักตัว และประเมินการฟอกเลือดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
  • รับประทานยากดภูมิคุ้มกันชุดแรกหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


  • วิสัญญีแพทย์จะทำการดมยาสลบแก่ผู้รับบริจาคอวัยวะ (recipient) เพื่อให้หลับขณะได้รับการผ่าตัด
  • ศัลยแพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องท้องบริเวณท้องน้อยเหนือขาหนีบด้านใดด้านหนึ่ง
  • ศัลยแพทย์จะนำไตบริจาคมาใส่ลงในบริเวณช่องท้องของผู้รับบริจาค โดยต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดแดงและดำของผู้ป่วย จากนั้นก็จะต่อท่อไตเข้ากับกระเพาะปัสสาวะของผู้รับบริจาค
  • การผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่จำเป็นต้องนำไตเดิมของผู้ป่วยออกไป เพียงแต่เป็นการผ่าตัดนำไตใหม่อีกข้างใส่ให้กับผู้ป่วย
  • ศัลยแพทย์จะใส่สายระบายของเหลวออกจากช่องท้อง สำหรับกรณีที่อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองส่วนเกินจะได้ไม่ตกค้างอยู่ภายในช่องท้องของผู้รับบริจาคไต
  • โดยทั่วไปการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบทั้งก่อนวันผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ดี และความสำเร็จของการรักษา


การเข้าพักในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


  • หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่หอผู้ป่วยวิกฤต ประมาณ 5 – 7 วัน เมื่อผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น จะย้ายไปรับการดูแลต่อที่หอผู้ป่วยใน
  • เมื่อรู้สึกตัวหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะพบว่ามีสายต่าง ๆ บนร่างกาย โดยที่มีความจำเป็นต้องต่อสายเหล่านี้ไว้ต่อเนื่องประมาณ 2 – 3 วันหลังการผ่าตัด โดยสายเหล่านี้มีตำแหน่งที่อยู่และหน้าที่ ดังนี้

renal-transplant-operation-2.png
  • ระยะเวลาของการพักฟื้นหลังการผ่าตัดในแต่ละรายแตกต่างกัน จะมีการทดสอบหลายครั้งเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่และเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการปฏิเสธไตเกิดขึ้น
  • มีความเป็นไปได้ที่จำเป็นต้องฟอกเลือดหลังการผ่าตัด โดยอาจต้องทำในช่วงแรกและเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างรอให้ไตใหม่ทำงานปกติ เพราะไตใหม่ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของผู้รับบริจาคไตก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานอีกครั้ง

การตรวจการทำงานของไตใหม่


แพทย์ที่ดูแลจะตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ โดยการตรวจดังนี้


renal-transplant-operation-1.png

ภาวะปฏิเสธไต


ภาวะปฏิเสธไต เป็นความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนสำคัญของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพราะจะทำให้ไตใหม่เสียการทำงาน และอาจต้องผ่าตัดเอาไตใหม่ออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจต่าง ๆ ที่ประเมินการปฏิเสธไต และผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณของการปฏิเสธไต


ภาวะปฏิเสธไตคืออะไร


ภาวะปฏิเสธไต เป็นการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านไตใหม่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันทุกวัน โดยที่ภาวะปฏิเสธไตอาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ได้


โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่ตอบสนองและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ เซลล์มะเร็ง หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันนี้นอกจากจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังทำงานต่อต้านอวัยวะใหม่ที่มีการปลูกถ่ายเข้าไปด้วย โดยร่างกายจะตอบสนองต่อไตใหม่ที่ปลูกถ่ายเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมชนิดหนึ่ง และจะทำให้เกิดการปฏิเสธไตตามมา ทำให้แพทย์ผู้รักษาและทีมงานปลูกถ่ายไตจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปฏิเสธไต โดยการให้ยากดภูมิคุ้มกันและให้ความรู้เรื่องผลข้างเคียงของยา ในขณะเดียวกันก็ต้องคงภาวะสมดุลของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไว้ด้วย


หากผู้ป่วยมีอาการใดอาการหนึ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะปฏิเสธไตใหม่ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาหรือทีมงานปลูกถ่ายไตในทันที ได้แก่


  • มีไข้หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด
  • เหนื่อย อ่อนเพลียกว่าปกติ
  • บวมตามตัว เช่น หนังตา มือ หรือเท้า เป็นต้น
  • ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด หรือปวดเวลาขับถ่ายปัสสาวะ
  • ปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 1 ลิตรต่อวัน โดยที่ยังดื่มน้ำในปริมาณปกติ
  • ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มถึงส้ม หรือมีเลือดปน

หากได้รับการรักษาทันทีที่มีสัญญาณภาวะปฏิเสธไต หรือได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะมีโอกาสที่ไตใหม่จะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจจะสายเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่าเริ่มมีสัญญาณภาวะปฏิเสธไตหรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


ภาวะปฏิเสธไตมีกี่ประเภท


ภาวะปฏิเสธไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น ดังนี้


  1. Hyperacute rejection คือ การปฏิเสธไตทันที อย่างร้ายแรง ส่วนใหญ่มักจะเสียไตทันที เกิดขึ้นในชั่วโมงแรก ๆ หลังเปลี่ยนไต ต้องรีบเอาไตออกทันที
  2. Acute humoral rejection และ acute cellular rejection คือ การปฏิเสธไตแบบเฉียบพลัน อาจเกิดขึ้นได้ใน 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังจากปลูกถ่ายไต พบบ่อยใน 1 – 6 เดือนแรก และอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ตลอดอายุการทำงานของไตใหม่ที่ปลูกถ่าย บางรายอาจเกิดขึ้น 5 – 10 ปี หลังการเปลี่ยนไต
  3. Chronic allograft nephropathy คือ การปฏิเสธไตอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรือหลังการปลูกถ่ายไตเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือหลาย ๆ ปี โดยไตจะค่อย ๆ เสื่อมลงอย่างช้า ๆ

ผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิเสธไตจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์จะต้องเจาะชิ้นเนื้อไต (kidney biopsy) เพื่อนำเนื้อเยื่อไตมาตรวจดูว่าเป็นการปฏิเสธไตแบบใดและรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อให้ยารักษาการปฏิเสธไตได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว


ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


นอกจากภาวะปฏิเสธไตแล้ว หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้


  • การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ แผลผ่าตัด ช่องท้อง ตับ ลำไส้ สมอง หรือในกระแสเลือด เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เลือดไหลที่แผลหรือช่องท้อง หลอดเลือดตีบตัน หลอดเลือดคั่ง ท่อไตตีบตันหรือรั่ว เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนของการดมยาสลบ เช่น ภาวะปอดแฟบ ปอดอักเสบ หรือภาวะหายใจล้มเหลว เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นจังหวะ เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ติดเชื้อในกระเพาะหรือลำไส้ เป็นต้น
  • หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก
  • อาการกำเริบของโรคไตที่เคยเป็นในอดีต เช่น โรคไต IgA, โรคไตอักเสบที่มีโปรตีนรั่วชนิด focal segmental glomerulosclerosis (FSGS) เป็นต้น
  • การได้รับเชื้อหรือมีโรคซ่อนเร้นอื่น ๆ ที่อาจยังไม่สามารถวินิฉัยได้ชัดเจนได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ แต่บางกรณีก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตได้


การจัดการความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


  • ในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สะดวกสบายเป็นอย่างมาก จะรู้สึกปวดรอบ ๆ บริเวณแผลผ่าตัด โดยในวันแรก ๆ หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ
  • เมื่อผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ แพทย์จะให้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานแทนการให้ยาทางหลอดเลือดดำ อาการปวดจะค่อย ๆ บรรเทาลงเรื่อย ๆ
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดในลักษณะของการหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เนื่องมาจากจะยังมีการคาสายสวนปัสสาวะอยู่ เพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ ควรแจ้งให้พยาบาลทราบเมื่อเริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้นเพื่อให้ยาลดอาการหดเกร็ง

การออกกำลังกายในช่วง 7 วันหลังผ่าตัด


  • ควรฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ และฝึกการไอ ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด วิธีนี้จะช่วยปอดขยายตัวและขจัดเสมหะซึ่งจะสะสมอยู่ระหว่างการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
  • วันต่อ ๆ มา ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือให้ออกกำลังขา โดยเริ่มจากการลุกนั่งบนเก้าอี้ จากนั้นจะให้เดินในห้องและทางเดิน กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรงและฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต


ชีวิตของผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะเผชิญกับความหลากหลายทางอารมณ์เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนไตใหม่


ทีมแพทย์ที่ดูแลจะรับฟังและให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งที่กังวลใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อได้ระบายหรือพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือบุคคลที่ผู้ป่วยนับถือ เลื่อมใส และศรัทธา ที่อาจช่วยให้ได้ข้อคิดหรือประสบการณ์ที่จะช่วยให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้


ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด


หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะได้รับการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ดังนี้


  • การตรวจเลือด
  • การตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์
  • การชั่งน้ำหนัก
  • การวัดอุณหภูมิ
  • วัดชีพจร
  • วัดความดันเลือด
  • มีการแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร จากนักโภชนากร
  • มีการแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • มีการแนะนำเรื่องการพักผ่อนที่เหมาะสม

เหล่านี้ถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูและแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับจนสามารถเตรียมตัวออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ


สรุป


การผ่าตัดปลูกถ่ายไตถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งในส่วนของผู้บริจาคไต ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่รับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือการเตรียมไตที่ได้จากผู้ที่มีภาวะสมองตาย และในส่วนของการเตรียมตัวของผู้ที่รับบริจาคไต เพื่อให้ได้ผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคด้วย ซึ่งต้องมีกระบวนการต่าง ๆ หลายขั้นตอน เช่น การตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ จนได้ไตที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังแต่ละราย การผ่าตัดโดยทีมศัลยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย แล้วนำไตนั้นมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย หลังจากการผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัว และฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการปฏิเสธไต และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย และตรวจสอบการทำงานของไตใหม่จนมั่นใจว่าสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital